บาลีวันละคำ

สัมปทาน (บาลีวันละคำ 1,550)

สัมปทาน

เข้าใจกันโดยทั่วไป แต่แปลไม่ได้

อ่านว่า สำ-ปะ-ทาน

บาลีเป็น “สมฺปทาน” อ่านว่า สำ-ปะ-ทา-นะ

สมฺปทาน” รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + ทา (ธาตุ = ให้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น มฺ (สํ > สมฺ)

: สํ > สมฺ + = สมฺป + ทา = สมฺปทา + ยุ > อน = สมฺปทาน แปลตามศัพท์ว่า “การให้อย่างทั่วถึงพร้อมกัน

สมฺปทาน” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) การให้, การมอบให้ (giving, bestowing)

(2) การบรรลุ, ลักษณะ, คุณสมบัติ (attainment, characteristic, attribute)

สมฺปทาน” เมื่อขยายความ มีความหมายหลายนัย เฉพาะนัยที่เด่น คือ –

(1) มีการมอบ (สิทธิ, ผลประโยชน์ตอบแทน ฯลฯ) ให้แก่ผู้ใด ผู้นั้นชื่อว่า “สมฺปทาน” = ผู้ได้รับมอบ

(2) การมอบ (สิทธิ, ผลประโยชน์ตอบแทน ฯลฯ) กระทำในที่ใด ที่นั้นชื่อว่า “สมฺปทาน” = ที่เป็นที่มอบให้ (ซึ่งสิทธิ, ผลประโยชน์ตอบแทน ฯลฯ)

(3) ในทางไวยากรณ์ ตามหลักวากยสัมพันธ์ (วิชาว่าด้วยการเกี่ยวข้องและหน้าที่ของคำในประโยค) คำนามที่แจกรูปด้วยวิภัตติที่สี่ (จตุตถีวิภัตติ) มีคำแปลว่า แก่- เพื่อ- ต่อ- ให้เรียกชื่อวากยสัมพันธ์ว่า “สมฺปทาน” (อ่านว่า สำ-ปะ-ทา-นะ)

สมฺปทาน” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สัมปทาน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สัมปทาน : (คำที่ใช้ในกฎหมาย) (คำนาม) การอนุญาตที่รัฐให้แก่เอกชนเพื่อจัดทำบริการสาธารณะหรือจัดทำประโยชน์ หรือแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ภายในระยะเวลาและตามเงื่อนไขที่รัฐกำหนด เช่น สัมปทานการเดินรถประจำทาง สัมปทานทำไม้ในป่าสัมปทาน. (ป.).”

สัมปทาน” เป็นคำที่บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า concession

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล concession เป็นบาลีดังนี้ –

(1) sampaṭicchana สมฺปฏิจฺฉน (สำ-ปะ-ติด-ฉะ-นะ) = การรับมอบ, การยอมรับ

(2) sampadāna สมฺปทาน (สำ-ปะ-ทา-นะ) = การมอบให้

(3) varadāna วรทาน (วะ-ระ-ทา-นะ) = การให้สิ่งที่ดี

สัมปทาน” เป็นการแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการและรัฐ ถ้าแสวงหาโดยสุจริตและรู้จักพอ ก็เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย แต่ถ้าตรงกันข้าม ก็ก่อโทษแก่ทุกฝ่ายเช่นกัน

…………….

: สำหรับคนอิ่ม แอปเปิลใบเดียวก็ใหญ่เกินไป

: สำหรับคนโลภ โลกทั้งใบก็ยังไม่พอ

1-9-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย