มงกุฎ (บาลีวันละคำ 500)
มงกุฎ
อ่านว่า มง-กุด
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกความหมายของ “มงกุฎ” ไว้ว่า
(1) (คำนาม) เครื่องสวมพระเศียรโดยเฉพาะพระเจ้าแผ่นดิน มียอดสูง
(2) เครื่องสวมศีรษะ มีลักษณะต่าง ๆ กัน มักใช้สวมเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นผู้ชนะเลิศในการประกวดความงาม เช่น มงกุฎนางงามจักรวาล มงกุฎนางสาวไทย
(3) (คำวิเศษณ์) สูงสุด, ยอดเยี่ยม
พจน.42 ยังเก็บคำว่า “มกุฎ” (มะ-กุด) ไว้อีกคำหนึ่ง บอกไว้ว่า “มกุฎ : น. มงกุฎ.ว. สูงสุด, ยอดเยี่ยม”
มกุฎ ในภาษาไทยกลายเสียงเป็น มงกุฎ ได้ มกุฎ – มงกุฎ จึงเป็นคำเดียวกัน
บาลีมีคำว่า “มกุฏ” (มะ-กุ-ตะ) ตำราว่าเป็น “มุกุฏ” (มุ-กุ-ตะ) ก็มีบ้าง แต่ “มงฺกุฏ” (มัง-กุ-ตะ) ไม่มี
รากศัพท์ของคำว่า “มกุฏ” ท่านร่ายสูตรไว้ว่า –
“มกติ มณฺเฑติ เอเตนาติ มกุฏํ”
แปลว่า “บุคคลย่อมประดับ (ศีรษะ) ด้วยสิ่งนั่น เหตุนั้นจึงชื่อ มกุฏ” หมายถึง เครื่องประดับ, เทริด (อ่านว่า เซิด (เสียง ซ โซ่) = เครื่องประดับศีรษะ รูปมงกุฎอย่างเตี้ย มีกรอบหน้า), ตราประจำตระกูล
ข้อสังเกต :
1. มกุฏ บาลีสะกดด้วย ฏ ปฏัก ภาษาไทย พจน.ของราชบัณฑิตยสถานสะกดด้วย ฎ ชฎา
2. มงกุฎ ภาษาไทยใช้กิริยาว่า “สวม” แต่บาลีใช้กิริยาว่า “ผูก” หรือ “คาด” (อาจเป็นเพราะลักษณะของมงกุฎต่างกัน) เช่นชื่อ “มกุฏพันธนเจดีย์” สถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระที่เมืองกุสินารา แปลว่า “เจดีย์ (= สถานที่สำคัญ) ที่ทำพิธีผูกมกุฎ”
: เอาความสวยหรือตำแหน่งเป็นมงกุฎ เดี๋ยวก็หลุด-อยู่ไม่นาน
: เอาความดีเป็นมงกุฎ – สูงสุดตลอดกาล
———————-
(ตามคำขอของ มงกุฏ วงศ์สาคร
โปรดแจ้ง-จ่าหน้าซอง-ไปที่กล่องข้อความของผม เพื่อส่ง บาลีวันละคำ เล่ม ๑ และเล่ม ๒ เป็นอภินันทนาการ ในฐานะผู้ทำให้เกิดบาลีวันละคำ คำที่ 500 พอดี-ขอบคุณครับ)
27-9-56