บาลีวันละคำ

ตุลาการ (บาลีวันละคำ 491)

ตุลาการ

อ่านว่า ตุ-ลา-กาน

ประกอบด้วยคำว่า ตุลา + การ

ตุลา” แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องกะกำหนดให้เหมาะสม” หมายถึง คันชั่ง, เครื่องชั่ง, ตราชู, การชั่ง, การประเมิน, การพิจารณา, การใคร่ครวญ, การเปรียบเทียบแล้วตัดสิน

เฉพาะในที่นี้ “ตุลา” หมายถึง การพิจารณาเปรียบเทียบแล้วตัดสิน

การ” รากศัพท์คือ กรฺ ธาตุ ยืดเสียงเป็น การ แปลว่า การกระทำ, กิริยาอาการ, วิธีทำ, การบริการ, (ดูรายละเอียดที่คำว่า “บริการ”)

เฉพาะในที่นี้ “การ” แปลว่า ผู้ทำ ผู้จัดการ, ผู้ดำเนินการ, ผู้ปฏิบัติการ  

คำเทียบ เช่น

– “กุมภการ” ผู้ทำหม้อ = ช่างปั้นหม้อ

– “มาลาการ” ผู้ทำดอกไม้ = คนจัดดอกไม้

ดังนั้น ตุลา + การ = ตุลาการ = “ผู้ทำตาชั่ง” จึงมีความหมายว่า ผู้ทำหน้าที่พิจารณาเปรียบเทียบแล้วตัดสินให้มีความเที่ยงตรงประดุจยกขึ้นวางบนตาชั่ง

พจน.42 บอกไว้ว่า –

ตุลาการ : ผู้มีอํานาจและหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี”

ท่านสาธุชนผู้เจริญพึงสดับ :

มรรคนายกเปิดร้านขายสุรา ไม่ผิดกฎหมาย

แต่ในฐานะเป็นมรรคนายก ย่อมไม่เหมาะสม ฉันใด

ตุลาการทำการด้วยความโลภลาภ แม้ไม่ผิดกฎหมาย

แต่ในฐานะเป็นตุลาการ ก็ย่อมไม่สง่างาม ฉันนั้น

18-9-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย