บาลีวันละคำ

อาหุไนยบุคคล (บาลีวันละคำ 3,713)

อาหุไนยบุคคล

พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก

อ่านว่า อา-หุ-ไน-ยะ-บุก-คน

ประกอบด้วยคำว่า อาหุไนย + บุคคล

(๑) “อาหุไนย” 

บาลีเป็น “อาหุเนยฺย” อ่านว่า อา-หุ-เนย-ยะ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง) + หุ (ธาตุ = ให้, บูชา, เซ่นไหว้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) + เอยฺย ปัจจัย

(ก) : อา + หุ = อาหุ + ยุ > อน = อาหุน แปลตามศัพท์ว่า “การมอบให้” “การบูชา” “การเซ่นไหว้” หมายถึง ของบูชายัญ, ของเซ่นสรวง; ความเคารพ, การบูชา (oblation, sacrifice; veneration, adoration)

(ข) : อาหุน + เอยฺย = อาหุเนยฺย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ควรแก่การมอบให้” “ผู้ควรแก่การบูชา” “ผู้ควรแก่การเซ่นไหว้” หมายถึง เกี่ยวกับการสังเวย, ควรเซ่นสรวง, ควรบูชาหรือสังเวย, ควรเคารพ, ควรบูชายัญ, ควรบวงสรวง (sacrificial, worthy of offerings or of sacrifice, venerable, adorable, worshipful)

อาหุเนยฺย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อาหุไนย

คำว่า “อาหุไนย” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 

(๒) “บุคคล

บาลีเป็น “ปุคฺคล” อ่านว่า ปุก-คะ-ละ รากศัพท์มาจาก –

(1) ปุ (นรก) + คลฺ (ธาตุ = เคลื่อน) + (อะ) ปัจจัย, ซ้อน คฺ 

: ปุ + คฺ + คลฺ = ปุคฺคลฺ + = ปุคฺคล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เคลื่อนไปสู่นรก” 

(2) ปูติ (ของบูดเน่า) + คลฺ (ธาตุ = กิน) + (อะ) ปัจจัย, รัสสะ อู ที่ ปู-(ติ) เป็น อุ แล้วลบ ติ (ปูติ > ปุติ > ปุ), ซ้อน คฺ 

: ปูติ > ปุติ > ปุ + คฺ + คลฺ = ปุคฺคลฺ + = ปุคฺคล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กินอาหารคือของบูดเน่า” 

(3) ปุคฺค (อาหารที่ยังอายุของสัตว์ให้เต็ม) + ลา (ธาตุ = กิน) + (อะ) ปัจจัย, ลบ อา ที่ ลา (ลา >

: ปุคฺค + ลา = ปุคฺคลา > ปุคฺคล + = ปุคฺคล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กินอาหารที่ยังอายุของสัตว์ให้เต็มเป็นไป” (คือต้องกินจึงจะมีชีวิตอยู่ได้) 

(4) ปูร (เต็ม) + คล (เคลื่อน), รัสสะ อู ที่ ปู-(ร) เป็น อุ แล้วลบ (ปูร > ปุร > ปุ), ซ้อน คฺ ระหว่าง ปูร + คล 

: ปูร > ปุร > ปุ + คฺ + คล = ปุคฺคล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำหมู่สัตว์โลกให้เต็มและเคลื่อนไปสู่ธรรมดาคือจุติและอุบัติ” (คือเกิดมาทำให้โลกเต็มแล้วก็ตาย)

ปุคฺคล” ในบาลีหมายถึง –

(1) ปัจเจกชน, บุคคล, คน (an individual, person, man) 

(2) สัตว์, สัตว์โลก (being, creature)

ปุคฺคล” ใช้ในภาษาไทยว่า “บุคคล” (อ่านว่า บุก-คน, ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้ายอ่านว่า บุก-คะ-ละ-, บุก-คน-ละ-) 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

บุคคล, บุคคล– : (คำนาม) คน (เฉพาะตัว); (คำที่ใช้ในกฎหมาย) คนซึ่งสามารถมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย เรียกว่า บุคคลธรรมดา; กลุ่มบุคคลหรือองค์กรซึ่งกฎหมายบัญญัติให้เป็นบุคคลอีกประเภทหนึ่ง ที่ไม่ใช่บุคคลธรรมดา และให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย เรียกว่า นิติบุคคล. (ป. ปุคฺคล; ส. ปุทฺคล).”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามเหลือเพียง –

บุคคล, บุคคล– : (คำนาม) คน (เฉพาะตัว); (คำที่ใช้ในกฎหมาย) บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล. (ป. ปุคฺคล; ส. ปุทฺคล).”

อาหุเนยฺย + ปุคฺคล = อาหุเนยฺยปุคฺคล แปลว่า “บุคคลผู้ควรแก่การมอบให้” “บุคคลผู้ควรแก่การบูชา” “บุคคลผู้ควรแก่การเซ่นไหว้

อาหุเนยฺยปุคฺคล” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อาหุไนยบุคคล” (อา-หุ-ไน-ยะ-บุก-คน)

คำว่า “อาหุไนยบุคคล” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 

ขยายความ :

ในพระไตรปิฎกมีคาถาแสดงคุณของบิดามารดาบทหนึ่งว่า –

…………..

พฺรหฺมาติ มาตาปิตโร

ปุพฺพาจริยาติ วุจฺจเร  

อาหุเนยฺยา จ ปุตฺตานํ

ปชาย อนุกมฺปกา  ฯ

มารดาบิดาทั้งหลายชื่อว่าเป็นพรหม 

เป็นบุรพาจารย์

และเป็นอาหุไนยบุคคลของบุตรทั้งหลาย

เป็นผู้เอ็นดูประชาคือบุตร

ที่มา: พรหมสูตร ติกนิบาตร อังคุตรนิกาย

พระไตรปิฎกเล่ม 20 ข้อ 470

…………..

มีคำอธิบายว่า –

…………..

อาหุเนยฺยา  จ  ปุตฺตานนฺติ  ปุตฺตานํ  อาหุนปาหุนอภิสงฺขตอนฺนปานาทีสุ  อรหนฺติ  อนุจฺฉวิกา  ตํ  ปฏิคฺคเหตุํ  ฯ  ตสฺมา  อาหุเนยฺยา  จ  ปุตฺตานนฺติ  วุตฺตา  ฯ

คำว่า อาหุเนยฺยา จ ปุตฺตานํ หมายความว่า ย่อมควรได้รับข้าวน้ำเป็นต้นที่บุตรจัดมาเพื่อบูชา เพื่อต้อนรับ คือเป็นผู้เหมาะสมเพื่อจะรับข้าวและน้ำเป็นต้นนั้น เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า อาหุเนยฺยา จ ปุตฺตานํ (และเป็นอาหุไนยบุคคลของบุตรทั้งหลาย) ดังนี้

ที่มา: มโนรถปูรณี ภาค 2 หน้า 158

…………..

คำว่า “เป็นอาหุไนยบุคคลของบุตรทั้งหลาย” นี้ มีผู้นิยมนำมาพูดกันว่า “บิดามารดาเป็นพระอรหันต์” ทั้งนี้เพราะคำว่า “อาหุเนยฺย” เป็นคำแสดงคุณสมบัติข้อหนึ่งของพระอรหันต์ ดังปรากฏอยู่ในบท “สังฆคุณ” ที่ขึ้นต้นว่า “สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ”

เมื่อพูดว่า “บิดามารดาเป็นพระอรหันต์” ก็มักจะมีผู้แย้งว่า ไม่ถูกต้อง เพราะบิดามารดาเป็นฆราวาส ยังมีกิเลสอยู่ จะเป็นพระอรหันต์ได้อย่างไร

อันที่จริง ผู้พูดว่า “บิดามารดาเป็นพระอรหันต์” นั้น มิได้มีเจนาจะบอกว่าบิดามารดาสิ้นกิเลสแล้วเหมือนพระอรหันต์ เพียงแต่จะบอกว่าบิดามารดาเป็นผู้ควรแก่การบูชาเซ่นสรวงเช่นเดียวกับพระอรหันต์ และเป็นเช่นนั้นเฉพาะกับบุตรทั้งหลายเท่านั้น ไม่ใช่เป็นกับคนทั่วไปที่ไม่ใช่บุตร เพราะมีคำว่า “ปุตฺตานํ” กำกับอยู่ชัดแจ้ง ผู้แย้งจึงควรเข้าใจเจตนาของคำพูดว่า “บิดามารดาเป็นพระอรหันต์”

…………..

ดูก่อนภราดา!

: หลายคนกว่าจะยอมรับว่าพ่อแม่มีคุณ

: ก็ต่อเมื่อไม่มีพ่อแม่จะให้ตอบแทนคุณเสียแล้ว

#บาลีวันละคำ (3,713)

12-8-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *