บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ภาษาคนปนภาษาธรรม

ภาษาคนปนภาษาธรรม

————————-

การสอนธรรมะในประเทศไทยในระยะประมาณเกือบ ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา เกิดมีคำว่า “ภาษาคน – ภาษาธรรม” ขึ้นมา ซึ่งถ้าไม่ทำความเข้าใจให้ดีก็จะชวนให้ขัดแย้งกันได้

“ภาษาคน” หมายถึง พูดตามที่คนทั่วไปเข้าใจกันหรือตามความเข้าใจของชาวบ้านทั่วไป

“ภาษาธรรม” หมายถึง พูดตรงไปถึงนามธรรมหรือสัจธรรมที่มีอยู่ในสิ่งนั้นๆ ไม่เอาวัตถุหรือรูปธรรมมาคิดคำนึง

เมื่อมองในแง่ภาษาธรรม แม้แต่พระรัตนตรัยตามความเข้าใจของภาษาคนก็กลายเป็นสาเหตุแห่งความขัดแย้งกันได้

ยกตัวอย่าง เมื่อเสร็จพิธีทำบุญ ปัจจุบันพิธีกรหลายๆ สำนักนิยมเชิญผู้ร่วมพิธีไหว้พระอีกครั้งหนึ่งโดยใช้คำว่า “ขอเชิญลาพระรัตนตรัย” 

คำว่า “ขอเชิญลาพระรัตนตรัย” ความหมายของ “ภาษาคน” ก็มีเพียงแค่ต้องการจะลาพระก่อนจะแยกย้ายกันไป ตามวัฒนธรรม “ไปลา-มาไหว้” เท่านั้น แต่ใช้คำพูดที่ฟังแล้วผิดความหมายของ “ภาษาธรรม” เพราะคำว่า “ลาพระรัตนตรัย” นักภาษาธรรมตีความว่าหมายถึงลาขาดจากพระรัตนตรัย คือไม่นับถือพระรัตนตรัยอีกต่อไป ซึ่งผู้พูดว่า “ขอเชิญลาพระรัตนตรัย” ไม่ได้มีเจตนาจะให้หมายถึงเช่นนั้นเลย

ยังมีถ้อยคำอื่นๆ อีกมากที่เอาภาษาคนไปปนกับภาษาธรรม ช่วยกันนึกดูเถิด

แม้แต่วิธีคิดที่เอาภาษาธรรมเข้ามาชี้นำภาษาคนก็มี

เช่น กรณีมีผู้กระทำการบางอย่างอันเป็นการลบหลู่พระพุทธปฏิมา แล้วมีผู้แสดงความเดือดร้อน เอะอะโวยวาย เรียกร้องให้จัดการกับผู้กระทำเช่นนั้น

ก็จะมีผู้ออกมาบอกว่า จะต้องเดือดร้อนไปทำไม พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ปล่อยวาง

ความหมายของคำบอกนี้ก็คือ ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบไม่ต้องทำอะไร ใครลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาของคนอื่น ก็ปล่อยให้ทำกันไปตามสบาย กฎหมายหรือกติกาการอยู่ร่วมกัน มารยาทสังคมว่าด้วยการไม่ลบหลู่ดูหมิ่นกันก็ไม่จำเป็นต้องมี เพราะ-พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ปล่อยวาง

หรือเวลาใครยกปัญหาความเสื่อมโทรม ความอ่อนด้อย การปล่อยปละละเลย การไม่เอาใจใส่ ในการศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมวินัยของพระสงฆ์ขึ้นมาพูด

ก็จะมีผู้ออกมาบอกว่า ทุกอย่างเป็นอนิจจัง

ความหมายของคำบอกนี้ก็คือ ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบไม่ต้องแก้ไขอะไร เจ้าคณะพระสังฆาธิการ ตลอดไปจนถึงองค์กรบริหารการคณะสงฆ์คือมหาเถรสมาคม ก็ไม่จำเป็นต้องมี ปล่อยให้ทุกอย่างเสื่อมทรามไปตามกฎอนิจจัง สบายดี

การปล่อยวาง ท่านสอนสำหรับการปฏิบัติการทางจิต หรือการ “ทำใจ” กฎอนิจจังหรือกฎไตรลักษณ์ ท่านสอนให้เข้าใจกฎธรรมชาติธรรมดา จะได้ไม่หลงผิด นี่เป็นเรื่องของภาษาธรรม

แต่การทำงานตามหน้าที่ การแก้ปัญหา ความรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น นี่เป็นภาษาคน

พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้มนุษย์ละเลยเพิกเฉยต่อการทำหน้าที่

เช่นเดียวกับ-ทุกคนเกิดมาแล้วต้องตาย

พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้สอนว่า ให้ทุกคนนั่งนอนรอความตายอยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไร

ยังมีอีก-ที่เกี่ยวกับพระรัตนตรัยโดยตรง —

ฝ่ายหนึ่งสร้างพระพุทธปฏิมา

อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่าพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนให้สร้างรูปเคารพ 

ฝ่ายหนึ่งชักชวนให้สร้างพระไตรปิฎก เรียนพระไตรปิฎก

อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนไม่ให้เชื่อคัมภีร์

ฝ่ายหนึ่งนับถือพระสงฆ์ที่เป็นครูบาอาจารย์

อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่า พระพุทธเจ้าท่านสอนไม่ให้ยึดติดตัวบุคคล

คนหนึ่งทำตามภาษาคน

อีกคนหนึ่งเอาภาษาธรรมมาตัดสิน

ถ้าเข้าใจเจตนาของภาษาคนและภาษาธรรม —

ก็ไม่ต้องทุบพระพุทธรูปทิ้ง 

จึงจะหมดเครื่องกีดขวางไม่ให้เข้าถึงความจริงแห่งพุทธคุณ

ไม่ต้องเผาพระไตรปิฎกให้หมดทุกตู้

จึงจะไม่มีอะไรมาปิดกั้นไม่ให้เรียนรู้เข้าถึงพระธรรมคุณ

ไม่ต้องฆ่าพระสงฆ์ให้หมดทั้งโลกหล้า

จึงจะไม่มีอะไรมาขวางหน้าไม่ให้เข้าถึงพระสังฆคุณ

ปล่อยพระรัตนตรัยชนิดที่เป็นวัตถุนั้นไว้เถิด เพื่อให้เพื่อนมนุษย์ที่อินทรีย์ยังอ่อนได้อาศัยยึดเหนี่ยวไปก่อน แล้วช่วยแนะนำสั่งสอนกันไปพลาง

เมื่อมีอินทรีย์แก่กล้าแล้ว เขาก็จะปล่อยวางสิ่งเหล่านั้นแล้วก้าวข้ามขึ้นสู่ไตรรัตนคุณที่เป็นสัจธรรมอันประเสริฐแท้จริงต่อไป

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้ามีแต่แก่นล้วนๆ

: หมู่ไม้ทั้งมวลก็จะมีแต่ไม้ที่ยืนตาย

…………..

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๕

๑๔:๒๕

…………………………………………….

ภาษาคนปนภาษาธรรม

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *