บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ชวนอ่านหนังสือต้นบัญญัติ

ชวนอ่านหนังสือต้นบัญญัติ

————————–

ผมกำลังเขียนบทความเกี่ยวกับการศึกษา+การรักษาพระธรรมวินัย ปรารภเรื่องชาววัดชาวบ้านสมัยนี้ไม่มีอุตสาหะศึกษาพระธรรมวินัย 

เมื่อพูดถึง “พระธรรมวินัย” ก็ต้องนึกศีลของพระ แล้วก็นึกต่อไปถึงหนังสือที่ว่าด้วยศีลของพระ นอกเหนือไปจาก “นวโกวาท” และ “วินัยมุข” ที่เคยเรียนกันมา 

แวบแรก นึกถึงเรื่อง “ปาฏิโมกขสังวรศีล” ของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัตน์ (แดง สีลวฒฺฑโน) วัดสุทัศนเทพวราราม ที่มีผู้เอามาพิมพ์เผยแพร่ใหม่ในชื่อ “ศีลของพระ และสมณวิสัย”

แวบต่อไปก็นึกถึงหนังสือ “ต้นบัญญัติ” ที่เคยจับอ่านมานานแล้ว 

ผมจำได้ว่าหนังสือเล่มนี้มีอยู่ในตู้หนังสือ แต่ปัญหาก็คือตู้หนังสือบ้านผมมีของอื่นที่ไม่ใช่หนังสือใส่เข้าไปด้วยทุกตู้ไป และดูจะมีปริมาณมากกว่าหนังสือ กลายเป็นอุปสรรคทำให้หาหนังสือที่ต้องการไม่เจอ ผมก็เลยแก้ปัญหาด้วยการค้นหาหนังสือทางอินเทอร์เน็ต รู้สึกว่าจะสะดวกกว่า เจอหนังสือที่เป็นไฟล์ PDF ก็ดาวน์โหลดเอามาอ่านสะดวกกว่าอ่านจากเล่มกระดาษ

หนังสือต้นบัญญัติมีต้นเหตุมาจากศิษย์เก่าวัดราบพิธ ขอคัดข้อความบางตอนจากหนังสือที่ผู้เป็นต้นเหตุเขียนไว้มาให้อ่านกันดังนี้ (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

…………………………………

แจ้งความ

———-

เดิมเมื่อข้าพเจ้าอุปสมบทเปนภิกษุอยู่วัดราชบพิธ ปีรัตนโกสินทรศก ๑๑๐ ได้ศึกษาวินัยตามธรรมเนียมภิกษุอุปสมบทใหม่ อยากทราบว่าสิกขาบทข้อห้าม เช่นปาราชิก ๔ สังฆาทิเสส ๑๓ เปนต้น ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติห้ามนั้น ต้นเหตเปนประการใด พระภิกษุชื่อไรได้ประพฤติเปนต้นขึ้นก่อน แลคิดเห็นว่าถ้าได้รวบรวมเรื่องเช่นนี้ไว้สำเร็จบริบูรณ์ จะเปนประโยชน์ต่อกุลบุตรผู้มีจิตต์ศรัทธาจะอุปสมบทในพระพุทธศาสนาได้ศึกษาทราบข้อห้ามแลข้ออนุญาต เพื่อประพฤติให้ถูกต้องตามธรรมวินัย ข้าพเจ้าจึงได้ไปเฝ้าหม่อมเจ้าพระสถาพรพิริยพรต ทูลขอให้ทรงช่วย ก็ได้ทรงพระเมตตารับรองจะทรงแปลมหาวิภังค์คัมภีร์พระวินัยปิฎกให้สำเร็จบริบูรณ์ตามความประสงค์ของข้าพเจ้า เมื่อได้ทรงแปลเสร็จแล้วได้ประทานหนังสือซึ่งชื่อว่าต้นบัญญัตินี้แก่ข้าพเจ้าแลทรงชี้แจงว่า ถ้าได้พิมพ์ขึ้นจะเปนประโยชน์สำหรับผู้ที่จะศึกษาเพื่อทราบหนทางประพฤติให้ถูกต้องตามธรรมวินัยมาก ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าควรพิมพ์ถวายไว้สำหรับพระอารามต่างๆ เพื่อพระภิกษุที่อุปสมบทใหม่หรือกุลบุตรผู้ที่มีศรัทธาจะอุปสมบทในภายหลัง จะได้ทราบข้อห้ามแลประพฤติให้ถูกต้องตามพุทธบัญญัติ …

…………………

…………………

หลวงโภคผลพูนทวี

วันที่ ๑ พฤศจิกายน ร.ศ. ๑๒๓

…………………………………

และขอนำคำนำในหนังสือต้นบัญญัติมาเสนอไว้ด้วย

เนื่องจากข้อความคำนำตามต้นฉบับในหนังสือพิมพ์ติดต่อกันไปไม่มีย่อหน้าเลย ถ้าโพสต์ตามต้นฉบับ ข้อความจะติดต่อกันเป็นพืด ชวนให้ตาลายเป็นที่สุด ผมจึงขออนุญาตปรับวรรคตอนและย่อหน้าเพื่อให้อ่านง่ายขึ้น และได้บันทึกภาพจากหน้าหนังสือจริงมาลงไว้ให้ เผื่อญาติมิตรสงสัยตอนไหนจะได้ตรวจสอบได้

เชิญอ่านคำนำครับ

…………………………………

คำนำ

——

หนังสือต้นบัญญัตินี้ ข้าพเจ้าได้แปลจากมหาวิภังค์ คัมภีร์พระวินัย ให้แก่หลวงโภคผลพูนทวี (ม,ว, ถนอมวงศ์) บุตรหม่อมเจ้าวัชรินทร์ ในพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ ทีฆชนม์เชษฐประยูร ได้แปลตั้งแต่ต้นเรื่องจนถึงสิกขาบทพุทธบัญญัตินั้นๆ ตามที่มีในพระปาติโมกข์ ไม่ได้แปลแก้บทภาชนีย์คืออธิบายความแห่งสิกขาบทนั้นๆ ด้วยเห็นว่ามีในพระวินัยคำแปลแลบุพพสิกขาวัณณนานั้นแล้ว 

เมื่อข้าพเจ้าแปลเสร็จแล้ว ได้นำถวายพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นวชิรญาณวโรรสทรงตรวจอีกชั้นหนึ่ง พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์นั้นได้ทรงแก้เพิ่มเติมให้เรียบร้อยดีขึ้น 

หนังสือนี้เปนเรื่องกล่าวถึงพระภิกษุผู้เปนอาทิกรรมิก ผู้ประกอบในกรรมเบื้องต้น คือประพฤติสิ่งที่ไม่สมควรแก่บรรพชิตประพฤติ จนชาวโลกติเตียน เปนต้นเหตุให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลาย 

อาศรัยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงได้ตั้งชื่อหนังสือนี้ว่า “ต้นบัญญัติ” เปนหนังสือมีประโยชน์แก่กุลบุตรผู้ไม่ทราบภาษามคธจะได้ทราบโดยง่าย แลชักนำผู้แรกศึกษาภาษามคธได้เทียบเคียงดูแปลง่ายขึ้น พุทธศาสนิกชนทั่วไปประสงค์จะทราบต้นเหตุให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทนั้นๆ จะได้ทราบโดยสดวก 

อนึ่ง เมื่อคฤหัสถ์ถชน 

ทราบว่าพระภิกษุเบียดเบียนฆ่ามนุษย์แลสัตว์ติรัจฉานไม่ได้ ก็จะได้ไม่ชักชวนพระภิกษุให้เปนสหายในกรรมอันนั้น 

ทราบว่าพระภิกษุชักสื่อให้เขาเปนสามีภรรยากันไม่ได้ จะได้ไม่ไหว้วานให้พระภิกษุช่วยเป็นธุระในเรื่องนั้น 

ทราบว่าพระภิกษุรับเงินทองเอง หรือให้เขารับแทน หรือยินดีเงินทองที่เขาเก็บไว้ให้ไม่ได้ เมื่อมีจิตต์ศรัทธาจะถวาย จะได้ถวายแต่สิ่งที่ควรด้วยคำอันควร แลจะได้ทราบประพฤติตัวเปนเวยยาวัจจกรของภิกษุทั้งหลายในสมัยเมื่อจะต้องเปน 

ทราบว่าของกินทั้งปวงพระภิกษุต้องรับประเคนก่อนจึงฉันได้ แลผู้ประเคนต้องให้ได้หัตถบาศด้วย คือถ้าพระภิกษุผู้รับยืนอยู่ วัดแต่ซ่นเท้าของเธอตรงมาข้างน่า ถ้าเธอนั่ง วัดแต่หลังแห่งเธอตรงมาข้างน่า ให้ได้ ๒ ศอกคืบ เมื่อจะประเคนของกินพึงน้อมเข้าไปในส่วนที่ยังเหลืออยู่ข้างน่าเธอนั้น ไม่ให้นอกกำหนดนั้นออกมา 

ทราบว่าพระภิกษุแสดงธรรมแก่คนไม่เจ็บแต่นอนอยู่ไม่ได้ เมื่อประสงค์จะถามธรรมวินัยจะได้นั่งหรือยืนถาม 

เหล่านี้เปนต้นเปนตัวอย่าง 

อันที่จริงข้อห้ามสำหรับผู้ใด ผู้นั้นก็ต้องสำรวมระวัง ไม่ใช่สำหรับผู้นอกจากนี้ แต่ดูเหมือนเปนเครื่องประดับสำหรับความรู้ของพุทธศาสนิกชนทั่วไป 

แลเมื่อผู้ปราถ์นาบำเพ็ญกุศลในสมัยอันควร ได้บริจาคทรัพย์สร้างหนังสือนี้ตามกำลังความเชื่อความเลื่อมใส ก็เปนอันได้บำเพ็ญกุศลอย่างหนึ่ง 

หนังสือนี้ คฤหัสถ์หรือบรรพชิตได้พบได้อ่านแล้ว จะไม่ใช่กิจที่ตนต้องปฏิบัติก็ตาม เปนกิจที่ตนต้องปฏิบัติก็ตาม คงได้รับความรู้ความเข้าใจจากหนังสือนี้ อันเปนเรื่องในพระพุทธศาสนาที่เคารพนับถือของตน ทานบริจาคของผู้นั้นก็ชื่อว่าธรรมทานถาวร วัดถุทาน 

อนึ่ง ผู้มีปัญญาได้พบอ่านแล้ว ก็จะเปนอุบายให้ได้ความเชื่อความเลื่อมใสในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอิกแผนกหนึ่ง 

เพราะว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทให้เปนพุทธอาณาแก่สาวกทั้งหลาย ไม่ได้ทรงบัญญัติห้ามไว้ก่อนแต่เหตุเกิดขึ้น ต่อเมื่อใดเหตุเกิดขึ้นจึงทรงบัญญัติห้าม ชรอยจะให้ผู้ประพฤติสิ่งที่ไม่สมควรแก่เพศของตนนั้น ได้เห็นโทษโดยชัดก่อน 

แม้เมื่อเหตุเกิดขึ้นเพียงใด ก็ทรงห้ามเพียงนั้น มิได้ทรงห้ามให้เกินไปกว่าเหตุที่เกิดขึ้น 

เพราะฉนี้ บางสิกขาบททรงห้ามหลายครั้ง เมื่อทรงห้ามครั้งแรกทั่วไปหมด ไม่เปิดทางให้ประพฤติได้บ้างอย่างที่เขาจะครหาไม่ได้ ผู้ลัชชีก็ต้องระวังไม่กล้าล่วงพุทธบัญญัตินั้น ก็กลับถูกเขาติเตียนอย่างอื่นอิก หรือบางทีก็ต้องกราบทูลตามเหตุขัดข้องที่เกิดขึ้น เช่นนี้ก็ทรงอนุญาตให้มีทางที่ไม่เรียกว่าล่วงข้อทรงห้ามครั้งแรก 

ครั้นทรงอนุญาตเปิดทางไว้บ้าง แต่ยังไม่มีกำหนดเขตต์ ผู้อลัชชีก็ประพฤติให้เหลือเกินไปโดยอาศรัยข้อที่ทรงอนุญาตนั้น จึงต้องทรงบัญญัติกำหนดข้อทรงอนุญาตนั้นให้มีเขตต์ พ้นจากนั้นเปนทรงห้าม 

เมื่อรวมเข้าทั้งข้อทรงบัญญัติทรงอนุญาตทุกคราวในสิกขาบทอันหนึ่ง จึงเปนอันทรงบัญญัติสิกขาบทนั้นด้วยดี ไม่มีผู้ใดซึ่งพิจารณาแล้วจะพึงติได้ว่า ทรงห้ามไว้แรงเกินไป หรือยังมีทางที่หลีกล่วงได้โดยเปนอันล่วงจริง เพราะไม่มีข้อทรงห้ามไว้พอ 

สิกขาบทที่ทรงบัญญัติห้ามไว้แล้วเปนอันควรทรงห้ามแท้ 

เมื่อผู้ใดประพฤติล่วงแล้ว ย่อมได้รับผลทุกข์ภัยในปัจจุบันแลสัมปรายภพจริง 

เพราะเหตุนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้มีพระนามแสดงพระคุณปรากฏว่า อนันตญาโณ มีพระปรีชาญาณหาที่สุดมิได้ มหาการุณิโก ประกอบด้วยพระกรุณาใหญ่หลวง ดังนี้

หม่อมเจ้าพระสถาพรพิริยพรต

วันที่ ๑ พฤศจิกายน ร.ศ. ๑๒๓

…………………………………

หวังใจว่าญาติมิตรจะมีอุตสาหะตามไปศึกษาหาความรู้จากหนังสือต้นบัญญัติโดยทั่วกัน เมื่อได้ความรู้แล้วจะได้ใช้ความรู้นั้นช่วยกันรักษาพระศาสนาให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ยั่งยืนมั่นคงสืบต่อไป

…………………………………………

ลิงก์ไฟล์ PDF หนังสือต้นบัญญัติ

http://digital.nlt.go.th/items/show/15982

…………………………………………

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๕

๑๗:๑๗

………………………………………….

ชวนอ่านหนังสือต้นบัญญัติ

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *