รสสุคนธ์ (บาลีวันละคำ 3,699)
รสสุคนธ์
ปนกันทั้งรสทั้งกลิ่น
อ่านว่า รด-สุ-คน
แยกศัพท์ตามที่ตาเห็นเป็น รส + สุคนธ์
(๑) “รส”
บาลีอ่านว่า ระ-สะ รากศัพท์มาจาก –
(1) รสฺ (ธาตุ = ยินดี; ติดใจ, เยื่อใย) + อ (อะ) ปัจจัย
: รสฺ + อ = รส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นที่ยินดีแห่งเหล่าสัตว์” (2) “สิ่งอันเหล่าสัตว์ติดใจ” “สิ่งเป็นเหตุติดใจ”
(2) ร (แทนศัพท์ “รม” = พอใจ) + อสฺ (ธาตุ = กิน) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ
: ร + อสฺ = รส + กฺวิ = รสกฺวิ > รส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่สัตว์พอใจกิน”
“รส” ในบาลีใช้ในความหมายหลายหลากมากกว่าที่เรารู้กันในภาษาไทย พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ รวบรวมไว้ดังนี้ –
(1) juice (น้ำผลไม้)
(2) taste as [objective] quality, the sense-object of taste (รสในฐานเป็นคุณลักษณะ [เชิงวัตถุวิสัย], รสายตนะ)
(3) sense of taste, as quality & personal accomplishment (ความรู้สึกเกี่ยวกับรสในฐานเป็นใหญ่ และความสำเร็จส่วนตน)
(4) object or act of enjoyment, sensual stimulus, material enjoyment, pleasure (วัตถุ หรือสิ่งเร้าเพื่อให้เกิดความเพลิดเพลิน, สิ่งกระตุ้นทางอารมณ์, ความเพลิดเพลินทางวัตถุ, สุขารมณ์)
(5) flavour and its substance or substratum (รสและสาระของรส หรือสิ่งที่ประกอบขึ้นมาเป็นรส)
(6) essential property, elegance, brightness (สมบัติอันเป็นสาระสำคัญ, ความสง่างาม, ความเจิดจ้า)
(7) essential property [in philosophy] (สมบัติอันเป็นสาระสำคัญ [คำเฉพาะในทางปรัชญา])
(8) fine substance, semi-solid semiliquid substance, extract, delicacy, fineness, dust (สิ่งของที่ละเอียดอ่อน, สิ่งของครึ่งแข็งครึ่งเหลว, สิ่งที่กลั่นออกจากของอื่น, ของที่แบบบาง, ความละเอียด, ละออง)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“รส : (คำนาม) สิ่งที่รู้ได้ด้วยลิ้น เช่น เปรี้ยว หวาน เค็ม ฝาด, โดยปริยายหมายถึง ความไพเราะ เช่น กลอนบทนี้ไม่มีรส. (ป., ส.).”
(๒) “สุคนธ์”
เขียนแบบบาลี “สุคนฺธ” อ่านว่า สุ-คัน-ทะ แยกศัพท์เป็น สุ + คนฺธ
(ก) “สุ” ในภาษาบาลีเป็นคำจำพวก “อุปสรรค” นักเรียนบาลีในไทยท่องจำคำแปลได้ตั้งแต่ชั้นไวยากรณ์ว่า “สุ : ดี, งาม, ง่าย”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายของ “สุ-” ไว้ว่า well, happily, thorough (ดี, อย่างมีสุข, ทั่วถึง)
(ข) “คนฺธ” อ่านว่า คัน-ทะ รากศัพท์มาจาก –
(1) คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ก ปัจจัย, แปลง คมฺ เป็น คนฺธ, ลบ ก
: คมฺ + ก = คมก > คนฺธก > คนฺธ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ไปในที่นั้นๆ ได้ด้วยลม” “สิ่งอันลมพัดพาไป”
(2) คนฺธฺ (ธาตุ = ประกาศ, ตัด) + อ (อะ) ปัจจัย
: คนฺธ + อ = คนฺธ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ประกาศฐานะของตน” (2) “สิ่งที่ตัดความเหม็นด้วยความหอม ตัดความหอมด้วยความเหม็น”
“คนฺธ – คันธ-” หมายถึง กลิ่น, ของหอม (smell, perfume)
สุ + คนฺธ = สุคนฺธ (สุ-คัน-ทะ) แปลว่า “กลิ่นดี” คือ กลิ่นหอม
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สุคนธ-, สุคนธ์, สุคันธ์ : (คำนาม) กลิ่นหอม; เครื่องหอม เช่น น้ำอบ น้ำปรุง น้ำร่ำ น้ำหอม, ราชาศัพท์ใช้ว่า เครื่องพระสุคนธ์. (ป., ส.).”
รส + สุคนฺธ = รสสุคนฺธ (ระ-สะ-สุ-คัน-ทะ) แปลว่า “รสและกลิ่นหอม”
“รสสุคนฺธ” ใช้แบบไทยเป็น “รสสุคนธ์”
โปรดทราบว่า นี่เป็นการ “ลากเข้าบาลี” เท่านั้น ในคัมภีร์บาลีพบศัพท์ว่า “รสสุคนฺธ” แต่ใช้ในความหมายปกติ ไม่ใช่เป็นชื่อเฉพาะของดอกไม้หรือพืชใดๆ
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“รสสุคนธ์ : (คำนาม) ชื่อไม้เถาชนิด Tetracera loureiroi (Finet et Gagnep.) Pierre ex Craib ในวงศ์ Dilleniaceae ดอกสีขาว ออกเป็นช่อ กลิ่นหอม, เสาวคนธ์ ก็เรียก.”
จากพจนานุกรมฯ เรารู้แต่เพียงว่า คำว่า “รสสุคนธ์” เป็นชื่อไม้เถาชนิดหนึ่งเท่านั้น แต่ทำไมจึงชื่อเช่นนี้ และผู้ตั้งชื่อนี้มีเจตนาจะให้มีความหมายว่าอย่างไร เรายังไม่รู้ เป็นภาระของผู้ปรารถนาจะรู้ที่จะต้องศึกษาสืบค้นกันต่อไป
ในภาษาไทยมีคำที่ล้อกับ “รสสุคนธ์” คือคำว่า “สุคนธรส” (สุ-คน-ทะ-รด) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สุคนธรส, สุคันธรส : (คำนาม) กลิ่นหอม, ของหอม, เครื่องหอม.”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เราไม่สามารถรู้จักอะไรได้หมดทุกอย่าง
: แต่เราสามารถรู้จักตัวเราเองได้หมดทุกอย่าง
#บาลีวันละคำ (3,699)
29-7-65
…………………………….
…………………………….