สะปะริวารานิ (บาลีวันละคำ 3,691)
สะปะริวารานิ
อะไรคือของที่เป็นบริวาร
อ่านว่า สะ-ปะ-ริ-วา-รา-นิ
“สะปะริวารานิ” เขียนแบบบาลีเป็น “สปริวารานิ” อ่านว่า สะ-ปะ-ริ-วา-รา-นิ รูปคำเดิมมาจาก ส + ปริวาร
(๑) “ส”
อ่านว่า สะ (ไม่ใช่ สอ) ตัดมาจากคำว่า “สห” (สะ-หะ) เป็นคำบุรพบทและอุปสรรค แปลว่า พร้อม, กับ, พร้อมด้วย
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สห” ว่า conjunction with, together, accompanied by (ต่อเนื่อง, ด้วยกัน, ติดตามด้วย)
“สห” เมื่อไปประสมข้างหน้าคำอื่น ตัดคำเหลือเพียง “ส” มีความหมายว่า “พร้อมกับ-(สิ่งนั้น)” หรือ “มี-(สิ่งนั้น)” เช่น –
“ชีว” (ชี-วะ) = ชีวิต
ส + ชีว = สชีว แปลว่า “พร้อมกับชีวิต” “มีชีวิต” หมายถึง สิ่งมีชีวิต, สิ่งมีชีวิตที่ยังไม่ตาย, สิ่งมีชีวิตที่ยังเป็นๆ อยู่ (ตรงข้ามกับ-ที่ตายแล้ว)
(๒) “ปริวาร”
อ่านว่า ปะ-ริ-วา-ระ รากศัพท์มาจาก ปริ (คำอุปสรรค = รอบ) + วร (ธาตุ = ระวัง, ป้องกัน) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะต้นธาตุ “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” (วรฺ > วาร)
: ปริ + วรฺ = ปริวรฺ + ณ = ปริวรณ > ปริวร > ปริวาร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ระวังโดยรอบ” “ผู้ป้องกันโดยรอบ” “เครื่องป้องกันโดยรอบ”
“ปริวาร” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) คนแวดล้อม, ผู้ติดตามไปเป็นกลุ่ม, บริวาร, สาวก, ผู้ติดสอยห้อยตาม, กระบวน (surrounding, suite, retinue, followers, entourage, pomp)
(2) ผู้ติดตาม, สิ่งประกอบหรือของที่เป็นสัญลักษณ์ของผู้มีเกียรติ, ความเคารพ, การรับใช้, การแสดงความภักดี, เกียรติคุณ (followers, accompaniment or possession as a sign of honour, and therefore meaning “respect,” attendance, homage, fame)
(3) ส่วนผสม, ส่วนที่เพิ่มเติม, บริขารหรือของจำเป็น (ingredient, accessories, requisite)
(4) เป็นชื่อหนังสือเล่มสุดท้ายในวินัยปิฎก ชื่อ ปริวาร, [“ส่วนเพิ่มเติม”], ภาคผนวก, เป็นการย่อเรื่องที่ผ่านมา และดัชนีของหนังสือเล่มก่อนๆ (as N. it is the name of the last book of the Vinaya Piṭaka [“The Accessory”], the Appendix, a sort of résumé and index of the preceding books)
“ปริวาร” ในภาษาไทยใช้เป็น “บริวาร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บริวาร : (คำนาม) ผู้แวดล้อมหรือผู้ติดตาม เช่น พระพุทธเจ้ามีภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูปเป็นบริวาร, สิ่งที่เป็นส่วนประกอบหรือสมทบสิ่งอื่นที่เป็นประธาน เช่น บริวารกฐิน. (คำวิเศษณ์) ที่แวดล้อม เช่น ดาวบริวาร. (ป., ส. ปริวาร).”
สห + ปริวาร = สหปริวาร > สปริวาร (สะ-ปะ-ริ-วา-ระ) แปลว่า “พร้อมด้วยบริวาร” (with a retinue [of …])
“สปริวาร” ใช้เป็นคุณศัพท์ (บาลีไวยากรณ์เรียก “วิเสสนะ”) ขยายคำว่า “ภตฺตานิ” (ภัตตาหารทั้งหลาย) ซึ่งเป็นพหูพจน์ จึงเปลี่ยนรูป “สปริวารานิ” ตามกฎของ “วิเสสนะ” ที่ว่า เป็นวิเสสนะของคำใด ต้องมีลิงค์ วจนะ วิภัตติ เหมือนคำนั้น
อภิปรายขยายความ :
คำถวายภัตตาหารให้เป็นของสงฆ์ (ที่มักเรียกลัดตัดความเป็น “ถวายสังฆทาน”) มีข้อความท่อนต้นว่า –
…………..
อิมานิ มยํ ภนฺเต ภตฺตานิ สปริวารานิ ภิกฺขุสงฆสฺส โอโณชยาม…
แปลว่า
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ซึ่งภัตตาหาร พร้อมทั้งของบริวาร ทั้งหลายเหล่านี้ แก่พระภิกษุสงฆ์ …
…………..
มีผู้ตั้งข้อสงสัยว่า คำว่า “สปริวารานิ –พร้อมทั้งของบริวาร” นั้น อะไรคือของบริวารของ “ภัตตาหาร”?
