บาลีวันละคำ

มหาวิทยาลัย (บาลีวันละคำ 499)

มหาวิทยาลัย

อ่านว่า มะ-หา-วิด-ทะ-ยา-ไล

ประกอบด้วยคำว่า มหา + วิทยา + อาลัย

บาลีเป็น มหา + วิชฺชา + อาลย = มหาวิชฺชาลย อ่านว่า มะ-หา-วิด-ชา-ละ-ยะ

มหา” (คำเดิม “มหนฺต”) แปลว่า ใหญ่, ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต, สำคัญ, เป็นที่นับถือ

มหา” บางทีใช้ในความหมายว่า “มาก” ในภาษาบาลี “มาก” (จำนวนมาก) ใช้คำว่า “พหุ” (พะ-หุ) ตรงกันข้ามคือ “อปฺป” (อับ-ปะ) หมายถึง “น้อย” (จำนวนน้อย) คำที่ตรงกันข้ามกับ “มหา” คือ “จุลฺล” (จุน-ละ) หรือ “จูล” (จู-ละ) เขียนเป็น “จูฬ” ก็มี หมายถึง “เล็ก” (ขนาดเล็ก)

วิชฺชา” (สันสกฤตเป็น “วิทฺยา”) หมายถึง ความรู้, ความเข้าใจ (ความหมายที่ใช้ในพระพุทธศาสนา คือ ความรู้จักคิดพิจารณาจนเข้าใจและเข้าถึงความเป็นจริง)

อาลย” รากศัพท์มาจาก อา (= ทั่ว, มาก, ยิ่ง) + ลิ (ธาตุ = ติดใจ, ติดแน่น) แปลง อิ ที่ ลิ เป็น = ลย : อา + ลิ (= ลย) = อาลย > อาลัย” ในทางรูปธรรมหมายถึงสถานที่พักอาศัย, ที่อยู่, แหล่งรวมของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (ดูรายละเอียดที่ “อาลัย” บาลีวันละคำ (321) 29-3-56)

มหา + วิชฺชา + อาลย = มหาวิชฺชาลย > มหาวิทยาลัย แปลตามศัพท์ว่า “แหล่งรวมของความรู้ที่กว้างขวาง”

พจน.42 นิยามความหมายของคำว่า “มหาวิทยาลัย” ไว้ว่า –

“สถาบันอุดมศึกษาที่มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาในด้านวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงหลายสาขาวิชา หรือหลายกลุ่มสาขาวิชา … รวมทั้งดําเนินการวิจัยและให้บริการทางวิชาการแก่สังคม และทํานุบํารุงศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ”

มีคำคะนองเรียก “มหาวิทยาลัย” ว่า “มหา’ลัย” อ่านว่า มะ-หา-ไล (ตัดคำว่า “วิทยา” ออก)

ตามรูปศัพท์ “มหา’ลัย” มีความหมายว่า “การละลายหายหรือความเสื่อมเสียหายอย่างใหญ่หลวง

และคำว่า “มหา’ลัย” นั่นเอง มีคำคะนองเรียกแผลงเป็น “หมา’ลัย” ถ้าอธิบายแบบคะนองตามก็บอกว่า หมา (= สุนัข) + ลัย (= เสื่อมเสียหาย) = หมาลัย แปลเป็นคำคะนองว่า “เสียหมา

คำว่า “เสียหมา” เป็นคำเก่าในภาษาไทย หมายถึงผู้ใหญ่หรือผู้มีตำแหน่งสูงแต่ประพฤติเสื่อมเสียจนสังคมหมดความนับถือ = เสียหายจนถูกมองเหมือนหมา

: ได้ดี มีดี ไม่รู้จักรักษา ระวังจะ “เสียหมา” ไม่รู้ตัว !!

———————

(เนื่องมาจากคำถามของ Kroekpol Subhasereebhap)

26-9-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย