ประภพ (บาลีวันละคำ 3,700 )
ประภพ
คำงาม แต่ความหมายไม่ง่าย
อ่านว่า ปฺระ-พบ
“ประภพ” เป็นรูปคำอิงสันสกฤต บาลีเป็น “ปภว” อ่านว่า ปะ-พะ-วะ รากศัพท์มาจาก ป (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + อ (อะ) ปัจจัย, แผลง อู ที่ ภู เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อว (อะ-วะ)
: ป + ภู = ปภู + อ = ปภู > ปโภ > ปภว (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ปัจจัยเป็นเหตุเกิดแห่งผล”
ความหมาย: เหตุ, ปัจจัย, ความเกิด, บ่อเกิด, แดนเกิด, ที่มา
“ปภว” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายว่า การผลิต, บ่อเกิด, ที่มา, สาเหตุ (production, origin, source, cause)
บาลี “ปภว” สันสกฤตเป็น “ปฺรภว”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ปฺรภว : (คำวิเศษณ์) ‘ประภพ,’ อันเกิดแล้ว, อันสร้างแล้ว; อันเป็นใหญ่, กอปรด้วยกำลัง, มีอำนาจ; born, produced; superior, powerful; – น. ชนกมูล, มูลแห่งภาวะหรือสมภพ; ประโยชกมูล, หรือมูลแห่งการสมภพ, ดุจบิดาหรือมารดา, ฯลฯ.; ที่อันรับไว้ซึ่งการสมภพ, หรือที่ซึ่งจักษุวิสัยพึงประจักษ์แก่ตา; กำเนิด, ชาติ, การสร้าง; มูลแห่งน้ำ, คือแสง; นามของมุนิรูปหนึ่ง; พลศักดิ์, ความเปนใหญ่, อำนาจ; generative cause, basic of being or existence; the operative cause, or the origin of being, as the father or mother, &c.; the place of receiving existence, or where visible object is perceived; birth, production, the origin of water, i.e. light; the name of a Muni; strength, superiority, power.”
บาลี “ปภว” ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ประภพ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกความหมายไว้ว่า –
“ประภพ : (คำนาม) การเกิดก่อน; แดน, ที่เกิด. (ส. ปฺรภว).”
ขยายความ :
คำว่า “ปภว” ในบาลีที่รู้จักกันแพร่หลายที่สุดคือคำว่า “เหตุปฺปภวา” (เห-ตุบ-ปะ-พะ-วา) อยู่ในคาถา “เย ธมฺมา” ที่นิยมเรียกกันว่า “หัวใจอริยสัจ” ข้อความเต็มๆ เป็นดังนี้ –
…………..
เขียนแบบบาลี:
เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา
เตสํ เหตุํ ตถาคโต
เตสญฺจ โย นิโรโธ จ
เอวํวาที มหาสมโณ ฯ
…………..
เขียนแบบคำอ่าน:
เย ธัมมา เหตุปปะภะวา
เตสัง เหตุง ตะถาคะโต
เตสัญจะ โย นิโรโธ จะ
เอวังวาที มะหาสะมะโณ ฯ
…………..
คำแปล:
ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ
พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น
ทรงแสดงความดับ และปฏิปทาเครื่องดำเนินถึง-
ความดับแห่งธรรมเหล่านั้น
พระมหาสมณะทรงสั่งสอนอย่างนี้
ที่มา: มหาขันธกะ วินัยปิฎก มหาวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 4 ข้อ 65
…………..
หมายเหตุ: คาถาบทนี้ พระอัสสชิซึ่งเป็นหนึ่งในปัญจวัคคีย์กล่าวแสดงหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าตามคำร้องขอของอุปติสสปริพาชก ซึ่งต่อมาได้อุปสมบท มีนามที่เรารู้จักกันดีคือ พระสารีบุตร อัครสาวกฝ่ายขวาผู้เลิศทางปัญญา
ตัวบทคาถาและคำแปลมีแง่เงื่อนที่ควรพิจารณาอีกหลายประเด็น ที่นำเสนอในที่นี้ให้ถือว่า “ต้นร่าง” ชั้นหนึ่งก่อน นักเรียนบาลีผู้ปรารถนาความเข้าใจที่กระจ่างแจ้ง พึงพิจารณาตรวจสอบต่อไปเทอญ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: วิธีขอผลที่วิเศษ
: คือตั้งใจทำเหตุให้ดี
————————–
ภาพประกอบ: คาถา เย ธมฺมา อักษรปัลวะ
#บาลีวันละคำ (3,700)
30-7-65
…………………………….
…………………………….