ผู้ตั้งข้อสงสัยขยายความต่อไปว่า มองไปที่ภัตตาหาร ก็เห็นมีแต่ภัตตาหารล้วนๆ ไม่เห็นมีของอื่นที่จะพูดได้ว่าเป็นบริวารของภัตตาหาร เมื่อไม่มี การที่มีคำว่า “สปริวารานิ –พร้อมทั้งของบริวาร” อยู่ในคำถวายจึงผิดความจริง
ผู้ตั้งข้อสงสัยยังพูดในเชิงกระแหนะกระแหนด้วยว่า หรือว่าถ้วย ชาม ถาด ที่เป็นภาชนะใส่ภัตตาหารนั่นคือ “ของบริวาร”? ถ้าเช่นนั้นเราก็ต้องถวายถ้วย ชาม ถาดนั้นไปด้วยสิ แต่เราก็ไม่ได้ถวาย เราถวายเฉพาะภัตตาหารเท่านั้น (กรณีเอาภัตตาหารใส่ปิ่นโต แล้วเจ้าภาพถวายปิ่นโตไปด้วย ถือเป็นข้อยกเว้น เพราะปิ่นโตเป็นภาชนะใส่อาหาร ไม่ใช่ “บริวาร” ของภัตตาหาร)
คำตอบก็คือ ในการถวายภัตตาหารที่มีการกล่าวคำถวายด้วยนั้น เจ้าภาพหรือผู้ถวายมักจะมีของอื่นแนบไปด้วยเสมอ เช่นถวายปัจจัยหรือเงินไปด้วย ชั้นที่สุดดอกไม้ธูปเทียนที่แนบไปนั่นก็คือ “ของบริวาร” จนเป็นหลักนิยมที่รู้กันว่า ในพิธีสงฆ์ต้องจัดเครื่องไทยธรรมถวายพระด้วย เครื่องไทยธรรมก็คือ “ของบริวาร” นั่นเอง
ในการทำบุญวันพระตามวัดต่างๆ ที่มีการกล่าวคำถวายภัตตาหารให้เป็นของสงฆ์ ก็ย่อมเป็นการแน่นอนว่า ผู้ไปทำบุญไม่ได้มีแต่ภัตตาหารอย่างเดียว หากแต่ต้องมีของอื่นๆ ไปถวายพระด้วย ถึงคนนี้ไม่มี คนโน้นก็ต้องมี เป็นอันว่าต้องมีของบริวารจนได้
แม้ในการถวายสิ่งอื่นนอกจากภัตตาหาร เช่น ถวายจีวร ถวายข้าวสาร ถวายยารักษาโรค ถวายเทียนพรรษา ก็ต้องมีของอื่นๆ แนบไปด้วยเสมอไป ดังนั้น ไม่ว่าจะถวายอะไรเมื่อระบุชื่อสิ่งที่ถวายแล้ว จึงต้องมีคำว่า “สปริวารานิ –พร้อมทั้งของบริวาร” อยู่ด้วย เป็นการถูกต้องที่สุดแล้ว
ที่น่าจะมีปัญหาก็คือ คำถวายสังฆทานสมัยใหม่ที่ใช้คำรวมว่า “สังฆทานานิ” (ที่แปลว่า ซึ่งสังฆทานทั้งหลาย หรือที่มีนักเลงบาลีคิดคำแปลให้ว่า “ซึ่งสิ่งของอันพึงถวายแก่สงฆ์”) แล้วอธิบายว่า สิ่งของทั้งหมดรวมกันนั่นแหละคือ “สังฆทานานิ”
ปัญหาก็คือ เมื่อเอาสิ่งของทั้งหมดมาเรียกรวมกันว่า “สังฆทานานิ” เสียแล้ว ก็ไม่มีสิ่งของอะไรที่จะเป็น “สปริวารานิ –พร้อมทั้งของบริวาร” เพราะฉะนั้น การที่มีคำว่า “สปริวารานิ –พร้อมทั้งของบริวาร” อยู่ในคำถวายจึงผิดความจริง
ถ้ายังดันทุรังใช้คำว่า “สังฆทานานิ” แล้วมีนักเลงบาลีช่วยอธิบายให้ผิดเป็นถูกอยู่เช่นนี้ เชื่อได้ว่าต่อไปคงมีการตัดคำว่า “สปริวารานิ” ออกไปจากคำถวาย
แบบเดียวกับคำบูชาข้าวพระพุทธ ที่มีคำว่า “สาลีนํ” (ซึ่งมักแปลกันว่า “แห่งข้าวสาลี”) แล้วมีนักเลงบาลีบอกว่า คำว่า “สาลีนํ” (ข้าวสุกแห่งข้าวสาลี) ผิดความจริง เพราะข้าวที่เราใช้บูชาพระพุทธเป็นข้าวสวยธรรมดา ไม่ใช่ข้าวสาลี เพราะฉะนั้น ควรตัดคำนี้ออก (ได้ยินว่าพิธีกรบางสำนักตัดออกไปแล้วก็มี)
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้ามีปัญญาตั้งข้อสงสัย
: ก็ควรมีปัญญาหาคำตอบได้ด้วย
#บาลีวันละคำ (3,691)
21-7-65
…………………………….
…………………………….