บาลีวันละคำ

นิรโทษกรรม (บาลีวันละคำ 489)

นิรโทษกรรม

อ่านว่า นิ-ระ-โทด-สะ-กํา

บาลีเป็น “นิทฺโทสกมฺม” อ่านว่า นิด-โท-สะ-กํา-มะ สันสกฤตเป็น “นิรฺโทษกรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤต จึงเป็น “นิรโทษกรรม

นิทฺโทสกมฺม” ประกอบด้วย นิ + โทส + กมฺม

นิ” เป็นคำอุปสรรค ใช้นําหน้าศัพท์อื่น มีความหมายว่า ไม่มี, ออก

โทส” มีความหมาย 2 นัย คือ

1. ความชั่ว, มลทิน, ความผิด, สภาพไม่ดี, ความบกพร่อง; ความเลวร้าย, ความเสื่อมทราม, ความเสียหาย

2. โทสะ, ความโกรธ, ความประสงค์ร้าย, เจตนาร้าย, ความชิงชัง, ความมุ่งร้าย, ความเกลียด (เป็น 1 ใน 3 ของกิเลสกองใหญ่ คือ โลภะ โทสะ โมหะ)

ในที่นี้ “โทส” มีความหมายตามนัยแรก

นิ + โทส (ซ้อน ทฺ) = นิทฺโทส แปลว่า ปราศจากโทษ, ไม่มีความผิด

กมฺมกรรม” มีความหมายหลายอย่าง (ดูที่คำว่า “กรรม”) ถ้าใช้ต่อท้ายคำนาม หมายถึง กรรมวิธี วิธีการ หรือกระบวนการเพื่อให้เกิดผลนั้นๆ เช่น สังฆกรรม (สัง-คะ-กำ) = กระบวนการทำกิจของสงฆ์

นิทฺโทสกมฺมนิรโทษกรรม” จึงแปลว่า กระบวนการทำให้พ้นผิด

พจน.42 บอกไว้ว่า –

นิรโทษกรรม : (คำที่ใช้ทางกฎหมาย) –

(๑)- ตามกฎหมายแพ่ง หมายถึง การกระทําที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ซึ่งกฎหมายบัญญัติว่า ไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เช่น การกระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย การกระทำตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย;

(๒)- ตามกฎหมายอาญา หมายถึง การลบล้างการกระทําความผิดอาญาที่บุคคลได้กระทํามาแล้ว โดยมีกฎหมายที่ออกภายหลังการกระทำผิดกำหนดให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิด และให้ผู้ที่ได้กระทําการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด”

นิรโทษกรรม :

กฎแห่งสังคม : ยังไม่ได้รับโทษก็ทำให้พ้นผิด

แต่กฎแห่งกรรมศักดิ์สิทธิ์ : จะพ้นผิดก็ต่อเมื่อได้รับผลกรรม

16-9-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย