ปัญจมหาวิโลกนะ (บาลีวันละคำ 3,696)
ปัญจมหาวิโลกนะ
“การตรวจดูอันยิ่งใหญ่”
อ่านว่า ปัน-จะ-มะ-หา-วิ-โล-กะ-นะ
ประกอบด้วยคำว่า ปัญจ + มหา + วิโลกนะ
(๑) “ปัญจ”
บาลีเขียน “ปญฺจ” (ปัน-จะ) แปลว่า ห้า (จำนวน 5) ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “ปกติสังขยา” คือคำบอกจำนวนของสิ่งที่นับ คู่กับ “ปูรณสังขยา” คือคำบอกเฉพาะลำดับของสิ่งที่นับ
แวะหาความรู้ :
“ปกติสังขยา” เช่นพูดว่า “ปญฺจ ชนา” = คน 5 คน (รวมหมดทั้ง 5 คน)
“ปูรณสังขยา” เช่นพูดว่า “ปญฺจโม ชโน” = คนที่ 5 (เฉพาะคนที่ 5 คนเดียว)
“ปญฺจโม” ศัพท์เดิม “ปญฺจม” ก็คือ ปญฺจ + ม (มะ ปัจจัย)
“ม” ปัจจัยใช้ประกอบเข้าข้างท้ายศัพท์ปกติสังขยาทำให้เป็นปูรณสังขยา
“ปญฺจม” ก็คือที่เราเอามาใช้ในภาษาไทยว่า “เบญจม” (เบน-จะ-มะ)
ปญฺจ เป็น ปกติสังขยา
ปญฺจม เป็น ปูรณสังขยา
เทียบคำอังกฤษอาจช่วยให้เข้าใจง่ายขึ้น >
one two three (1 2 3) เป็น ปกติสังขยา
first second third (ที่1 ที่ 2 ที่ 3) เป็น ปูรณสังขยา
ปญฺจ (five) เป็น ปกติสังขยา
ปญฺจม (fifth) เป็น ปูรณสังขยา
(๒) “มหา”
อ่านว่า มะ-หา รูปคำเดิมในบาลีเป็น “มหนฺต” (มะ-หัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก มหฺ (ธาตุ = เจริญ) + อนฺต ปัจจัย
: มหฺ + อนฺต = มหนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายตัว” มีความหมายว่า ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต; มาก; สำคัญ, เป็นที่นับถือ (great, extensive, big; much; important, venerable)
“มหนฺต” เป็นคำเดียวกับที่ใช้ในภาษาไทยว่า “มหันต์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มหันต-, มหันต์ : (คำวิเศษณ์) ใหญ่, มาก, เช่น โทษมหันต์. (เมื่อเข้าสมาสกับศัพท์อื่น เป็น มห บ้าง มหา บ้าง เช่น มหัคฆภัณฑ์ คือ สิ่งของที่มีค่ามาก, มหาชน คือ ชนจำนวนมาก). (ป.).”
ในที่นี้ มหันต– เข้าสมาสกับ –วิโลกน เปลี่ยนรูปเป็น “มหา”
(๓) “วิโลกนะ”
เขียนแบบบาลีเป็น “วิโลกน” อ่านว่า วิ-โล-กะ-นะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + โลกฺ (ธาตุ = เห็น, ดู, แลดู) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: วิ + โลกฺ = วิโลกฺ + ยุ > อน = วิโลกน แปลตามศัพท์ว่า “การแลดูอย่างพิเศษ” ไขความว่า “การแลดูทั้งสองข้าง” (เหลียวดู, เหลียวซ้ายแลขวา) หรือ “การเล็งดูด้วยประการต่างๆ”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วิโลกน” ว่า looking, reflection, investigation, prognostication (การมองดู, การคำนึง, การเลือกหาหรือสอบดู, การทำนาย)
การประสมคำ :
๑ มหนฺต + วิโลกน = มหนฺตวิโลกน > มหาวิโลกน (มะ-หา-วิ-โล-กะ-นะ) แปลว่า “การตรวจดูอันยิ่งใหญ่”
๒ ปญฺจ + มหาวิโลกน = ปญฺจมหาวิโลกน (ปัน-จะ-มะ-หา-วิ-โล-กะ-นะ) แปลว่า “การตรวจดูอันยิ่งใหญ่ห้าอย่าง”
“ปญฺจมหาวิโลกน” เขียนแบบไทยเป็น “ปัญจมหาวิโลกนะ”
คำว่า “ปัญจมหาวิโลกนะ” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
ขยายความ :
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “มหาวิโลกนะ” มีคำอธิบายดังนี้ –
…………..
มหาวิโลกนะ : “การตรวจดูอันยิ่งใหญ่”, ข้อตรวจสอบพิจารณาที่สำคัญ หมายถึง สิ่งที่พระโพธิสัตว์ทรงพิจารณาตรวจดูก่อนจะตัดสินพระทัยประทานปฏิญาณรับอาราธนาของเทพยดาทั้งหลายว่าจะจุติจากดุสิตเทวโลกไปบังเกิดในพระชาติสุดท้ายที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า มี ๕ อย่าง (นิยมเรียกว่า ปัญจมหาวิโลกนะ) คือ
๑. กาล คืออายุกาลของมนุษย์จะต้องอยู่ระหว่าง ๑๐๐ ถึง ๑ แสนปี (ไม่สั้นกว่าร้อยปี ไม่ยาวเกินแสนปี)
๒. ทีปะ คือทวีปจะอุบัติแต่ในชมพูทวีป
๓. เทสะ คือประเทศ หมายถึงถิ่นแดน จะอุบัติในมัธยมประเทศ และทรงกำหนดเมืองกบิลพัสดุ์เป็นที่พึงบังเกิด
๔. กุละ คือตระกูล จะอุบัติเฉพาะในขัตติยสกุลหรือในพราหมณสกุล และทรงกำหนดว่าเวลานั้นโลกสมมติว่าตระกูลกษัตริย์ประเสริฐกว่าตระกูลพราหมณ์ จึงจะอุบัติในตระกูลกษัตริย์ โดยทรงเลือกพระเจ้าสุทโธทนะเป็นพุทธบิดา
๕. ชเนตติอายุปริจเฉท คือมารดา และกำหนดอายุของมารดา มารดาจะต้องมีศีลห้าบริสุทธิ์ ไม่โลเลในบุรุษ ไม่เป็นนักดื่มสุรา ได้บำเพ็ญบารมีมาตลอดแสนกัลป์ ทรงกำหนดได้พระนางมหามายาและทรงทราบว่าพระนางจะมีพระชนม์อยู่เกิน ๑๐ เดือนไปได้ ๗ วัน (สรุปตามแนวอรรถกถาชาดก)
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ตาบอดใจดี มองเห็นธรรมะ
: ใจบอดตาดี มองไม่เห็นธรรมะ
#บาลีวันละคำ (3,696)
26-7-65
…………………………….
…………………………….