บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

คิดเฟื่องเรื่องอยู่ปริวาส (๔)

คิดเฟื่องเรื่องอยู่ปริวาส (๔)

————————

(ความท้ายตอนที่แล้ว)

………………………………

ปัจจุบันมีการจัดกิจกรรมอยู่ปริวาส คือเชิญชวนให้พระภิกษุไปอยู่ปริวาสโดยอ้างว่า อยู่ปริวาสแล้วทำให้ศีลบริสุทธิ์ ญาติโยมที่ไปอุปถัมภ์บำรุงพระที่มาอยู่ปริวาสก็เชื่อกันว่าได้บุญมากเป็นพิเศษเพราะมีส่วนส่งเสริมให้พระมีศีลบริสุทธิ์ 

บางทีชาวบ้านก็เลยถือเป็นโอกาสอยู่ปริวาสไปกับพระด้วยเลย เพราะเชื่อว่าจะทำให้ตัวเองเป็นคนบริสุทธิ์ได้ด้วย

พระที่ไปอยู่ปริวาส ก็ให้เหตุผลว่า ในห้วงเวลาปีหนึ่งที่ผ่านมา ไม่แน่ใจว่าได้ทำอะไรผิดพลาดจนถึงขั้นเป็นอาบัติสังฆาทิเสสเข้าบ้างหรือเปล่า ถ้าไม่ได้ทำผิดก็รอดตัวไป แต่ถ้าได้ทำผิดพลาดไว้ ถ้าไม่อยู่ปริวาสก็จะมีมลทินติดตัวไปตลอด ดังนั้นการอยู่ปริวาสจึงถูกต้องแล้ว เพราะเป็นการชำระศีลให้บริสุทธิ์

พูดง่ายๆ ว่า อยู่ปริวาสกันเหนียว หรือเกินดีกว่าขาดนั่นเอง

………………………………

ประเด็นนี้ผมไม่มีความประสงค์จะโต้เถียงกับใคร เพียงแต่อยากจะบอกว่าผมคิดอย่างไรเมื่อได้ฟังเหตุผลของการจัดกิจกรรมบุญปริวาส

เงื่อนไขของการต้องอยู่ปริวาส ข้อแรกคือ ต้องปรากฏอย่างแน่ชัดแล้วว่าภิกษุรูปนั้นต้องอาบัติสังฆาทิเสส

ถามว่า พระที่ไปอยู่บุญปริวาสนั้นปรากฏอย่างแน่ชัดแล้วหรือยังว่าท่านต้องอาบัติสังฆาทิเสส?

ถ้ายังไม่แน่ (ตามเหตุผลที่ว่า “ในห้วงเวลาปีหนึ่งที่ผ่านไป ไม่แน่ใจว่าได้ทำอะไรผิดพลาดจนถึงขั้นเป็นอาบัติสังฆาทิเสสเข้าบ้างหรือเปล่า”) มีพุทธบัญญัติกำหนดไว้ที่ไหนว่า แม้ไม่แน่ใจว่าต้องอาบัติสังฆาทิเสส ก็ต้องอยู่ปริวาส?

ปริวาสไม่เหมือนธุดงค์

ธุดงค์นั้นท่านผู้ใดมีอัธยาศัย มีอุตสาหะ มีกำลังที่จะปฏิบัติได้ ก็ปฏิบัติ 

ท่านผู้ใดไม่สามารถ ก็ไม่ต้องปฏิบัติ ไม่ได้บังคับ (ธุดงค์บางข้อห้ามถือในบางโอกาสด้วยซ้ำ)

แต่การอยู่ปริวาสเป็นวินัยบัญญัติ เป็นพุทธบัญญัติที่มีเงื่อนไขชัดเจนว่า กรณีอย่างไรต้องอยู่ปริวาส อย่างไรไม่ต้องอยู่ปริวาส

และการอยู่ปริวาสตามหลักพระวินัยต้องมีคณะวินัยธรที่คณะสงฆ์ตั้งขึ้นกำกับดูแลให้ผู้อยู่ปริวาสปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด

ไม่ใช่นึกอยากอยู่ก็อยู่ ถ้ายังไม่อยากอยู่หรือยังไม่พร้อมที่จะอยู่ก็ไม่ต้องอยู่

ทีนี้ คำถามข้างต้นนั้น ถ้าพระที่ไปเข้าร่วมกิจกรรมบุญปริวาสเกิดตอบว่า “อาตมาแน่ใจว่าตัวเองต้องอาบัติสังฆาทิเสสเข้าแล้ว การมาอยู่ปริวาสของอาตมาจึงชอบด้วยเหตุผล” 

รายละเอียดก็จะตามมาทันที เช่น –

ท่านรู้ว่าตัวเองต้องอาบัติสังฆาทิเสสตั้งแต่เมื่อไร

เมื่อรู้แล้วท่านได้แจ้งแก่เพื่อนสหธรรมิกทันทีหรือปกปิดไว้

ท่านปกปิดไว้กี่วัน (เพราะต้องอยู่ปริวาสตามจำนวนวันที่ปกปิด)

ถ้าหวังความบริสุทธิ์แห่งศีล ทำไมท่านไม่รีบอยู่ปริวาสเสียตั้งแต่แรก ทำไมจึงรอมาจนถึงวันนี้

การอยู่ปริวาสเพื่อออกจากอาบัติสามารถผัดเพี้ยนได้ เช่นตอนนี้ยังไม่สะดวก ขอเลื่อนไปอยู่ตอนโน้น – มีข้ออนุญาตให้ทำแบบนี้ได้หรือ

ฯลฯ

จะตอบคำถามเหล่านี้กันว่าอย่างไรละขอรับ?

หรือว่าพอจะเข้าร่วมบุญปริวาสกันที ก็หาเรื่องต้องอาบัติสังฆาทิเสสกันทีหนึ่ง จะได้มีข้ออ้าง?

แท้จริงแล้วการอยู่ปริวาสนั้นเป็นมาตรการลงโทษภิกษุที่ทำความผิดแล้วปกปิดไว้ ถ้าความผิดยังไม่ปรากฏ จะลงโทษได้อย่างไร

อุปมาให้เข้าใจอีกที

เหมือนคนติดคุกนั่นแหละครับ

ใครจะติดคุก ก็ต้องทำความผิด มีข้อกล่าวหาชัดเจนว่าทำความผิดอะไร 

มีคำพิพากษาของศาลว่าทำผิดจริงและสั่งให้จำคุก 

จึงจะติดคุกได้

ไม่ใช่ว่า ใครอยากติดคุกก็เดินไปที่เรือนจำ บอกเจ้าหน้าที่ว่าจะขอมาติดคุก ด้วยเหตุผลว่า ในห้วงเวลาที่ผ่านมาไม่แน่ใจว่าได้ทำอะไรผิดกฎหมายเข้าบ้างหรือเปล่า จึงขอมาติดคุกไว้ก่อนเพื่อความบริสุทธิ์

………………..

การที่เกิดความนิยมจัดบุญปริวาสน่าจะเป็นเพราะมองผิดจุด 

คือไปมองที่ท่อนผล-ว่าอยู่ปริวาสเพื่อให้ศีลบริสุทธิ์ 

แต่ไม่ได้มองที่ท่อนเหตุ-ว่าไปทำผิดอะไรมาจึงต้องอยู่ปริวาส

ศีลนั้นบริสุทธิ์ได้ด้วยการสำรวมระวัง ไม่ล่วงละเมิด

การอยู่ปริวาสเป็นการลงโทษผู้ละเมิดศีล ไม่ใช่เป็นการทำศีลให้บริสุทธิ์

ถ้าเข้าใจว่าอยู่ปริวาสเป็นการทำศีลให้บริสุทธิ์ ก็ขอให้ทบทวนใหม่อย่างนี้ –

ภิกษุที่สำรวมระวังในพระปาติโมกข์และอภิสมาจาร ไม่ล่วงละเมิดเลยแม้ในข้อที่มีโทษเล็กน้อย 

ถามว่า ศีลของท่านบริสุทธิ์หรือยัง?

หรือว่าสำรวมระวังแล้วก็จริง ไม่ล่วงละเมิดแล้วก็จริง แต่ยังจะต้องไปอยู่ปริวาสอีกทีหนึ่งศีลจึงจะบริสุทธิ์ มิเช่นนั้นศีลก็จะยังไม่บริสุทธิ์?

เหมือนประชาชนทั่วไป แม้ไม่ได้ทำผิดกฎหมายของบ้านเมือง ก็ยังไม่ชื่อว่าเป็นพลเมืองดี ต้องไปติดคุกเสียก่อน ออกจากคุกมาแล้วจึงจะได้ชื่อว่าเป็นพลเมืองดี?

ถ้าอยากจะได้ขัดเกลาอันเป็นบุญบริสุทธิ์ และไม่เป็นเหตุให้ต้องถกเถียงกัน ผมขอเสนอว่า อย่าใช้คำว่า “อยู่ปริวาส” หรือ “เข้าปริวาส” เลยครับ

เรียกว่า เทศกาลเข้ากรรมฐาน หรือใช้คำอะไรก็ได้ที่ฟังดูขลังดี แล้วก็จัดรูปแบบให้เป็นการปฏิบัติธรรมกันตรงไปตรงมา

หรือจะเปลี่ยนจากบุญปริวาสไปเป็น บุญธุดงค์ ก็เข้าทีดี 

คือเลือกเอาธุดงค์สักข้อหนึ่งขึ้นมาปฏิบัติ เช่น โสสานิกังคะอยู่ป่าช้า 

เลือกหาป่าช้าที่เหมาะๆ เข้าสักแห่ง แล้วนิมนต์พระไปอยู่ป่าช้ากันสัก ๑๕ วัน หรือเดือนหนึ่งก็แล้วแต่ 

ขณะเดียวกันก็พ่วงธุดงค์ข้ออื่นเข้าไปพร้อมๆ กันอีกได้ด้วย เช่นพ่วง –

เอกาสนิกังคะฉันมื้อเดียว 

ปัตตปิณฑิกังคะฉันในบาตร 

เตจีวริกังคะใช้ผ้าสามผืน (ขัดเกลาทำนองเดียวกับอาบน้ำห้าขัน)

และถ้าจะให้น่าเลื่อมใสหนักยิ่งขึ้นก็เพิ่ม เนสัชชิกังคะ ถือไม่นอน (ข้อนี้อ้างพระจักขุบาลเถระได้เต็มปาก)

ประกวดกันว่าใครจัดบุญธุดงค์ได้มากข้อกว่ากันไปเลย

เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสด้วย 

พระก็ได้ขัดเกลาด้วย

ญาติโยมอุปถัมภ์ก็เป็นบุญพิเศษด้วย

และที่สำคัญก็คือ ไม่ต้องมานั่งเถียงกันว่าถือธุดงค์ผิดหรือถูกอีกด้วย

นักกิจกรรมบุญลองเอาไปวางแผนดูสิครับ 

เป็นการพลิกมิติใหม่ของธุดงค์

อาจจะกลายเป็นกิจกรรมบุญที่ดังระเบิดไปเลยก็ได้

………………………………

หมายเหตุ:

เรื่องอยู่ปริวาสนี้ –

๑ ท่านผู้ใดพบหลักฐานในคัมภีร์ที่ยืนยันว่า กิจกรรมอยู่ปริวาสแบบที่จัดกันทุกวันนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องตรงตามหลักพระธรรมวินัย ขอความกรุณาชี้แนะหรือนำมาแสดง 

๒ หรือหากครูบาอาจารย์แต่ปางก่อนท่านเคยวินิจฉัยเรื่องนี้ไว้แล้วว่ากิจกรรมอยู่ปริวาสสามารถปฏิบัติได้ด้วยเหตุผลอย่างนี้ๆ ท่านผู้ใดเคยได้ยินมาอย่างไร ขอความกรุณาชี้แนะหรือนำมาแสดงเช่นกัน

ผมยังศึกษาค้นคว้าไปไม่ทั่วถึง ถ้ามีหลักฐานก็จะได้ปรับแก้ความเข้าใจของตัวเองให้ถูกต้อง ทั้งจะได้เป็นองค์ความรู้ที่ถูกต้องของสาธารณชนสืบต่อไป 

………………………………

………….

(ตอนหน้า-หาความรู้จากคำว่า “ปริวาส” ในพจนานุกรมพุทธศาสน์)

………….

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๕

๑๘:๑๑

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *