บาลีวันละคำ

บุษกร (บาลีวันละคำ 3,707 )

บุษกร

บาลีว่าอย่างไร

อ่านว่า บุด-สะ-กอน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บุษกร : (คำนาม) ดอกบัวสีนํ้าเงิน, บัว; ชื่อช้างตระกูลปทุมหัตถีในพรหมพงศ์. (ส. ปุษฺกร).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “บุษกร” คำสันสกฤตว่า “ปุษฺกร

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “ปุษฺกร” บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ปุษฺกร : (คำนาม) ‘ปุษกร, บุษกร,’ ฟ้า, สวรรค์, อากาศ; น้ำ; บัว; นางกวัก, จะงอยงวงช้าง; หน้ากลอง; โอษธ; นามบุณยสถานอันลือนาม; อสิธารา, ขัคฑบัตร์, ใบพร้า ( ตามแบบของพร้าทั่วไป); ฝักกระบี่, ฝักดาพ; มหาทวีปหนึ่งในจำนวนเจ็ดหรือภาคโลก; ศร; วิชาเต้นรำ, วิยาของนักฟ้อน; สงคราม, การรบ; มาท, อุนมาท, ความมึนเมา; กรง; ภาค; สมาคม; สระหรือหนองน้ำ; พยาธิ, โรค; นกกะเรียน; นามบรรพตในบุษกรทวีป; เภรี; มหาเมฆอันหนึ่ง, ซึ่งบันดาลให้เกิดทุษกาลหรือทุรภิกษาหารทั่วไป, ปรากฤตว่า – “ลมฝนแล้ง, ลมแล้ง;” อศุภวาร; the sky, heaven, atmosphere; water; a lotus; the tip of an elephant’s trunk; the head of a drum (i.e. the face or place where it is struck); a drug; the name of a celebrated place pilgrimage; the blade of sward; one of the great Dwīpas or divisions of the universe; an arrow; the art or science of dancing; war, battle; intoxication; a cage; a part; union; a pond or lake; a disease; a crane; the name a mountain in Pushkara Dwīpa; a drum; one of principal clouds, that which occasions dearth or time of famine; an unlucky day.”

ปุษฺกร” ไม่มีในรูปคำบาลี เทียบเป็นบาลีน่าจะเป็น “ปุสฺสกร” หรือ “ผุสฺสกร” แต่ในคัมภีร์บาลีผู้เขียนบาลีวันละคำก็ยังไม่เคยพบคำเช่นนี้

ปุสฺส” หรือ “ผุสฺส” ในบาลีแปลตามศัพท์ว่า (1) “ดาวที่เลี้ยงดูการกระทำ” หรือ “ดาวที่เป็นที่เลี้ยงดู” (หมายถึงดาวที่ทำให้เกิดมงคล) (2) “เดือนที่ประกอบด้วยพระจันทร์เต็มดวงคู่กับดาวปุสสะหรือดาวผุสสะ

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) บอกคำแปลว่า “ดาวปุสสะ, ดาวปุยฝ้าย ฯลฯ” เครื่องหมาย “ฯลฯ” หมายความว่า คำว่า “ปุสฺส” และ “ผุสฺส” ยังแปลได้อีกหลายอย่าง

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปุสฺส” และ “ผุสฺส” ดังนี้-

(1) N. of a month [Dec. – Jan.] (ชื่อของเดือน ผุสฺส [ธันวาคม – มกราคม]) 

(2) N. of a lunar mansion or constellation (ชื่อกลุ่มดาวของพระจันทร์)

(3) speckled, gaily-coloured, [-kokila] the spotted cuckoo (มีจุด, เป็นลาย, [-โกกิล] นกดุหว่า 

(4) clear, excellent, exquisite (ชัดเจน, เลิศ, งามหยดย้อย)

แถม :

สมัยที่ผู้เขียนบาลีวันละคำยังเป็น “วัยรุ่น” ได้ยินนามสตรีนักแสดงคนหนึ่ง จำไม่ได้ว่าเคยเห็นผลงานการแสดงเรื่องอะไรบ้าง แม้แต่หน้าตาก็จำไม่ได้ แต่ยังจำชื่อ-นามสกุลได้ไม่ลืม

สตรีนักแสดงคนนั้นชื่อ “บุษกร สาครรัตน์”

ได้ยินคำว่า “บุษกร” ตั้งแต่ยังไม่ได้เรียนบาลี

ตอนนี้เรียนบาลีแล้ว แต่ก็ยังไม่รู้ว่า “บุษกร” คำบาลีว่าอย่างไร

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เรียนบาลี

: อย่าคิดว่าไม่มีอะไรทำ

#บาลีวันละคำ (3,707)

6-8-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *