บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

จากแนวคิดเลิกใช้เลขไทย 

จากแนวคิดเลิกใช้เลขไทย 

—————————-

ต่อไปก็-เลิกใช้ภาษาไทย

ใครลืมหรือยังครับ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีกระแสที่เอามาพูดกันว่า มีผู้เสนอให้เลิกใช้เลขไทย เอะอะกันอยู่พักหนึ่ง แล้วก็เงียบไป ตอนนี้ก็ไม่มีใครรู้ว่าแนวคิดเลิกใช้เลขไทยไปถึงไหนแล้ว

ทำอย่างไรเราจึงสร้างนิสัย “กัดไม่ปล่อย” ในทางวิชาการกันบ้าง

กัดไม่ปล่อยในทางวิชาการ-หมายความว่า เกิดเรื่องอะไรที่น่าสนใจขึ้นมา จะมีคนสืบเสาะเกาะติดคิดค้นจนได้ข้อยุติที่สมบูรณ์ในเรื่องนั้นๆ สามารถนำไปอ้างอิงหรือใช้เป็นฐานข้อมูลพัฒนาอะไรต่อมิอะไรขึ้นมาได้ต่อไปอีกมากมาย

แนวคิดเลิกใช้เลขไทยนี่ก็เหมือนกัน หันหน้าไปถามใครก็ได้คำตอบตรงกันคือ เอ ยังไงก็ไม่ทราบ ไม่ได้ตามเรื่อง

ตอนนั้น ผมไม่ได้แสดงความคิดเห็นในเนื้อหาเพราะยังไม่เห็นต้นเรื่อง เพียงแต่แสดงความเห็นต่อสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น

…………………………………………..

ยิงผิดตัว ตีหัวผิดคน

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/pfbid02mS6TPGgo3ZRYzqhv73hy2eVopqsvNT3mpNoz2ouAQBYLRYgm7A89ncvFGA8pKicQl

…………………………………………..

หลังจากนั้นก็พอจะประมวลต้นเรื่องได้บ้าง

เรื่องเกิดจากการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๕ คนมีหน้าที่จัดทำข้อมูลเกี่ยวกับคะแนน พบกับปัญหาเนื่องจากอุปกรณ์ดิจิตอลที่ใช้งานเป็นระบบที่อ่านเฉพาะเลขอารบิก แต่เอกสารที่กรอกคะแนนของทางราชการใช้เลขไทย ผู้ปฏิบัติงานต้องเสียเวลาไปเป็นอันมากเพื่อเปลี่ยนเลขไทยเป็นเลขอารบิกเพื่อให้ระบบอ่านได้

ผู้ประสบปัญหาจึงเสนอขึ้นมาว่า เอกสารของทางราชการควรใช้เลขอารบิก – นี่คือต้นเรื่อง

โปรดสังเกตนะครับว่า ผู้เสนอบอกว่า ควรใช้เลขอารบิกในเอกสารของทางราชการ หรือบอกว่าไม่ควรใช้เลขไทยในเอกสารของทางราชการ แต่ให้ใช้เลขอารบิก

ไม่ได้บอกว่า ให้ประเทศไทยหรือคนไทยเลิกใช้เลขไทย

เหตุผลที่เสนอให้ใช้เลขอารบิกในเอกสารของทางราชการก็มีเพียงอย่างเดียว คือระบบดิจิตอลจะได้อ่านได้ เพราะระบบดิจิตอลมันไม่อ่านเลขไทย

ต่อจากนั้นก็มีคนพลอยผสมไปด้วยว่า ควรเลิกใช้ปีพุทธศักราชเสียด้วย เพราะระบบมันอ่านเฉพาะปีคริสต์ศักราช จะได้ไม่ต้องเสียเวลาแปลง พ.ศ.ให้เป็น ค.ศ.

ต้นเรื่องว่าอย่างนี้ 

แต่ที่เอาไปวิพากษ์วิจารณ์กันว่าไปอีกอย่างหนึ่ง 

ว่าไปถึงความสำคัญของเลขไทย 

ว่าไปถึงประวัติเลขไทย 

ว่าไปถึงความสำคัญของภาษาไทย 

ว่าไปถึงความสำคัญของการใช้ปีพุทธศักราช

แต่ไม่มีใครพูดถึงตัวปัญหา-เลขไทยและปี พ.ศ. มีปัญหาเมื่อเข้าสู่ระบบดิจิตอล ควรแก้ปัญหาอย่างไร

ไม่ได้ยินใครเอยถึงสักแอะเดียว

ปัญหาเกิดขึ้นอย่างหนึ่ง

เอามาบอกกันเป็นอีกอย่างหนึ่ง

วิพากษ์วิจารณ์กันไปอีกอย่างหนึ่ง

แล้วตกลงจะแก้ปัญหากันอย่างไร-ไม่รู้

นี่คือสภาพที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมการสื่อสารของเรา

…………………

ต่อไปนี้เป็นความเห็นของผม-เลขไทยและปี พ.ศ. มีปัญหาเมื่อเข้าสู่ระบบดิจิตอล ควรแก้ปัญหาอย่างไร

ระบบดิจิตอลที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ กลไกหรือ code ที่สร้างขึ้น คนสร้างเขากำหนดให้ระบบอ่านเฉพาะเลขอารบิก ถ้าเป็นวันเดือนปีก็กำหนดให้อ่านเฉพาะปีคริสต์ศักราช ซึ่งก็เป็นเหตุผลธรรมดา เพราะกลไกดิจิตอลมาจากฝรั่งหรือมาจากคนที่อยู่ใต้อิทธิพลฝรั่ง กล่าวคือ ภาษาก็ต้องเป็นภาษาอังกฤษ ตัวเลขก็ต้องเป็นเลขอารบิก ปีก็ต้องเป็น ค.ศ. ก็คือที่เรายอมรับกันว่าเป็นสากล ใช้แบบเดียวกันทั่วโลก

คำถามคือ เราจะละลายตัวเองเพื่อให้ไหลไปตามวัฒนธรรมสากล หรือว่าเราจะยืนหยัดรักษาเอกลักษณ์อัตลักษณ์ของเราไว้

คงมีคนเป็นอันมากบอกว่า อะไรที่จำเป็นต้องไหลไปตามสากลเราก็ต้องยอมละลายตัวเอง แต่อะไรที่เป็นเอกลักษณ์อัตลักษณ์ที่ดีงามของเรา ก็ต้องยืนหยัดรักษาไว้

ตอบอย่างนี้ ปัญหาก็จะไปตกหนักที่-อะไรบ้างล่ะที่เป็นเอกลักษณ์อัตลักษณ์ที่ดีงามของเราที่จะต้องยืนหยัดรักษาไว้ 

เรามีภาพในใจที่เลือนราง แต่รายละเอียดคืออะไรบ้าง ยังไม่มีใครทำบัญชีไว้ 

หน่วยงานที่ควรรับผิดชอบตอบปัญหานี้คือกระทรวงวัฒนธรรม

แต่ผมไม่แน่ใจว่า ตั้งแต่ตัวรัฐมนตรีว่าการลงมาจนถึงนักการคนสุดท้ายของกระทรวงเคยเห็นบัญชีรายการเอกลักษณ์อัตลักษณ์ที่ดีงามของเราที่จะต้องยืนหยัดรักษาไว้บ้างหรือเปล่า

ถ้าพูดอย่างนี้ฟังยาก ก็พูดใหม่ 

ในสถาบันการศึกษาของเรา เรากำลังปลูกฝังสั่งสอนอบรมกล่อมเกลาให้เด็กไทยและเยาวชนไทยประพฤติปฏิบัติอะไรในชีวิตประจำวันอันแสดงออกถึงเอกลักษณ์อัตลักษณ์ที่ดีงามของเราที่จะต้องยืนหยัดรักษาไว้กันบ้างหรือเปล่า?

หรือว่าเราปล่อยให้ลอยไหลไปตามวัฒนธรรมสากลกันจนหมดสิ้น

…………………

ความคิดของผมก็คือ แทนที่จะคิดแก้ปัญหาระบบดิจิตอลที่ไม่อ่านเลขไทยด้วยการเลิกการใช้เลขไทย ทำไมไม่คิดแก้ปัญหาด้วยการปรับแก้ระบบดิจิตอลให้มันอ่านเลขไทยได้

เมื่อผมโพสต์เรื่องเกี่ยวกับกรณีให้เลิกใช้เลขไทยที่เอะอะกันอยู่ในตอนนั้น มีญาติมิตรท่านหนึ่งแสดงความคิดเห็นท้ายโพสต์ว่า

…………………………………………..

คราวหนึ่งโปรแกรมเมอร์คนหนึ่ง อายุยังไม่ถึงสามสิบปี เคยปรารภเรื่องตัวเลขว่า น่าจะใช้เลขอารบิกอย่างเดียว ใช้ ค.ศ. แทน พ.ศ. ด้วยยิ่งดี จะได้เขียนโค๊ดดิ้งง่าย

ผมพูดกับเขาว่า ทำไมไม่มองในมุมที่มันท้าทายล่ะ คนเขียนโค้ดดิ้งให้อ่านเลขไทย อ่าน พ.ศ.ได้ด้วย จะไม่เจ๋งกว่าคนเขียนได้แต่เลขอารบิก แต่ ค.ศ. หรือ?

เขาก็ไม่ได้เถียง แถมยอมรับและพูดว่า “เออจริง ผมลืมไป”

ในกรณีนี้ ก็คงแบบเดียวกัน

: นายตะวัน นาคกนิษฐ

…………………………………………..

การแก้ปัญหาด้วยวิธียอมละลายตัวเองไหลเข้าไปในระบบของอีกฝ่ายหนึ่งนี้ เวลานี้แม้แต่ในวงการพระสงฆ์ก็นิยมทำกันมาก

เช่น ชื่อ-พระมหาทองย้อย วรกวินฺโท ถ้าเอาไปเข้าระบบทะเบียนราษฎร์ของทางราชการ ระบบจะบันทึกออกมาว่า

“นาย พระมหาทองย้อย วรกวินฺโท” 

ระบบมันไม่รับรู้สถานะ “พระมหา” ใดๆ ทั้งสิ้น เพราะคนเขียนโปรแกรมสร้างระบบออกมาแบบนี้

ตัวอย่างข้างต้นนี้เป็นแต่เพียงได้ยินมา แต่ยังไม่เคยเห็นของจริง ที่เห็นของจริงแล้วก็คือ พระภิกษุสามเณรอาพาธ ถ้าเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลของทางราชการ (และน่าจะของเอกชนด้วย) ต้องถอดจีวรออก แต่งชุดคนไข้ของโรงพยาบาล หมอ+พยาบาลที่เป็นผู้หญิงจับตัวพระเณรอาพาธ หมอสั่งให้ฉันอาหารมื้อเย็น ฯลฯ โรงพยาบาลไม่รับรู้หลักพระวินัยสิกขาบทใดๆ ทั้งสิ้น 

และพระภิกษุสามเณรสมัยนี้ก็ยอมไหลตามระบบกันอย่างหน้าชื่นตาบาน

เหตุผลที่อ้างได้ตลอดไตรภูมิก็คือ รักษาชีวิตไว้ก่อน เรื่องอื่นว่ากันทีหลัง – ทุกฝ่ายยอมสยบกับเหตุผลนี้

คำสั่งหมอจึงศักดิ์สิทธิ์กว่าคำสั่งพระพุทธเจ้า

เพราะอย่างนี้แหละ พระสมัยเก่า เมื่ออาพาธจึงแสดงแนวทางปฏิบัติไว้อย่างหนึ่ง นั่นคือ “สึกไปรักษาตัว” เพราะไม่ยอมให้คำสั่งหมออยู่เหนือคำสั่งพระพุทธเจ้า

แนวทาง “สึกไปรักษาตัว” นี้ พระสมัยใหม่ไม่รู้จักกันแล้ว เหลืออยู่แต่ในตำนาน

อีกตัวอย่างหนึ่ง กิจกรรมที่จัดเป็นสากล ผู้เข้าร่วมกิจกรรมถูกกำหนดให้มีป้ายแสดงตนคล้องคอ เราจะเห็นกันบ่อยๆ ว่า พระสงฆ์ไทยเวลาเข้าร่วมกิจกรรมเช่นนั้นก็จะมีป้ายห้อยคอเช่นเดียวกับผู้เข้าร่วมกิจกรรมคนอื่นๆ 

เป็นเรื่องที่ดูเล็กน้อยเต็มที ไม่ได้เสียหายอะไรเลย (คิดกันอย่างนั้น) แต่นี่คือตัวอย่างที่เราละลายตัวเองเพื่อให้ไหลไปกับวัฒนธรรมสากล

ถ้าทำเรื่องหนึ่งได้ ต่อไปเรื่องอื่นๆ ก็จะตามมาอีกเรื่อยๆ

เช่นเดียวกับกรณีแนวคิดให้ใช้เลขอารบิกในเอกสารของทางราชการ-ซึ่งก็คือให้เลิกใช้เลขไทย ถ้าเห็นดีเห็นงาม-อ้างความจำเป็นกันได้เรื่องหนึ่ง ต่อไปเรื่องอื่นๆ ก็จะตามมา

ตอนนี้ก็-ให้ใช้เลขอารบิก เลิกใช้เลขไทย

ตอนนี้ก็-เฉพาะเอกสารของทางราชการ

ต่อไปก็-ทั้งเอกสารของทางราชการและของเอกชน และรวมไปถึงประชาชนทั่วไป 

ใครใช้เลขไทย ไม่รับติดต่อราชการ

ต่อไปก็-ให้เลิกใช้ภาษาไทย ให้ใช้ภาษาอังกฤษ 

ต่อไปอีก-ประกาศให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาของทางราชการ

ใครใช้ภาษาไทย ไม่รับติดต่อราชการ

ถ้ายังเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ในที่สุด อะไรที่เป็นเอกลักษณ์อัตลักษณ์ที่ดีงามของก็จะค่อยๆ หมดไป 

ไม่ใช่เฉพาะเลขไทย ภาษาไทย ที่เราแก้ปัญหาด้วยวิธียอมสยบให้ระบบดิจิตอล

แต่หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นไทยก็จะหมดไปด้วย

ถ้าเราพอใจที่จะให้เป็นอย่างนั้น ก็ไม่ต้องทำอะไร ไหลตามระบบดิจิตอลไปวันๆ สบายดีอย่างยิ่ง

แต่ถ้ายังรักความเป็นไทย ก็ต้องเริ่มคิดวิ่งนำหน้าระบบดิจิตอล ไม่ใช่ไหลตามระบบอย่างที่กำลังเป็นอยู่

เริ่มคิดวันนี้เลยก็ยังทัน-เพราะเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๙ กรกฎาคม ๒๕๖๕

๑๓:๔๒

……………………………………………..

จากแนวคิดเลิกใช้เลขไทย 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *