สํสาร (บาลีวันละคำ 27)
สํสาร
อ่านว่า สัง-สา-ระ
ในภาษาไทย เขียนว่า “สงสาร” (สง-สาน)
ความหมายเดิมคือ การเวียนว่ายตายเกิด, การเวียนตายเวียนเกิด มักพูดควบกับคำว่า “วัฏ” เป็น –
“สงสารวัฏ” (สง-สา-ระ-วัด)
“สังสารวัฏ” (สัง-สา-ระ-วัด)
หรือ “วัฏสงสาร” (วัด-ตะ-สง-สาน)
ความหมายในภาษาไทยที่มักเข้าใจกันทั่วไป “สงสาร” คือ รู้สึกเห็นใจในความเดือดร้อนหรือความทุกข์ของผู้อื่น, รู้สึกห่วงใยด้วยความเมตตากรุณา เช่น เห็นเด็ก ๆ อดอยากก็รู้สึกสงสาร เห็นเขาประสบอัคคีภัยแล้วสงสาร
อาจเป็นเพราะการเวียนว่ายตายเกิดเป็นความทุกข์ เป็นสิ่งที่ผู้รู้ท่านห่วงใยเพื่อนมนุษย์ เราจึงเอาคำว่า “สงสาร” มาใช้ในความหมายว่า “รู้สึกเห็นใจในความทุกข์ของผู้อื่น”
: น่าสงสารที่ยังต้องเวียนว่ายอยู่ในสงสาร
บาลีวันละคำ (27)
30 5 55