บาลีวันละคำ

โจท – โจทก์ – โจทย์ (บาลีวันละคำ 505)

โจท – โจทก์ – โจทย์

ทุกคำอ่านว่า โจด

รากศัพท์ของคำเหล่านี้มาจาก จุท (จุ-ทะ) ธาตุ มีความหมายว่า ทักท้วง, ตักเตือน, ฟ้องร้อง, กล่าวหา, ร้องเรียน, ติเตียน, ตำหนิ, คาดโทษ, กล่าวโทษ, สอบถาม, ตั้งคำถาม, ตั้งกระทู้ถาม, ยุยง, ปลุกปั่น, เร่งเร้า, กระตุ้น, เคี่ยวเข็ญ, ทวงหนี้

จาก จุท เป็น โจท โจทก์ โจทย์ ได้อย่างไร

(1) โจท : จุท + ปัจจัย ลบ ณฺ แผลง อุ ที่ จุ เป็น โอ : จุท = โจท ในภาษาไทยใช้เป็นคำกริยา เช่น นายดำโจทนายแดง = นายดำฟ้องร้อง กล่าวหานายแดง

(2) โจทก์ : จุท + ณฺวุ ปัจจัย แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ) แผลง อุ เป็น โอ = โจทก (โจ-ทะ-กะ) เป็นคำนาม แปลว่า “ผู้กล่าวหา” “ผู้ทักท้วง” ฯลฯ

(3) โจทย์ : จุท + ณฺย ปัจจัย ลบ ณฺ แผลง อุ เป็น โอ = โจทย (โจ-ทะ-ยะ) เป็นคำนาม แปลว่า “เรื่องที่ควรถาม

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกความหมายไว้ดังนี้ –

โจท : (คำเก่า) ฟ้อง เช่น ทาษโจทเจ้าว่ามิได้เปนทาษก็ดีว่าได้ส่งเงินค่าตัวแล้วก็ดี. (กฎหมายตราสามดวง)

โจทก์ : บุคคลผู้ฟ้องคดีต่อศาล; ผู้กล่าวหา. (เดิมเขียนเป็นโจทย์)

โจทย์ : คําถามในวิชาคณิตศาสตร์, โดยปริยายใช้หมายถึงสิ่งที่คล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น ปัญหานี้เป็นโจทย์ที่รัฐบาลแก้ไม่ตก

“โจด” อีกคำหนึ่งมีความหมายว่า พูดกันเซ็งแซ่, เล่าลือกันอื้ออึง คำนี้สะกดว่า “โจษ” (ษ ฤๅษี) ไม่ใช่คำบาลี

ระวัง : จะใช้ “โจด” คำไหน อย่าสะกดตามใจ แต่จงใช้ให้ถูกคำ

คนพาล : มองโจทย์เป็นทางสร้างปัญหา

บัณฑิต : มองโจทย์เป็นทางสร้างปัญญา

2-10-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย