บาลีวันละคำ

หิมพานต์ [1] (บาลีวันละคำ 715)

หิมพานต์ [1]

อ่านว่า หิม-มะ-พาน

บาลีเป็น “หิมวนฺตุ” อ่านว่า หิ-มะ-วัน-ตุ

ประกอบด้วย หิม + วนฺตุ

หิม” แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่เบียดเบียนด้วยความเย็น” (2) “สิ่งที่เป็นไปตามปกติ” คือถึงเวลามีหิมะ หิมะก็มีตามปกติ จึงเรียกว่า “สิ่งที่เป็นไปตามปกติ” (3) “สิ่งที่ตกบนแผ่นดินและภูเขา

หิม” ภาษาไทยใช้ทับศัพท์ว่า “หิมะ” พจน.54 บอกความหมายไว้ว่า –

หิม-, หิมะ : ละอองนํ้าในอากาศที่แปรสภาพเป็นของแข็งเพราะอุณหภูมิตํ่า ลักษณะฟูเป็นปุย ลอยลงมาจากท้องฟ้า; ความหนาว, ความเยือกเย็น; ฤดูหนาว”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “หิม” ว่า –

(1) cold, frosty (หนาว, มีน้ำค้างแข็ง)

(2) ice, snow (น้ำแข็ง, หิมะ)

วนฺตุ” เป็นปัจจัยสำหรับลงท้ายศัพท์ แปลว่า “มี-”

หิม + วนฺตุ = หิมวนฺตุ แปลว่า “มีหิมะ” (snowy)

คำนี้สันสกฤตเป็น “หิมวตฺ

หิมวนฺตุ” เป็นรูปศัพท์ที่ยังไม่ได้แจก เมื่อแจกด้วยวิภัตติที่หนึ่ง ได้รูปเป็น “หิมวนฺต” (หิ-มะ-วัน-ตะ) และ “หิมวา” (หิ-มะ-วา) อันเป็นรูปคำที่ใช้ดกดื่น

ในคัมภีร์ “หิมวนฺต” หมายถึง (1) ภูเขาหิมพานต์ หรือที่รู้จักกันในบัดนี้ว่า ภูเขาหิมาลัย (2) ป่าใหญ่ในบริเวณภูเขาหิมพานต์

ภาษาไทยเอาคำ หิมวนฺต หิมวา และ หิมวตฺ มาแผลงเป็นต่างๆ คือ –

หิมวันต์, หิมวา, หิมวาน, หิมวาต, หิมวาส, หิมเวศ, หิมพาน, หิมพานต์

คำเหล่านี้ในภาษาไทยใช้ในความหมายรวมๆ กันว่า ป่าทั่วไป, มีหิมะ, หนาว, ปกคลุมด้วยหิมะ, ที่อยู่อันหนาว, ชื่อหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัย, ชื่อป่าหนาวแถบเหนือของอินเดีย

คำที่คนไทยคุ้นมากที่สุด น่าจะเป็น “หิมพานต์” ในความหมายที่เข้าใจกันว่า เป็นป่าที่อยู่ไกลแสนไกล ถึงกับมีคำพูดว่า “นอกฟ้าป่าพิมพานต์” เป็นที่อยู่ของสัตว์แปลกประหลาดมหัศจรรย์นานาชนิด รวมทั้งฤๅษีชีไพร นักสิทธิวิทยาธรหลากเพศหลายพรรณ และเชื่อกันว่าเป็นป่าในวรรณคดี ไม่มีอยู่จริง

ในมหาเวสสันดรชาดกที่คนไทยนิยมฟัง มีกัณฑ์ชื่อ “หิมพานต์” เป็นกัณฑ์ที่ ๒ เมื่อประสมกับความเชื่อที่ว่าป่าหิมพานต์ไม่มีอยู่จริง คนส่วนมากก็จึงเห็นว่ามหาเวสสันดรชาดกเป็นเพียงวรรณคดี ไม่เคยมีบุคคลและเรื่องราวเช่นนั้นเกิดขึ้นจริงในโลกนี้

แม้ทุกวันนี้จะรับรู้กันทั่วโลกว่าภูเขาและป่าหิมพานต์มีอยู่จริง นักคิดก็ยังคงคิดต่อไปอีกว่า แม้สถานที่จะมีจริง แต่ชาดกต่างๆ ที่กล่าวถึงป่าหิมพานต์ก็เป็นแต่เพียงเรื่องแต่งที่อิงอาศัยภูมิประเทศจริงเท่านั้น

: ความจริงไม่จำเป็นจะต้องเชื่อ

: ความเชื่อก็ไม่จำเป็นจะต้องจริง

————-

(คุณวุฒิศักดิ์ จันทร์คง ถามว่า “น้ำแข็ง” ภาษาบาลีว่าอย่างไร

(คงเป็นเพราะอากาศร้อน จึงนึกถึงน้ำแข็ง)

พจน.สอ เสถบุตร ว่า นำแข็ง ภาษาอังกฤษว่า ice

พจน.อังกฤษ-บาลี แปล ice เป็นบาลีว่า “หิม

แต่เป็นที่รู้กันว่า หิมะไม่ใช่น้ำแข็งตามความหมายที่ถาม

คำว่า “หิม” ทำให้นึกถึงคำว่า “หิมพานต์

ในระหว่างที่ยังเป็นหนี้คุณวุฒิศักดิ์ จันทร์คง อยู่นี้ จึงขอเสนอคำนี้ขัดดอกไปพลางก่อน)

#บาลีวันละคำ (715)

2-5-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *