บาลีวันละคำ

มุทิตาลัย (บาลีวันละคำ 504)

มุทิตาลัย

(บาลีไทย)

อ่านว่า มุ-ทิ-ตา-ไล

บาลีเป็น “มุทิตาลย” อ่านว่า มุ-ทิ-ตา-ละ-ยะ

ประกอบด้วย มุทิตา + อาลย

มุทิตา” มีความหมาย 2 นัย คือ –

(1) มาจาก มุท (มุ-ทะ) ธาตุ + อิ + ปัจจัย = มุทิต > มุทิตา หมายถึง ความชื่นชม, ความยินดี, ความพอใจ

(2) มาจาก มุทุ (อ่อนโยน) + ตา (ปัจจัย) = มุทุตา > มุทิตา หมายถึง ความมีใจอ่อนโยน, ความกรุณา, ความเห็นอกเห็นใจ

อาลย” รากศัพท์มาจาก อา (= ทั่ว, มาก, ยิ่ง) + ลิ (ธาตุ = ติดใจ, ติดแน่น) แปลง อิ ที่ ลิ เป็น = ลย : อา + ลิ (= ลย) = อาลย แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ใจไปติดแน่นอยู่” หมายถึง ความมีใจผูกพัน, ความเยื่อใย, ความห่วงใย, ความติดใจ. ความปรารถนา, ความรักใคร่, การระลึกถึงด้วยความเสียดาย (ดูรายละเอียดที่-อาลัย-บาลีวันละคำ (321) 29-3-56)

มุทิตา + อาลย = มุทิตาลย > มุทิตาลัย (ไม่พบศัพท์ที่ประสมกันเช่นนี้ในคัมภีร์) เป็นคำที่มีผู้คิดขึ้นใช้ในโอกาสจัดงานเลี้ยงส่งผู้เกษียณอายุราชการ โดยเจตนาให้มีความหมายว่า “งานแสดงความยินดีและอาลัยรัก” ตามแนวคิดที่ว่า-ผู้เกษียณอายุการทำงานจะได้พักผ่อนด้วยความสุข จึงควรแก่การยินดี ขณะเดียวกันผู้อยู่หลังก็รู้สึกเสียดายอาลัยรักที่จะไม่ได้อยู่ทำงานร่วมกันดังแต่ก่อน

มุทิตาลัย” เป็นคำประสม คือ “มุทิตา และ อาลัย” ไม่ใช่คำสมาสที่แปลว่า “อาลัยด้วยความยินดี”

: อยู่-เขารัก จาก-เขาเสียดาย

: อยู่-ก็ไม่รู้สึกว่ามี จากไปทั้งที-ก็ไม่รู้สึกว่าขาด

: อยู่-เขาอึดอัดใจ จากไป-เขาโล่งอก

เลือกอยู่เลือกไปตามแต่ใจจะปรารถนา

——————–

(ตอบคำถามของท่านอาจารย์ดำรงศักดิ์ บุญสู่)

1-10-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย