บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

คิดเฟื่องเรื่องอยู่ปริวาส (๕)-จบ

คิดเฟื่องเรื่องอยู่ปริวาส (๕)-จบ

————————

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) มีคำว่า “ปริวาส” และคำที่เกี่ยวข้องหลายคำ ขอยกมาเสนอรวมไว้ในที่นี้เพื่อความสะดวกในการศึกษาต่อไป

……………………………

ปริวาส 

……………………………

“อยู่รอบ”, อยู่ครบ, อยู่จบ, อยู่ปรับตัวให้พร้อม, อยู่พอจนได้ที่, บ่มตัว, อบ, หมกอยู่ 

1. ในพระวินัย แปลกันมาว่า “อยู่กรรม” หรืออยู่ชดใช้, เป็นชื่อวุฏฐานวิธี (ระเบียบปฏิบัติสำหรับการออกจากครุกาบัติ) อย่างหนึ่ง ซึ่งภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วปกปิดไว้ จะต้องประพฤติ เป็นการลงโทษตนเองชดใช้ให้ครบเท่าจำนวนวันที่ปิดอาบัติ ก่อนที่จะประพฤติมานัตอันเป็นขั้นตอนปกติของการออกจากอาบัติต่อไป, ระหว่างอยู่ปริวาส ต้องประพฤติวัตรต่างๆ เช่น งดใช้สิทธิบางอย่าง ลดฐานะของตน และประจานตัว เป็นต้น; ปริวาส มี ๓ อย่าง คือ ปฏิจฉันนปริวาส สโมธานปริวาส และ สุทธันตปริวาส

มีปริวาสอีกอย่างหนึ่งสำหรับนักบวชนอกศาสนา จะต้องประพฤติ เป็นการปรับตัวให้พร้อมก่อนที่จะบวชในพระธรรมวินัย เรียกว่า ติตถิยปริวาส ซึ่งท่านจัดเป็น อปฏิจฉันนปริวาส (เมื่อเทียบกับติตถิยปริวาสนี้บางทีเรียกปริวาสของภิกษุเพื่อออกจากอาบัติสังฆาทิเสสข้างต้นนั้นว่า “อาปัตติปริวาส”); ดู ติตถิยปริวาส 

2. ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถาลงมา ท่านนำคำว่า “ปริวาส” ตามความหมายสามัญข้างต้นมาใช้อธิบายธรรม เพื่อช่วยให้เข้าใจง่ายขึ้น ตั้งแต่เรื่องพื้นๆ ไปจนถึงหลักธรรมที่ลึกซึ้ง เช่น อาหารที่บริโภคเข้าไปแล้ว มีปริวาส คือการค้างรวมกันอยู่ในท้องจนย่อยเสร็จ, การอบเครื่องใช้หรือที่อยู่อาศัยด้วยกลิ่นหอมของดอกไม้เป็นต้น ก็เป็นปริวาส, การเรียนมนต์โดยอยู่กับกิจกรรมที่เกี่ยวกับมนต์นั้น เช่น สาธยาย พิจารณา ทำความเข้าใจ จนจบรอบหรือเข้าถึง เรียกว่ามนตปริวาส, ในสมถภาวนา ผู้เจริญฌาน จะก้าวจากอุปจารสมาธิขึ้นสู่ปฐมฌาน หรือก้าวจากฌานที่ต่ำกว่าขึ้นสู่ฌานชั้นที่สูงขึ้นไป คือมีองค์ฌานชั้นที่สูงต่อขึ้นไปนั้นปรากฏ โดยอยู่จบรอบอัปปนาสมาธิ (หรือบ่มอัปปนาสมาธิจนได้ที่) เรียกว่าอัปปนาปริวาส, ในการเจริญวิปัสสนา ผู้ปฏิบัติจะยังมรรคให้เกิดขึ้น โดยอยู่จบรอบวิปัสสนา (หรือบ่มวิปัสสนาจนได้ที่) เรียกว่า วิปัสสนาปริวาส, ในการทำงานของจิตซึ่งดำเนินไปโดยจิตขึ้นสู่วิถีและตกภวังค์ แล้วขึ้นสู่วิถีและตกภวังค์ เป็นอย่างนี้ต่อเนื่องไปนั้น ช่วงเวลาที่จิตอยู่ในภวังค์จนขึ้นสู่วิถีอีก เรียกว่าภวังคปริวาส (บุคคลทั้งหลายมีภวังคปริวาส หรือช่วงพักภวังค์นี้ ยาวหรือสั้น เร็วหรือช้า ไม่เหมือนกัน ผู้ที่มีภวังคปริวาสสั้นรวดเร็ว จะรับรู้และคิดการต่างๆ ได้แคล่วคล่องรวดเร็ว จนดูเหมือนว่าทำอะไรๆ ได้หลายอย่างในเวลาเดียวกัน เช่น พระพุทธเจ้าทรงมีภวังคปริวาสชั่ววิบแวบ แม้จะมีผู้ทูลถามปัญหาพร้อมกันหลายคน ก็ทรงทราบความได้ทันทั้งหมด และทรงจัดลำดับคำตอบได้เหมาะจังหวะแก่ทุกคน)

……………………………

ปฏิจฉันนปริวาส 

……………………………

ปริวาสเพื่อครุกาบัติที่ปิดไว้, ปริวาสที่ภิกษุผู้ปรารถนาจะออกจากอาบัติสังฆาทิเสสอยู่ใช้เพื่ออาบัติที่ปิดไว้ ซึ่งนับวันได้เป็นจำนวนเดียว

……………………………

สโมธานปริวาส 

……………………………

ปริวาสแบบประมวลเข้าด้วยกัน คือปริวาสที่ภิกษุต้องอาบัติสังฆาทิเสสต่างคราว มีจำนวนวันปิดต่างกันบ้าง ไม่ต่างบ้าง ปรารถนาจะออกจากอาบัตินั้น จึงอยู่ปริวาสโดยประมวลอาบัติและราตรีเข้าด้วยกัน จำแนกเป็น ๓ อย่าง คือ ๑. โอธานสโมธาน สำหรับอาบัติมากกว่าหนึ่งแต่ปิดไว้นานเท่ากัน เช่นต้องอาบัติ ๒ คราว ปิดไว้คราวละ ๕ วัน ประมวลเข้าด้วยกัน อยู่ปริวาส ๕ วัน ๒. อัคฆสโมธาน สำหรับอาบัติมากกว่าหนึ่งและปิดไว้นานไม่เท่ากัน เช่น ต้องอาบัติ ๓ คราว ปิดไว้ ๓ วันบ้าง ๕ วันบ้าง ๗ วันบ้าง ประมวลเข้าด้วยกันอยู่ปริวาสเท่าจำนวนวันที่มากที่สุด (คือ ๗ วัน) ๓. มิสสกสโมธาน สำหรับอาบัติที่ต่างวัตถุกัน (เช่น กายสังสัคคะก็มี ทุฏฐุลลวาจาก็มี สัญจริตตะก็มี) มีวันปิดเท่ากันบ้าง ไม่เท่ากันบ้าง ประมวลเข้าด้วยกัน อยู่ปริวาสรวมเป็นคราวเดียว

……………………………

โอธานสโมธาน 

……………………………

ชื่อปริวาสประเภทสโมธานปริวาสอย่างหนึ่ง ใช้สำหรับอาบัติสังฆาทิเสสที่ต้องหลายคราวแต่มีจำนวนวันที่ปิดไว้เท่ากัน เช่น ต้องอาบัติ ๒ คราว ปิดไว้คราวละ ๕ วัน ให้ขอปริวาสรวมอาบัติและราตรีเข้าด้วยกันเพื่ออยู่เพียง ๕ วันเท่านั้น, (แต่ตามนัยอรรถกถาท่านแก้ว่า สำหรับอันตราบัติมีวันปิดที่ประมวลเข้ากับอาบัติเดิม); ดู สโมธานปริวาส 

……………………………

อัคฆสโมธาน 

……………………………

การประมวลโดยค่า, เป็นชื่อปริวาสที่ภิกษุผู้ปรารถนาจะออกจากอาบัติสังฆาทิเสสซึ่งต้องหลายคราว มีจำนวนวันปิดไม่เท่ากัน ประมวลอาบัติและวันเข้าด้วยกัน อยู่ปริวาสเท่าจำนวนวันที่มากที่สุด เช่น ต้องอาบัติ ๓ คราว, คราวหนึ่งปิดไว้ ๓ วัน คราวหนึ่งปิดไว้ ๕ วัน คราวหนึ่งปิดไว้ ๗ วัน อยู่ปริวาสเท่าจำนวนมากที่สุด คือ ๗ วัน; ดู สโมธานปริวาส 

……………………………

มิสสกสโมธาน 

……………………………

การประมวลครุกาบัติระคนกัน, เป็นชื่อปริวาสสำหรับภิกษุผู้ปรารถนาจะออกจากอาบัติสังฆาทิเสสต่างวัตถุกัน หมายความว่าต้องอาบัติสังฆาทิเสสหลายตัวต่างสิกขาบทกัน ซึ่งมีวันปิดเท่ากันบ้าง ไม่เท่ากันบ้าง ภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสเหล่านั้น ขอปริวาสจากสงฆ์เพื่ออยู่กรรมชดใช้ทั้งหมด

……………………………

สุทธันตปริวาส 

……………………………

ปริวาสที่ภิกษุผู้ต้องการจะออกจากอาบัติสังฆาทิเสสอยู่ไปจนกว่าจะเห็นว่าบริสุทธิ์ หมายความว่า ภิกษุต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วปิดไว้หลายคราวจนจำจำนวนอาบัติและจำนวนวันที่ปิดไม่ได้ หรือจำได้แต่บางจำนวน ท่านให้ขอปริวาสประมวลจำนวนอาบัติและจำนวนวันที่ปิดเข้าด้วยกัน แล้วอยู่ใช้ไปจนกว่าจะเห็นว่าบริสุทธิ์ มี ๒ อย่างคือ จูฬสุทธันตปริวาส และ มหาสุทธันตปริวาส 

……………………………

จูฬสุทธันตปริวาส 

……………………………

“สุทธันตปริวาสอย่างเล็ก” หมายความว่า ปริวาสที่ภิกษุต้องอาบัติสังฆาทิเสสหลายคราวด้วยกัน จำจำนวนอาบัติและวันที่ปิดได้บ้าง อยู่ปริวาสไปจนกว่าจะเห็นว่าบริสุทธิ์

……………………………

มหาสุทธันตปริวาส 

……………………………

สุทธันตปริวาสที่ภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสหลายคราวด้วยกันจนจำจำนวนอาบัติและจำนวนวันที่ปิดไม่ได้เลย อยู่ปริวาสจนกว่าจะเห็นว่าบริสุทธิ์ โดยกะเอาตั้งแต่บวชมาถึงเวลาใดยังไม่เคยต้องสังฆาทิเสสเลยเป็นช่วงแรก แล้วถอยหลังจากปัจจุบันไปจนตลอดเวลาที่ไม่ได้ต้องอีกช่วงหนึ่ง กำหนดเอาระหว่างช่วงทั้งสองนี้

……………………………

ติตถิยปริวาส 

……………………………

วิธีอยู่กรรมสำหรับเดียรถีย์ที่ขอบวชในพระพุทธศาสนา กล่าวคือ นักบวชในลัทธิศาสนาอื่น หากปรารถนาจะบวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา จะต้องประพฤติปริวาสก่อน ๔ เดือน หรือจนกว่าสงฆ์พอใจ จึงจะอุปสมบทได้ ทั้งนี้ เพื่อปรับตัวปรับวิถีชีวิตให้พร้อมที่จะเข้าอยู่ในระบบอย่างใหม่ และเป็นการทดสอบตนเองด้วย; ดู ปริวาส

……………………………

คำต่างๆ ที่ยกมาจากพจนานุกรมพุทธศาสน์ฯ นี้ มีบางคำที่ชวนให้ยกเอาไปรองรับการอยู่ปริวาสที่นิยมจัดกันได้อย่างกลมกลืนว่า-ข้อนี้ไงคือปริวาสที่ทำกันทุกวันนี้

แต่ไม่ควรด่วนสรุป จนกว่าจะได้ศึกษาตรวจสอบไปให้ถึงต้นฉบับ

หน้าที่ของเราต่อจากนี้ก็คือ ช่วยกันศึกษาไปให้ถึงหลักฐานชั้นปฐมภูมิ ซึ่งหมายถึง พระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกาอาจริยมติ เราก็จะได้เห็นต้นฉบับข้อมูลที่ท่านนำมาสรุปไว้ในพจนานุกรม จะได้เห็นรายละเอียดทั้งหมดซึ่งจะช่วยให้เกิดความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น หรืออาจพบเค้าเงื่อนอื่นๆ ที่ท่านยังไม่ได้นำมาแสดง หรือที่เราเห็นต่างไปจากที่ท่านนำมาแสดง ก็จะได้ความรู้ความเข้าใจที่กว้างขวางครบถ้วน 

และที่สำคัญที่สุดคือ นำไปสู่ความเข้าใจและการปฏิบัติที่ตรงกันเป็นเอกภาพ

……………………………

ความในใจ

……………………………

จุดอ่อนอย่างยิ่งของชาวพุทธในเมืองไทยทุกวันนี้-โดยเฉพาะชาววัด-ก็คือ ไม่มีฉันทะอุตาสาหะที่จะศึกษาสอบสวนตรวจสอบ-อย่าว่าไปถึงพระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกาอาจริยมติอันเป็นหลักฐานชั้นปฐมภูมิเลย แม้เพียงหลักพระธรรมวินัยพื้นฐานอันจะต้องปฏิบัติในวิถีชีวิตสงฆ์เป็นกิจประจำวันนี้เองก็อ่อนด้อยไปหมด

เพราะไม่ศึกษาสืบสวน กระบวนการประพฤติปฏิบัติจึงผิดแผกแตกต่างกันออกไป สำนักนั้นถืออย่างนี้ สำนักนี้ถืออย่างโน้น แทบจะมองไม่รู้ดูไม่ออกว่า หลักปฏิบัติที่เป็นเอกภาพของคณะสงฆ์ไทยคืออย่างไรกันแน่ 

ประกอบกับนโยบาย “เฉยทุกเรื่อง” ของผู้บริหารการพระศาสนา อนาคตพระพุทธศาสนาในบ้านเราจึงชวนวังเวงใจอย่างยิ่ง

……………………………

ในท่ามกลางความเป็นไปเช่นนี้ ทางรอดที่เหลืออยู่ก็คือ 

(๑) ช่วยกันหาความรู้ที่ถูกต้อง 

(๒) ช่วยกันประพฤติดีปฏิบัติชอบตามความรู้ที่ได้มา

(๓) ช่วยกันให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่คนรอบข้างต่อๆ กันไป

ถ้าเทวดาที่รักษาพระศาสนาท่านไม่ตื่น

เราก็ต้องรักษาพระศาสนากันเอง

เราทำได้แค่นี้

ใครทำได้มากกว่านี้ ก็ขออนุโมทนา

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๕

๑๑:๓๓

…………………………………………..

คิดเฟื่องเรื่องอยู่ปริวาส (๕)-จบ

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *