ตัวโรมัน
ตัวโรมัน
——–
เมื่อวาน (๒๙ กรกฎาคม ๒๕๖๕) เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ ผมเขียนถึงกรณีที่ระบบดิจิตอลไม่อ่านข้อมูลที่เป็นเลขไทย ผู้ประสบปัญหาจึงเสนอวิธีแก้ปัญหาด้วยการให้ใช้เลขอารบิกในเอกสารของทางราชการเพื่อระบบดิจิตอลจะได้ทำงานคล่องตัว เพราะถ้าใช้เลขไทยก็จะต้องแปลงข้อมูลเป็นเลขอารบิกอีกทีหนึ่งซึ่งเสียเวลามาก
……………………………………………..
จากแนวคิดเลิกใช้เลขไทย
……………………………………………..
กรณีนี้เอามาพูดกันไม่หมดเปลือก คือพูดแต่เพียงว่า-จะให้เลิกใช้เลขไทย แต่เหตุผลที่ให้เลิกใช้คืออะไรไม่ได้เอามาพูด เรื่องเลยกลายเป็นว่าคนเสนอเรื่องนี้ถูกมองว่าไม่เห็นความสำคัญของเลขไทย ไม่รักเลขไทย ไม่รักภาษาไทย-ไปโน่น
พอคิดถึงภาษาไทย ความคิดก็จะแลบไปถึงภาษาอังกฤษ แล้วก็ลามต่อไปถึงวัฒนธรรมฝรั่ง
ระบบดิจิตอลเป็นวิทยาการที่มาจากวัฒนธรรมฝรั่ง คนสร้างระบบก็สร้างกลไกอุปกรณ์ที่รองรับวัฒนธรรมฝรั่ง ที่เห็นชัดๆ ก็เช่นข้อมูลต้องเป็นภาษาอังกฤษ เลขอารบิก ปีคริสต์ศักราช อย่างนี้เป็นต้น
เวลานี้เรารับเอาระบบดิจิตอลมาใช้โดยวิธียอมจำนนกับระบบ ระบบให้ใส่ข้อมูลแบบไหน เราก็ต้องปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมของเราให้เข้ากับวัฒนธรรมของระบบ
ระบบบอกให้กรอกข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษ เราก็ต้องแปลหรือแปลงภาษาไทยเป็นอังกฤษ
ระบบบอกให้กรอกข้อมูลเป็นเลขอารบิก เราก็ต้องใช้เลขอารบิก ซึ่งนั่นก็เท่ากับต้องเลิกใช้เลขไทย
พอถึงการระบุปี ระบบบอกให้กรอกข้อมูลเป็นปีคริสต์ศักราช เราก็ต้องใช้ปีคริสต์ศักราช ซึ่งนั่นก็เท่ากับต้องเลิกใช้ปีพุทธศักราช
นี่คือระบบดิจิตอลที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของเรา ซึ่งอาจจะมีผลกระทบในวงกว้างเกินคาดคิด คือเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเราด้วย
ที่เห็นชัดๆ ใกล้ตัวก็อย่างเช่น-ชื่อของชาวเฟซบุ๊กนี่เอง
ผมสังเกตเห็นว่า แรกที่เฟซบุ๊กปรากฏตัวในสังคมไทย ชื่อเจ้าของบ้านซึ่งเป็นชื่อไทยคำไทย ใช้ตัวอักษรไทยกันโดยมาก
แต่ครั้นกาลเวลาผ่านไปไม่นาน ชื่อไทยคำไทยเหล่านั้นก็กลายเป็น “ภาษาอังกฤษ” กันไปหมด
ผมเขียนคำว่า “ภาษาอังกฤษ” อยู่ในเครื่องหมายคำพูด เป็นการเตือนว่าเป็นคำที่เราพูดกันด้วยความเข้าใจผิด หรือพูดตรงๆ ว่า-พูดด้วยความไม่รู้ไม่เข้าใจ
คือ เวลานี้คนไทยเห็นตัวหนังสือที่ฝรั่งใช้หรือที่เขียนเป็นภาษาฝรั่ง เราจะเรียกว่า “ภาษาอังกฤษ” ทันที แล้วก็พากันเข้าใจอย่างนั้นกันทั่วไปหมด
ผมเข้าใจว่า เดี๋ยวนี้เราไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่างคำว่า “ภาษา” กับคำว่า “อักษร”
เรื่องนี้เป็นวิชาการเล็กน้อย กล่าวคือ “อักษร” เป็นส่วนหนึ่งของ “ภาษา” ซึ่งอาจจะพูดคลุมๆ ไปได้ว่า อักษรก็คือภาษา
แต่อักษรกับภาษาก็มีส่วนที่แตกต่างและแบ่งเขตกันชัดเจน
“อักษร” คือลายลักษณ์ที่กำหนดรู้กันว่า ลายลักษณ์รูปร่างอย่างนี้หมายถึงอะไร ถ้าอ่านออกมาเป็นเสียง ต้องออกเสียงว่าอย่างไร
ส่วน “ภาษา” คือความหมายของลายลักษณ์อักษรตัวนั้นๆ หรือความหมายของเสียงที่เปล่งออกมาว่าอย่างนั้นๆ รวมไปถึงความหมายของกิริยาท่าทางที่ทำอย่างนั้นๆ
ตัวอย่างเช่น “ทองย้อย” – นี่คืออักษรไทย และภาษาไทย
แต่พอเขียนเป็น “Thongyoi” – ถามว่านี่คืออะไร เด็กไทยสมัยนี้จะตอบทันทีว่า “ภาษาอังกฤษ” และทุกคนจะยืนยันว่านี่คือภาษาอังกฤษ
และนี่คือผมบอกว่า – เป็นคำที่เราพูดกันด้วยความเข้าใจผิด หรือพูดตรงๆ ว่า-พูดด้วยความไม่รู้ไม่เข้าใจ
ความเป็นจริงตามหลักวิชาก็คือ “Thongyoi” เป็นคำที่เขียนเป็นอักษรที่ใช้เขียนภาษาอังกฤษ
แต่ “Thongyoi” ไม่ใช่ “ภาษาอังกฤษ”
“Thongyoi” ยังคงเป็นภาษาไทย
เอาคำว่า “Thongyoi” ไปถามฝรั่งอังกฤษหรือใครที่รู้ภาษาอังกฤษว่าแปลว่าอะไร จะไม่มีใครตอบได้ นั่นเพราะ “Thongyoi” ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ
แม้หากจะมีภาษาอังกฤษที่เขียนอย่างนี้จริง ภาษาอังกฤษคำนั้นก็จะไม่ได้หมายถึง “ทองย้อย”
การเอาคำภาษาหนึ่งไปเขียนเป็นอักษรที่ใช้เขียนภาษาอังกฤษ มีคำเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Romanization หมายถึง ทำให้เป็นแบบโรมัน หรือเปลี่ยนใช้อักษรโรมัน
การเอาไปทำให้เป็นโรมัน หรือ Romanization นี่แหละที่คนไทยเรียกกันผิดๆ ว่า “ภาษาอังกฤษ”
ผมขอเสนอให้เลิกเรียกแบบนั้น
และขอเสนอให้ใช้คำว่า “ตัวโรมัน”
ถามว่า “Thongyoi Sangsinchai” คืออะไร
ตอบว่า คือภาษาไทยตัวโรมัน
ไม่ใช่ “ภาษาอังกฤษ”
ขออีกสักตัวอย่าง เพื่อให้ชัดยิ่งขึ้น
“นะโม” เป็นภาษาบาลี อักษรไทย
“นะโม” เขียนเป็นตัวโรมัน = “namo”
“namo” เป็นภาษาอะไร
อยากตอบว่า “ภาษาอังกฤษ” ละสิ
ไม่ใช่
“namo” – เป็นภาษาบาลีตัวโรมัน
เข้าใจหรือยังว่า “อักษร” กับ “ภาษา” ต่างกันอย่างไร
…………………
ทีนี้ก็ย้อนกลับไปที่ประเด็นที่ทิ้งไว้ข้างต้นที่ว่า – ผมสังเกตเห็นว่า แรกที่เฟซบุ๊กปรากฏตัวในสังคมไทย ชื่อเจ้าของบ้านซึ่งเป็นชื่อไทยคำไทย ใช้ตัวอักษรไทยกันโดยมาก
แต่ครั้นกาลเวลาผ่านไปไม่นาน ชื่อไทยคำไทยเหล่านั้นก็กลายเป็น “ตัวโรมัน” กันไปหมด
ยกตัวอย่าง “เพื่อน” บางท่าน –
พระมหารุ่งอรุณ อรุณโชติ – แรกๆ เขียนแบบนี้
แต่ตอนนี้กลายเป็น Rungarun Wongpitak
ธงทอง จันทรางศุ – แรกๆ เขียนแบบนี้
แต่ตอนนี้กลายเป็น Tongthong Chandransu
กราบขออภัยที่ยกนามมาเอ่ยอ้างโดยไม่ได้ขออนุญาต
…………………
ถามว่าทำไมจึงเป็นอย่างนี้?
ตามที่ผมเข้าใจ ผมเข้าใจว่าท่านเจ้าของชื่อทั้งหลายคงไม่ได้คิดอ่านเปลี่ยนวิธีเขียนชื่อของตนจากอักษรไทยเป็นตัวโรมันขึ้นมาด้วยตัวเองด้วยความยินดีปรีดา
หากแต่น่าจะเป็นอะไรสักอย่างที่ขอเรียกรวมๆ โดยใช้คำว่า “ระบบดิจิตอล” มันบังคับให้ทำ
เช่นอยู่มาวันหนึ่ง บ้านเดิม (หมายถึงหน้าเฟซบุ๊กเดิม) ถูกปิด เปิดไม่ได้ ต้องสร้างหน้าเฟซใหม่ เฟซใหม่หรือบ้านใหม่บังคับให้ใช้ชื่อเป็นตัวโรมัน ก็เลยจำเป็นต้องใช้ชื่อเป็นตัวโรมันไปตามๆ กัน
ผมเองยังใช้ชื่อเป็นอักษรไทยอยู่ ไม่รู้ว่าวันไหนจะเจอชะตากรรม ถูกบังคับให้เปลี่ยนเป็นตัวโรมัน
และผมคาดว่า ในอนาคต จะไม่ใช่เฉพาะ “อักษร” เท่านั้น หากแต่ถ้อยคำภาษาที่ใช้สื่อสารกันในเฟซบุ๊กก็จะถูกระบบดิจิตอลบังคับให้ใช้เป็นภาษาอังกฤษด้วย
ตอนนี้ก็ยังอยู่ในวงเฟซบุ๊ก แต่ในอนาคตจะขยายออกไปในทุกๆ วง
ถึงตอนนั้น อักษรและภาษาต่างๆ ในโลกนี้ก็จะสูญหมด เหลือแต่ภาษาอังกฤษภาษาเดียว
และจะไม่ใช่เฉพาะภาษาอย่างเดียว วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต เอกลักษณ์อัตลักษณ์ของมนุษย์แต่ละเผ่าพันธุ์ก็จะสูญหมด เหลือแต่สิ่งที่ระบบมันกำหนดให้มี
ถึงตอนนี้ แฟนเก่าก็คงจะเข้ามาบอกว่า ทุกอย่างเป็นอนิจจัง พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ปล่อยวาง ภาษาเป็นสิ่งสมมุติ ไม่ควรยึดติด
…………………
ผมก็แค่อยากชวนคิดว่า ระบบดิจิตอลมันไม่ได้เกิดเอง-เหมือนฝนตก แดดออก น้ำขึ้นน้ำลง หากแต่มีคนกำหนดระบบขึ้นมา
เขาใช้ความคิดกำหนดระบบขึ้นมา
แต่อะไรล่ะที่เป็นตัวกำหนดความคิดของเขา
เราไม่สงสัยกันบ้างเลยหรือ?
ถ้าเรายอมสยบให้กับความคิดของใครบางคนบางกลุ่ม โดยไม่คิดจะคิดอะไรเอง ก็แปลว่า มนุษย์เราไม่ได้เจริญขึ้นเลย ยังจมอยู่กับระบบทาสเหมือนเมื่อสมัยดึกดำบรรพ์นั่นเอง
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๕
๑๐:๑๒
……………………………………………
ตัวโรมัน
…………………………….
…………………………….