ปล่อยวาง (บาลีวันละคำ 4,511)
ปล่อยวาง
บาลีว่าอย่างไร
เมื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนาเกิดขึ้น และผู้คนกำลังมีความทุกข์กับเรื่องที่เกิดขึ้นนั้น ก็มักจะมีผู้ (ทำท่าจะ) รู้ออกมาพูดว่า ขอให้ปล่อยวางกันบ้างเถิด …
“ปล่อยวาง” คำนี้ ถ้าให้พูดเป็นคำบาลี นักเรียนบาลีอาจจะนึกถึงคำว่า “อุเบกขา” ที่แปลกันว่า “ความวางเฉย”
ผู้เขียนบาลีวันละคำขอเสนอให้นึกถึงคำบาลีอีกคำหนึ่ง คือคำว่า “นิสฺสคฺค”
“นิสฺสคฺค” อ่านว่า นิด-สัก-คะ รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = ไม่มี, ออก) + สชฺ (ธาตุ = สละ, ละ), ซ้อน สฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (นิ + สฺ + สชฺ) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, แปลง ชฺย (คือ ชฺ ที่สุดธาตุ และ ย จาก ณฺย ปัจจัย) เป็น คฺค
: นิ + สฺ + สชฺ = นิสฺสชฺ + ณฺย = นิสฺสชณฺย > นิสฺสชฺย > นิสฺสคฺค แปลตามศัพท์ว่า “การสละออก” หมายถึง การเลิกละ, การสละ; การปฏิเสธ, การตัดขาด (giving up, forsaking; rejection, renunciation)
ขยายความ :
คำว่า “นิสฺสคฺค” เป็นคำที่เราไม่คุ้น และน่าจะไม่มีใช้ในภาษาไทย แต่ในคัมภีร์มีพุทธภาษิตบทหนึ่งที่นิยมยกขึ้นมาแสดงกันในช่วงเวลาขึ้นปีใหม่ ที่เราพูดคำว่า “สวัสดีปีใหม่” กันอึกทึกไปทั้งประเทศ
พุทธภาษิตบทนี้แสดงถึงหลักธรรมที่จะก่อให้เกิดความสวัสดี หมายความว่า เพียงแต่พูดว่า “สวัสดีปีใหม่” ความสวัสดีจะเกิดขึ้นไม่ได้ ความสวัสดีจะเกิดขึ้นได้ คนต้องประพฤติธรรม
พระตถาคตเจ้าตรัสหลักธรรมที่ประพฤติแล้วเกิดความสวัสดีไว้ดังนี้ :
…………..
นาญฺญตฺร โพชฺฌา ตปสา
นาญฺญตฺร อินฺทฺริยสํวรา
นาญฺญตฺร สพฺพนิสฺสคฺคา
โสตฺถึ ปสฺสามิ ปาณินํ.
(สังยุตตนิกาย สคาถวรรค 15/265)
โพชฌะ-ปัญญาหยั่งรู้ทันรู้เท่า-หนึ่ง
ตบะ-พากเพียรแผดเผาความชั่วร้าย-หนึ่ง
อินทรียสังวร-สติระวังใจกายเมื่อรับอารมณ์-หนึ่ง
นิสสัคคะ-ยกใจมิให้จมอยู่กับความยึดอยาก-หนึ่ง
ผิว่าปราศจากธรรมทั้งสี่ประการดังกล่าวมา
ตถาคตไม่เห็นว่าปวงประชาจะมีความสวัสดีได้เลย
…………..
คำว่า “นิสฺสคฺค” ปรากฏอยู่ในคำว่า “สพฺพนิสฺสคฺคา” แปลว่า “การปล่อยวางสิ่งทั้งปวง”
“ปล่อยวาง” แบบ “นิสฺสคฺค” ไม่ใช่ปล่อยวางแบบไม่รับรู้หรือไม่รับผิดชอบ ตรงกันข้ามเป็นการรับรู้อย่างยิ่ง คือรับรู้ด้วยความรู้ทัน รับรู้แล้วไม่เอามาทับถมจนท่วมท้นอยู่ในใจ หากแต่ปล่องออกจากใจจนจิตใจโปร่งโล่ง มองเห็นวิธีที่จะจัดการกับเรื่องที่เกิดขึ้นให้เกิดผลดีด้วยความรับผิดชอบอย่างดียิ่ง
คำว่า “นิสฺสคฺค” เขียนแบบคำอ่านเป็น “นิสสัคคะ” ผู้เขียนบาลีวันละคำขอเสนอให้เขียนคำนี้ในภาษาเป็น “นิสัค” อ่านง่าย ๆ ว่า นิ-สัก แปลง่าย ๆ ว่าปล่องวางอย่างรู้ทัน
แม้จะคาดเดาได้ว่าคงไม่มีใครใช้ แต่ก็ขอฝากไว้ในวงวรรณอีกคำหนึ่ง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: แค่รู้จักวาง
: ก็จะรู้จักว่าง
#บาลีวันละคำ (4,511)
18-10-67
…………………………….
…………………………….