พุทธฎีกา (บาลีวันละคำ 3,442)
พุทธฎีกา
ไม่ใช่บอกบุญกฐินผ้าป่าสร้างพระพุทธรูป
ประกอบด้วยคำว่า พุทธ + ฎีกา
(๑) “พุทธ”
เขียนแบบบาลีเป็น “พุทฺธ” (มีจุดใต้ ทฺ) อ่านว่า พุด-ทะ รากศัพท์มาจาก พุธฺ (ธาตุ = รู้) + ต ปัจจัย, แปลง ธฺ ที่สุดธาตุเป็น ทฺ, แปลง ต เป็น ธฺ (นัยหนึ่งว่า แปลง ธฺ ที่สุดธาตุกับ ต เป็น ทฺธ)
: พุธฺ + ต = พุธฺต > พุทฺต > พุทฺธ (พุธฺ + ต = พุธฺต > พุทฺธ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้ทุกอย่างที่ควรรู้”
“พุทฺธ” แปลตามศัพท์ได้เกือบ 20 ความหมาย แต่ที่เข้าใจกันทั่วไปมักแปลว่า –
(1) ผู้รู้ = รู้สรรพสิ่งตามความเป็นจริง
(2) ผู้ตื่น = ตื่นจากกิเลสนิทรา ความหลับไหลงมงาย
(3) ผู้เบิกบาน = บริสุทธิ์ผ่องใสเต็มที่
ความหมายที่เข้าใจกันเป็นสามัญ หมายถึง “พระพุทธเจ้า”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “พุทฺธ” ว่า –
One who has attained enlightenment; a man superior to all other beings, human & divine, by his knowledge of the truth, a Buddha (ผู้ตรัสรู้, ผู้ดีกว่าหรือเหนือกว่าคนอื่นๆ รวมทั้งมนุษย์และเทพยดาด้วยความรู้ในสัจธรรมของพระองค์, พระพุทธเจ้า)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“พุทธ, พุทธ-, พุทธะ : (คำนาม) ผู้ตรัสรู้, ผู้ตื่นแล้ว, ผู้เบิกบานแล้ว, ใช้เฉพาะเป็นพระนามของพระบรมศาสดาแห่งพระพุทธศาสนา เรียกเป็นสามัญว่า พระพุทธเจ้า. (ป.).”
(๒) “ฎีกา”
บาลีเป็น “ฏีกา” (-ฏี ฏ ปฏัก) อ่านว่า ตี-กา รากศัพท์มาจาก ฏิกฺ (ธาตุ = รู้, บรรลุ) + อ (อะ) ปัจจัย, ทีฆะ อิ ที่ ฏิ-(กฺ) เป็น อี (ฏิกฺ > ฏีก) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: ฏิกฺ + อ = ฏิก > ฏีก + อา = ฏีกา แปลตามศัพท์ว่า “ถ้อยคำเป็นเครื่องรู้ข้อความ”
ความหมายเดิมในภาษาบาลี “ฏีกา” หมายถึง คัมภีร์ที่อธิบายความในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา (a sub-commentary)
บาลี “ฏีกา” (ฏ ปฏัก) ภาษาไทยใช้เป็น “ฎีกา” (ฎ ชฎา) และใช้ในความหมายอื่นๆ อีกหลายอย่าง
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “ฎีกา” ในภาษาไทยไว้ดังนี้ –
(๑) (คำนาม) : คำอธิบายขยายความ เช่น ฎีกาพาหุง (ป. ฏีกา).
(๒) (คำนาม) : ชื่อคัมภีร์หนังสือที่แก้หรืออธิบายคัมภีร์อรรถกถา (ป. ฏีกา).
(๓) (คำนาม) : หนังสือที่เขียนนิมนต์พระสงฆ์ (ป. ฏีกา).
(๔) (คำนาม) : ใบแจ้งการขอเบิกเงินจากคลัง (ป. ฏีกา).
(๕) (คำนาม) : ใบบอกบุญเรี่ยไร (ป. ฏีกา).
(๖) (คำที่ใช้ในกฎหมาย) (คำนาม) : คำร้องทุกข์ที่ราษฎรทูลเกล้าฯ ถวายต่อพระมหากษัตริย์ (ป. ฏีกา).
(๗) (คำนาม) : ชื่อศาลยุติธรรมสูงสุดของประเทศไทย ซึ่งเรียกว่า ศาลฎีกา (ป. ฏีกา).
(๘) (คำนาม) : การคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ เพื่อเสนอให้ศาลฎีกาพิจารณาพิพากษาหรือวินิจฉัยชี้ขาด (ป. ฏีกา).
(๙) (คำโบราณ) (คำนาม) : ใบเรียกเก็บเงิน. (ป. ฏีกา).
(๑๐) (ภาษาปาก) (คำกริยา) : ยื่นคำร้องขอหรือคำคัดค้านต่อศาลฎีกา เช่น คดีนี้จะฎีกาหรือไม่. (ป. ฏีกา).
พุทธ + ฎีกา = พุทธฎีกา (พุด-ทะ-ดี-กา)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“พุทธฎีกา : (คำนาม) ถ้อยคำของพระพุทธเจ้า; (คำโบราณ) ถ้อยคำของสมเด็จพระสังฆราช. (จารึกสยาม). (ป.)”
อภิปรายขยายความ :
คำว่า “พุทธฎีกา” รูปคำเป็นบาลี ถ้าแปลงกลับเป็นบาลีก็เขียนเป็น “พุทฺธฏีกา” (มีจุดใต้ ทฺ, -ฏี ฏ ปฏัก) อ่านว่า พุด-ทะ-ตี-กา
ยังไม่พบรูปศัพท์เช่นนี้ในคัมภีร์
คำว่า “ฎีกา” ที่เข้าใจกันในหมู่นักเรียนบาลี หมายถึงคัมภีร์ที่แก้หรืออธิบายคัมภีร์อรรถกถา
กล่าวคือ ระดับชั้นคัมภีร์ที่บันทึกคำสอนในพระพุทธศาสนา ชั้นสูงสุดหรือชั้นต้นเดิมคือ “พระบาลี” หรือที่เราเรียกว่า “พระไตรปิฎก”
รองลงมาคือคัมภีร์ที่แก้หรืออธิบายคัมภีร์พระไตรปิฎก เรียกว่า “อรรถกถา”
รองลงมาอีกคือคัมภีร์ที่แก้หรืออธิบายคัมภีร์อรรถกถา เรียกว่า “ฎีกา” และรองลงไปจากฎีกาเรียกว่า “อนุฏีกา”
ว่าตามลำดับการอธิบายขยายความ แม้คัมภีร์ฎีกาจะอธิบายคัมภีร์พระไตรปิฎกต่อจากคัมภีร์อรรถกถาละเอียดออกไปอีกก็จริง แต่เมื่อว่าตามน้ำหนักที่เป็นหลักตัดสินถูกผิดเด็ดขาด ย่อมอยู่ที่คัมภีร์พระไตรปิฎก ไม่ได้ชี้ขาดที่คัมภีร์ฎีกา นี่เป็นหลักที่รับรองกันทั่วไป
การที่เราเรียกถ้อยคำของพระพุทธเจ้าว่า “พุทธฎีกา” น่าจะเอาแนวคิดมาจากหลักในกระบวนการยุติธรรมของไทยเราที่มีศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา คำตัดสินของศาลฎีกาถือเป็นที่สุดยุติเด็ดขาด
ในทางพระศาสนา เมื่ออ้างถึงคำสอนที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ซึ่งนับว่าเป็นที่สุดยุติเด็ดขาด จึงนิยมเรียกว่า “พุทธฎีกา”
คำว่า “พุทธฎีกา” ในภาษาไทยเป็นคำเก่า นิยมใช้ในสำนวนเทศนา เช่น “… มีพระพุทธฎีกาตรัสไว้ว่า …” “… จึงมีพระพุทธฎีกาว่า …” พระธรรมกถึกรุ่นเก่ายังใช้กันอยู่ แต่พระธรรมกถึกรุ่นใหม่และคนรุ่นใหม่ที่ไม่นิยมสำนวนเทศน์แบบเก่า (อ้างว่า รุ่มร่าม เร่อร่า ล้าสมัย ไทยคำบาลีคำฟังไม่รู้เรื่อง) คงจะไม่ได้ใช้และไม่ได้ยินกันอีกแล้ว
เรียนรู้กันไว้อีกสักคำก็คงไม่เสียหลาย (เสียหลาย = เสียเปล่า เป็นคนละคำกับ “เสียหาย” เสียหลาย-ก็เป็นคำไทยเก่าอีกคำหนึ่งที่นับวันก็จะไม่มีใครพูด)
สักวันหนึ่ง ถ้าฝรั่งมาสอนภาษาไทยให้คนไทย และสอนคำว่า “พุทธฎีกา” จะได้ช่วยกันบอกฝรั่งว่า คำนี้สมัยหนึ่งไทยก็เคยสอนไทยด้วยกันไว้แล้ว
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าไทยไม่เรียนรู้คำไทย
: จะเหลืออะไรไว้ให้ลูกหลานเรา