บาลีวันละคำ

นิรินธนพินาศ (บาลีวันละคำ 3,712)

นิรินธนพินาศ

รูปคำประหลาด แต่ความหมายล้ำเลิศ

ถ้าไม่ได้เรียนรู้คำบาลี คงมีคนอ่านว่า นิ-ริน-ทน-พิ-นาด

คำนี้ไม่ได้อ่านแบบนั้น 

แต่อ่านว่า นิ-ริน-ทะ-นะ-พิ-นาด

แยกศัพท์เป็น นิรินธน + พินาศ

(๑) “นิรินธน” 

เขียนแบบบาลีเป็น “นิรินฺธน” (-รินฺ- มีจุดใต้ นฺ) อ่านว่า นิ-ริน-ทะ-นะ รากศัพท์มาจาก นิร + อินฺธน 

(ก) “นิร” อ่านว่า นิ-ระ ตามที่ตาเห็นก็เป็น “นิร” แต่หลักภาษาบอกว่า คำนี้เดิมเป็น “นิ” เป็นศัพท์จำพวก “อุปสรรค” แปลว่า เข้า, ลง, ไม่มี, ออก เมื่อนำหน้าคำที่ขึ้นต้นด้วยสระ มักลง อาคมแทรกระหว่างคำที่มาเชื่อมกัน เช่น –

นิ + + อนฺตราย = นิรนฺตราย แปลว่า ไม่มีอันตราย

นิ + + อปราธ = นิรปราธ แปลว่า ไม่มีความผิด 

อักษรจำพวกที่เรียกว่า “อาคม” นี้ยังมีอีกหลายตัว เหตุผลสำคัญที่ต้องลงอาคมก็เพื่อให้เกิดความสละสลวยหรือคล่องปากเมื่อออกเสียง

ในสันสกฤต อุปสรรคตัวนี้เป็น “นิร

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

นิรฺ : (นิบาต) นิบาตและอุปสรรคบอกอสังศยะหรือความเชื่อแน่; ความประติเษธ; ความปราศจาก; a particle and prefix implying certainty or assurance; negation or privation; – (กริยาวิเศษณ์ หรือ บุรพบท) ภายนอก, นอก, ออก, ปราศจากหรือไม่มี, พลัน; outside, out, without, forth.”

(ข) “อินฺธน” อ่านว่า อิน-ทะ-นะ รากศัพท์มาจาก –

(1) เอธฺ (ธาตุ = เจริญ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แผลง เอ ที่ เอธฺ เป็น อิ (เอธ > อิธ), ลงนิคหิตอาคมต้นธาตุ แล้วแปลงนิคหิตเป็น นฺ (อิธ > อึธ > อินฺธ)

: เอธฺ + ยุ > อน = เอธน > อิธน > อึธน > อินฺธน แปลตามศัพท์ว่า “วัตถุที่ยังไฟให้เจริญคือให้ลุกไหม้ขึ้น

(2) อินฺธฺ (ธาตุ = สว่าง) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: อินฺธฺ + ยุ > อน = อินฺธน แปลตามศัพท์ว่า “วัตถุเป็นเครื่องสว่างแห่งไฟ

อินฺธน” หมายถึง ฟืนหรือไม้สำหรับติดไฟ, เชื้อเพลิง (firewood, fuel)

อินฺธน” ในภาษาไทยใช้เป็น “อินธน์” (อ่านว่า อิน) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

อินธน์ : (คำนาม) การจุดไฟ; เชื้อไฟ, ไม้สําหรับติดไฟ, มักใช้เป็นส่วนท้ายของสมาส เช่น นิรินธน์ ว่า ไม่มีเชื้อไฟ. (ป., ส.).”

: นิร (นิ + ) + อินฺธน = นิรินฺธน (นิ-ริน-ทะ-นะ) แปลว่า “ไม่มีเชื้อ” (without fuel)

นิรินฺธน” ในภาษาไทยใช้เป็น “นิรินธน์” (อ่านว่า นิ-ริน) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

นิรินธน์ : (คำแบบ) (คำวิเศษณ์) ไม่มีเชื้อ (ใช้แก่ไฟ). (ป.).”

หมายเหตุ: “คำแบบ” หมายถึง คำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป

(๒) “พินาศ

บาลีเป็น “วินาส” อ่านว่า วิ-นา-สะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + นสฺ (ธาตุ = พินาศ, หายไป) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ อะ ที่ -(สฺ) เป็น อา (นสฺ > นาสฺ)

: วิ + นสฺ = วินส + = วิสนณ > วินส > วินาส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ความหายไป” หมายถึง ความพินาศ, ความล่มจม, ความสูญหาย (destruction, ruin, loss)

วินาส” ใช้ในภาษาไทยตามรูปสันสกฤตเป็น “วินาศ” (วิ-นาด) และแผลง เป็น ตามหลักนิยม จึงเป็น “พินาศ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

พินาศ : (คำนาม) ความเสียหายสิ้นเชิง, ความเสียหายย่อยยับ. (คำกริยา) เสียหายสิ้นเชิง, เสียหายย่อยยับ. (ป. วินาส; ส. วินาศ).” 

นิรินฺธน + วินาส = นิรินฺธนวินาส (นิ-ริน-ทะ-นะ-วิ-นา-สะ) แปลว่า “ความหายไปเพียงดังว่าไฟที่สิ้นเชื้อ

นิรินฺธนวินาส” ใช้ในภาษาไทยเป็น “นิรินธนพินาศ” (นิ-ริน-ทะ-นะ-พิ-นาด) 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

นิรินธนพินาศ : (คำนาม) ความหมดสิ้นอย่างไฟขาดเชื้อ คือ ไม่ลุกลามได้อีก (มักใช้เปรียบถึงความดับกิเลสของพระอรหันต์).”

ขยายความ :

กิเลสของปุถุชน อาจมีเวลาลดลงหรือหายไปได้ชั่วพักหนึ่ง แล้วก็กลับเกิดขึ้นได้อีก เหมือนไฟที่ยังมีเชื้ออยู่ แม้ดับไป แต่เมื่อเชื้อยังมีอยู่ เมื่อจุดไฟเข้าก็สามารถลุกติดเป็นไฟได้อีกเสมอ

ต่างจากพระอรหันต์ กิเลสของพระอรหันต์ถูกกำจัดให้หมดสิ้นเหมือนไฟที่สิ้นเชื้อ คือไม่มีอะไรทำให้ไฟดับ แต่ดับเพราะหมดเชื้อ ดับแบบนี้ทำอย่างไรก็ติดเป็นไฟขึ้นอีกไม่ได้ เพราะเชื้อที่จะติดไฟหรือทำให้ไฟติดหมดสิ้นไปแล้ว เชื้อใหม่ก็ไม่มีเติม เป็นการดับสนิทดังคำว่า “นิรินธนพินาศ” นั่นแล

…………..

ดูก่อนภราดา!

อยู่กับกิเลสเหมือนกัน แต่คนคิดไม่เหมือนกัน

คนเขลา: ไม่เป็นกับมัน ก็อยู่กับมันไม่ได้

คนฉลาด: เมื่อจำเป็นก็อยู่กับมัน แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นกับมัน

#บาลีวันละคำ (3,712)

11-8-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *