บาลีวันละคำ

อติบัณฑิต (บาลีวันละคำ 3,694)

อติบัณฑิต

ฉลาดแกมโกง

อ่านว่า อะ-ติ-บัน-ดิด

แยกศัพท์เป็น อติ + บัณฑิต

(๑) “อติ” 

อ่านว่า อะ-ติ เป็นคำจำพวกที่เรียกว่า “อุปสรรค”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “อุปสรรค” ไว้ว่า – 

อุปสรรค : (คำนาม) เครื่องขัดข้อง, ความขัดข้อง, เครื่องขัดขวาง. (ส. อุปสรฺค; ป. อุปสคฺค); คำสำหรับใช้เติมข้างหน้าคำนามหรือคำกริยาที่เป็นรูปคำบาลีหรือสันสกฤตให้มีความหมายแผกเพี้ยนไปจากเดิม หรือมีความหมายตรงข้ามกับความหมายเดิมเป็นต้น และถือเป็นคำเดียวกับคำนามหรือคำกริยานั้น เพราะตามปรกติจะไม่ใช้ตามลำพัง เช่น วัฒน์ = เจริญ อภิวัฒน์ = เจริญยิ่ง ปักษ์ = ฝ่ายปฏิปักษ์ = ฝ่ายตรงข้าม, ข้าศึก, ศัตรู.”

นักเรียนบาลีท่องจำคำแปลของ “อติ” ว่า “อติ : ยิ่ง, เกิน, ล่วง

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกความหมายทั่วไปของ “อติ ว่า –

(1) “up to and beyond” (“ยิ่ง และล่วง”)

(2) in excess, extremely, very (ล่วง, ยิ่ง, มาก, เกินไป)

(๒) “บัณฑิต

บาลีเป็น “ปณฺฑิต” อ่านว่า ปัน-ดิ-ตะ มีรากศัพท์มาได้หลายทาง เช่น :

(1) ปณฺฑา ( = ปัญญา) + อิต ( = ไป, ดำเนินไป, เกิดขึ้นพร้อม) ลบสระที่ ปณฺฑา (ปณฺฑา > ปณฺฑ

: ปณฺฑา > ปณฺฑ + อิต = ปณฺฑิต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา” “ผู้มีปัญญาเกิดพร้อมแล้ว

(2) ปฑิ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุ (ปฑิ > ปํฑิ) แล้วแปลงเป็น (ปํฑิ > ปณฺฑิ)

: ปฑิ > ปํฑิ > ปณฺฑิ + = ปณฺฑิต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดำเนินไปสู่ความเป็นผู้ฉลาด” 

(3) ปณฺฑฺ (ธาตุ = รู้) + ปัจจัย, ลง อิ อาคมระหว่างธาตุกับปัจจัย (ปณฺฑฺ + อิ + )

: ปณฺฑฺ + อิ = ปณฺฑิ + = ปณฺฑิต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้จักประโยชน์และมิใช่ประโยชน์

ความหมายของ “ปณฺฑิต” ในบาลีคือ สุขุม, ไตร่ตรอง, รอบรู้, ฉลาด, รู้ทัน, จัดเจน, หลักแหลม, รอบคอบ, ระมัดระวัง, ถี่ถ้วน, ชำนิชำนาญ, ช่ำชอง, ว่องไว, คล่องแคล่ว, มีความสามารถ, มีไหวพริบ, รู้จักคิด, รู้จักเหตุผล = รู้จักผิดชอบชั่วดีควรไม่ควร 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปณฺฑิต” เป็นอังกฤษว่า wise, clever, skilled, circumspect, intelligent.

ปณฺฑิต” ในภาษาไทยใช้ว่า “บัณฑิต” (บัน-ดิด)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บัณฑิต : ผู้ทรงความรู้, ผู้มีปัญญา, นักปราชญ์, ผู้สําเร็จการศึกษาขั้นปริญญาซึ่งมี ๓ ขั้น คือ ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก เรียกว่า บัณฑิต มหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิต, ผู้มีความสามารถเป็นพิเศษโดยกําเนิด เช่น คนนี้เป็นบัณฑิตในทางเล่นดนตรี. (ป., ส. ปณฺฑิต).”

ความหมายเดิมแท้ของ “บัณฑิต” ก็คือ ผู้มีสติปัญญา รู้จักผิดชอบชั่วดี เว้นชั่ว ประพฤติดีได้ด้วยตนเองและสามารถแนะนำสั่งสอนผู้อื่นให้ทำเช่นนั้นได้ด้วย

อติ + ปณฺฑิต = อติปณฺฑิต (อะ-ติ-ปัน-ดิ-ตะ) แปลตามศัพท์ว่า “บัณฑิตยิ่ง” “บัณฑิตเกิน” “ฉลาดยิ่ง” “ฉลาดเกิน

อติปณฺฑิต” เขียนแบบไทยเป็น “อติบัณฑิต

ขยายความ :

คำว่า “อติบัณฑิต” มาจากคาถาในชาดกเรื่อง “กูฏวาณิชชาดก” พระพุทธองค์ตรัสเล่าเรื่องในอดีตชาติว่า –

พ่อค้า 2 คนชาวเมืองพาราณสี คนหนึ่งชื่อ “บัณฑิต” อีกคนหนึ่งชื่อ “อติบัณฑิต” เข้าหุ้นกันนำสินค้าไปขายต่างเมือง กลับมาถึงเมืองพาราณสีแล้วก็แบ่งกำไรกัน 

อติบัณฑิตขอให้แบ่งกำไรเป็น 3 ส่วน บัณฑิตได้ 1 ส่วน ตัวเองควรได้ 2 ส่วน อ้างว่าในกระบวนการค้าตนฉลาดกว่า 

บัณฑิตแย้งว่า ทุนที่ลงไปในการค้าเท่ากัน เหนื่อยเท่ากัน จึงควรแบ่งกำไรเท่ากัน

อติบัณฑิตเสนอว่า ถ้าเช่นนั้นควรให้รุกขเทวดาตัดสิน แล้ววางแผนให้บิดาของตนเข้าไปซ่อนตัวในโพรงไม้ต้นหนึ่งทำทีว่าเป็นรุกขเทวดา แล้วให้ดัดเสียงพูดตามที่นัดหมายกัน

ทั้งสองคนพากันไปที่ต้นไม้นั้น อติบัณฑิตร้องถามว่า ตนควรได้กำไรกี่ส่วน รุกขเทวดาปลอมตอบว่า ควรได้ 2 ส่วน

บัณฑิตได้ฟังดังนั้นจึงว่า เดี๋ยวก็รู้ว่าเทวดาจริงหรือปลอม แล้วเอาฟางสุมไฟเข้าที่โคนไม้ บิดาของอติบัณฑิตถูกไฟลวกเข้าก็โดดออกมาแล้วกล่าวข้อความเป็นคาถา 1 บท

ข้อความในคาถาเป็นดังนี้ –

เขียนแบบบาลี:

…………..

สาธุ โข ปณฺฑิโต นาม

น เตฺวว อติปณฺฑิโต

อติปณฺฑิเตน ปุตฺเตน

มนมฺหิ อุปกุฏฺฐิโตติ  ฯ

…………..

เขียนแบบคำอ่าน:

สาธุ  โข  ปัณฑิโต  นามะ

นะ  เต๎ววะ*  อะติปัณฑิโต

อะติปัณฑิเตนะ  ปุตเตนะ

มะนัมหิ  อุปะกุฏฺฐิโต  ฯ

*อ่านว่า ตวย-วะ

…………..

คำแปล:

คนที่ชื่อบัณฑิตดีแน่

ส่วนคนที่ชื่ออติบัณฑิตไม่ดีเลย

เพราะเจ้าอติบัณฑิตลูกเรา

เกือบเผาเราเสียแล้ว

ที่มา: กูฏวาณิชชาดก เอกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม 27 ข้อ 98

…………..

คัมภีร์อรรถกถาไขความคำที่ควรรู้ไว้ดังนี้ –

…………..

สาธุ  โข  ปณฺฑิโต  นามาติ  อิมสฺมึ  โลเก  ปณฺฑิจฺเจน  สมนฺนาคโต  การณาการณํ  ญตฺวา  ปุคฺคโล  สาธุ  โสภโน  ฯ

คำว่าว่า สาธุ  โข  ปณฺฑิโต  นาม (คนที่ชื่อบัณฑิตดีแน่) หมายความว่า บุคคลผู้ประกอบด้วยคุณธรรมแห่งบัณฑิต รู้การณ์ควรไม่ควร นับว่าเป็นคนดีงามในโลกนี้

อติปณฺฑิโตติ  นามมตฺเตน  อติปณฺฑิโต  กูฏปุริโส  น  เตฺวว  วรํ  ฯ

คำว่า อติปณฺฑิโต (ส่วนคนที่ชื่ออติบัณฑิต) หมายความว่า คนที่เป็นอติบัณฑิตแต่เพียงชื่อ คือคนโกง ไม่ดีเลย

มนมฺหิ  อุปกุฏฺฐิโตติ  โถเกนมฺหิ  ฌาโม  อฑฺฒชฺฌามโตว  มุตฺโตติ  อตฺโถ  ฯ

คำว่า มนมฺหิ  อุปกุฏฺฐิโต (เกือบเผาเราเสียแล้ว) หมายความว่า เรา (คือพ่อของอติบัณฑิต) ถูกไฟไหม้ไปหน่อยหนึ่ง รอดพ้นจากการไหม้ตั้งครึ่งตัวมาได้อย่างหวุดหวิดทีเดียว

ที่มา: ชาตกัฏฐกถา ภาค 2 หน้า 293

…………..

สรุป :

คำว่า “อติบัณฑิต” นั้น ตามศัพท์แปลได้ว่า “ฉลาดนัก” หรือ “ฉลาดเกินไป” ซึ่งชวนให้เข้าใจว่า ข้อความในคาถานี้สอนว่า ฉลาดเกินไปหรือเป็นบัณฑิตเกินไปก็ไม่ดี ควรจะรู้จักโง่หรือแกล้งโง่เสียบ้าง ไม่ควรอวดฉลาดไปเสียทุกเรื่อง

โปรดทราบว่า ข้อความในคาถานี้ไม่ได้สอนเช่นนั้น

คำว่า “อติบัณฑิต” อรรถกถาไขความไว้ชัดว่า “กูฏปุริโส” หมายถึงคนโกง ความหมายที่ถูกต้องของคำว่า “อติบัณฑิต” ก็คือที่คำไทยเรียกว่า “ฉลาดแกมโกง” นั่นเอง ไม่ได้แปลว่า ฉลาดเกินไปหรือเป็นบัณฑิตเกินไป หรือโง่ไม่เป็น-อย่างที่ชวนให้เข้าใจ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: โง่เป็น คือยอดบัณฑิต

: โง่ไม่เป็น คือยอดโง่

#บาลีวันละคำ (3,694)

24-7-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *