ยถากรรม (บาลีวันละคำ 503)
ยถากรรม
อ่านว่า ยะ-ถา-กำ
บาลีเขียน “ยถากมฺม” อ่านว่า ยะ-ถา-กำ-มะ (มักใช้รูปเต็มว่า “ยถากมฺมํ” ยะ-ถา-กำ-มัง)
ประกอบด้วย ยถา + กมฺม
“ยถา” เป็นคำจำพวกนิบาต แปลว่า ฉันใด, เหมือน, ตาม
หลักการใช้ “ยถา” :
– ถ้าใช้โดดๆ จะต้องมีข้อความที่มีคำว่า “เอวํ” หรือ “ตถา” มาคู่กัน เหมือนภาษาไทยว่า “ฉันใด” ต้องมี “ฉันนั้น” มารับ
– ถ้าสมาสกับคำอื่น นิยมแปลว่า “ตาม-” เช่น ยถาพลํ (ยะ-ถา-พะ-ลัง) = ตามกำลัง
ในที่นี้ ยถา สมาสกับ กมฺม = ยถากมฺม > ยถากมฺมํ > ยถากรรม จึงแปลว่า “ตามกรรม”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกความหมายไว้ว่า –
“ยถากรรม : ตามบุญตามกรรม, ตามแต่จะเป็นไป”
เรามักเข้าใจกันว่า ยถากรรม หมายถึงอะไรจะเกิดก็ปล่อยให้มันเกิด แล้วแต่จะเป็นไป, เรื่อยเปื่อย, เลื่อนลอยไร้จุดหมาย, ตามลมตามแล้ง
ยถากมฺม–ยถากรรม ตามความหมายเดิม มักใช้ในข้อความที่กล่าวถึงคติหลังสิ้นชีวิต เป็นการสอนให้คำนึงถึงความสำคัญของการทำกรรม เช่นว่า
– “กุลบุตรนั้น เมื่อเศรษฐีล่วงลับไปแล้ว ก็ได้ตำแหน่งเศรษฐีในเมืองนั้น ดำรงอยู่ตลอดอายุแล้ว ก็ไปตามยถากรรม” = ไปเกิดตามกรรมดีและชั่วที่ตัวได้ทำไว้
– “พระราชาดำรงอยู่ในโอวาทของพระโพธิสัตว์ ทำบุญทั้งหลายแล้วไปตามยถากรรม” = ไปเกิดตามกรรมดีที่ได้ทำ
(หลักความจาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์)
ยถากรรม จึงไม่ใช่ “ตามแต่จะเป็นไป” แต่หมายถึง “ตามแต่เราจะทำให้เป็นไป”
ยถากรรมไทย : เรื่อยเปื่อยลอยไปตามบุญตามกรรม
ยถากรรมบาลี : ได้ดีได้ชั่วอยู่ที่ตัวเราทำ
—————–
(เก็บตกฉกฉวยมาจากคำของพระคุณท่าน อาทิตฺตเมธี ภิกฺขุ ๑๖ ก.ย.๕๖)
30-9-56