บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

นักเรียนบาลีรออะไรอยู่

นักเรียนบาลีรออะไรอยู่

————————-

เมื่อวันก่อน (๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๔) ผมเขียนคำว้า “พระแว่นสูรยกานต์” เป็นบาลีวันละคำ 

…………………………….

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/4699555443471489

…………………………….

ได้อ้างถึงคัมภีร์มิลินทปัญหา ตอนมหาภูมิจลนปาตุภาวปัญหา ระบุชื่อแก้วมณีชนิดต่างๆ ๑๓ ชนิด ดังนี้ –

๑ อินฺทนีโล = อินทนิล

๒ มหานีโล = มหานิล

๓ โชติรโส = โชติรส

๔ เวฑุริโย = ไพฑูรย์

๕ อุมฺมารปุปฺโผ = อุมมารบุปผา

๖ มโนหโร = มโนหรา

๗ สุริยกนฺโต = สุริยกันต์

๘ จนฺทกนฺโต = จันทกันต์

๙ วชิโร = วิเชียร

๑๐ กชฺโชปกฺกมโก = ?

๑๑ ปุสฺสราโค = บุษราคัม

๑๒ โลหิตงฺโค = แก้วแดง (โกเมน?)

๑๓ มสารคลฺโล = แก้วลาย (เพชรตาแมว)

ผมเห็นว่า “มณี” ชนิดต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องน่ารู้ หากได้ศึกษาค้นคว้าหารายละเอียดมาประมวลไว้ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

เป็นที่รู้กันว่า ท่านอาจารย์สมภพ สงวนพานิช จับคลำคัมภีร์มิลินทปัญหาอยู่อย่างใกล้ชิด ได้แปลและวิเคราะห์เงื่อนแง่ต่างๆ เผยแพร่เป็นตอนๆ ทางเฟซบุ๊ก ดังที่ญาติมิตรได้เห็นกันอยู่เสมอๆ

จึงใคร่ขอ “อาราธนา” ให้ท่านอาจารย์หยิบรายชื่อแก้วมณีทั้ง ๑๓ ชนิดตามคัมภีร์มิลินทปัญหาดังแสดงไว้นั้นไปวิเคราะห์ศัพท์เพื่อเป็นความรู้ว่า มณีแต่ละชนิดได้ชื่อเช่นนั้นเพราะเหตุไร หรือมณีชื่อนั้นๆ มีความหมายเป็นเช่นไร และถ้ามีคำอธิบายลักษณะของมณีชนิดนั้นๆ ด้วยก็จะดียิ่งนัก

ในคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกามีรายชื่อมณีอีกชุดหนึ่ง ถ้าประมวลมาไว้ด้วยกันก็จะสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

และถ้าจะทำให้สมบูรณ์ขึ้นไปอีก ก็หารูปมณีชนิดนั้นๆ มาประกอบกันไว้ด้วย ขอความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญด้านเพชรพลอยก็คงจะได้ เป็นการร่วมมือกันประมวลองค์ความรู้ไว้เป็นสมบัติของสังคม

เนื้องานตามที่ว่านี้ ท่านผู้ใดเห็นว่าท่านสามารถเข้าช่วยเสริมตรงไหนได้ ก็ขออย่าได้รังเกียจ เรียนเชิญด้วยความยินดี

ผมตั้งใจโพสต์เปิดผนึกถึงท่านอาจารย์สมภพ สงวนพานิช แทนที่จะใช้วิธีแจ้งไปทางกล่องข้อความ ก็เพราะประสงค์จะสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนบาลี

ท่านอาจารย์สมภพไม่ได้จบประโยค ๙ แต่ทำงานบาลีชนิดที่คนจบประโยค ๙ ควรอาย

ผมเองก็รู้สึกอาย ผมทำงานบาลีสู้ท่านไม่ได้

ท่านอาจารย์สมภพเป็นผู้ครองเรือน มีภาระในการทำมาหาเลี้ยงชีพ แต่ท่านสามารถแบ่งเวลาทำงานศึกษาค้นคว้าคัมภีร์และเผยแผ่ให้แพร่หลายได้อย่างสม่ำเสมอ ในขณะที่พระภิกษุสามเณรที่เรียนบาลีไม่มีภาระเช่นนั้นเลย แต่ส่วนมากไม่ได้ทำงานเช่นนั้นทั้งที่เป็นงานในหน้าที่แท้ๆ

ถ้าผมมีอำนาจในกองบาลีสนามหลวงหรือในคณะสงฆ์ ผมจะมอบ “เปรียญธรรม ๙ ประโยคกิตติมศักดิ์” ให้ท่านอาจารย์สมภพ

นักเรียนบาลี-โดยเฉพาะท่านผู้ที่เรียนจบแล้ว-ควรศึกษาวิธีทำงานบาลีของท่านอาจารย์

……………………

จะเห็นได้ว่า เรียนบาลีมิได้แปลว่าเรียนเฉพาะภาษาบาลีหรือเรียนเพื่อจะไปนิพพานท่าเดียว หากแต่ยังมีวิชาต่างๆ แฝงอยู่ในกระบวนการเรียนอีกด้วย ถ้าใฝ่ใจค้นคว้าก็จะได้ความรู้ในสาขาต่างๆ เพิ่มขึ้น

จุดผิดพลาดของนักเรียนบาลีบ้านเราก็คือ ไปเข้าใจผิดคิดว่า การเรียนบาลีนั้นจบแค่สอบได้

จึงปรากฏว่า นักเรียนบาลีของเราเมื่อสอบ ป.ธ.๙ ได้แล้วก็ชื่นชมยินดีกันอยู่เพียงแค่นั้น บอกกันว่าเรียนจบแล้ว ถึงที่สุดแล้ว ไม่ต้องทำอะไรอีกแล้ว ทั้งชาววัดชาวบ้านพลอยเข้าใจแบบเดียวกันไปหมด

ทั้งๆ ที่พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา ยังรอการศึกษาค้นคว้าอยู่อีกเป็นอเนกอนันต์

แม้แต่คัมภีร์ที่ใช้เป็นแบบเรียนตั้งแต่ประโยค ๑-๒ เป็นต้นมาจนถึงประโยค ป.ธ.๙ นั่นเอง ส่วนมากพอสอบได้แล้วก็เก็บเข้าตู้ ไม่ได้เปิดดู ไม่ได้ทบทวนความรู้ที่เรียนผ่านมาอีกเลย

จะมีบ้างก็เฉพาะท่านผู้ทำหน้าที่เป็นครูสอนที่ยังต้องจับตำราอยู่ แต่ก็จับเพื่อสอนให้นักเรียนบาลีสอบได้ และผู้ที่สอบได้แล้วก็จะไปเข้าวงจรเดิมอีก คือสอบได้แล้วก็หยุดอยู่แค่นั้น วนเวียนอยู่ในวังวนนี้ตลอดไป

ผมขอเรียกว่า การศึกษาแบบต้นไม้ยอดด้วน งามใบอยู่ที่โคน แต่กิ่งก้านที่จะงอกออกไปเพื่อออกดอกออกผลนั้นไม่มี

ผมขอเรียกร้องให้นักเรียนบาลีบ้านเราปฏิวัติหรือปฏิรูปแนวคิดในการเรียนบาลีกันใหม่

เรียนเพื่อสอบได้ก็ยังเรียนกันต่อไป แต่ขอให้ช่วยกันปลูกฝังอุดมคติ อุดมการณ์ว่า เรียนบาลีไม่ได้จบแค่สอบได้อย่างที่กำลังเชื่อกันอย่างผิดๆ

ถ้าอุปมากับทางการแพทย์ การสอบได้เป็นเพียงได้ใบประกอบโรคศิลป์เท่านั้น

ยังจะต้องเข้าสู่กระบวนการรักษาคนป่วยต่อไปอีก 

เป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาล 

เป็นแพทย์ประจำบ้าน

เป็นแพทย์อาสาสมัคร

เปิดคลินิก

ฯลฯ

ต้องทำงานในกระบวนการแพทย์ต่อไปอีกยาวนาน

การเรียนบาลีก็มีอุปมาเช่นนั้น

สอบได้แล้วจะต้องเข้าสู่กระบวนการศึกษาค้นคว้าคัมภีร์พระบาลีพระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกาต่อไปอีก

เรียนเพื่อสอบได้ ก็ต้องเอา ไม่ใช่ไม่เอา

แต่ต้องไม่ใช่ยอดด้วนอยู่แค่สอบได้

…………………………………………

๑ สอบได้แล้ว เอาความรู้ไปศึกษาค้นคว้าพระธรรมวินัยพระไตรปิฎกให้รู้เข้าใจแตกฉานทั่วถึงต่อไป

๒ ได้ความรู้ที่ถูกต้องแล้ว เอาความรู้นั้นมาเป็นหลักปฏิบัติขัดเกลาตัวเอง ใช้ความรู้เป็นฐานในการรักษาระบบวิถีชีวิตสงฆ์-วิถีชีวิตชาวพุทธไว้ให้ครบถ้วน

๓ แล้วประกาศบอกกล่าวเผยแผ่คำสอนที่ถูกต้องของพระพุทธเจ้าให้แพร่หลายต่อไปอีก

นี่คือความหมายที่ถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ของกระบวนการศึกษาค้นคว้าคัมภีร์

…………………………………………

สอบได้แล้ว เรียนจบแล้ว ถ้ายังกล้าๆ กลัวๆ ยังไม่กล้าปล่อยลูกมะพร้าว ยังไม่กล้าถอดห่วงยาง จะใช้วิธีทดลองวิชากับคัมภีร์ที่ใช้เป็นแบบเรียนไปพลางก่อนก็ได้

คัมภีร์ที่ใช้เป็นแบบเรียนของนักเรียนบาลีไทยมี ๕ คัมภีร์ ท่านผู้ใดยังไม่เคยทราบ โปรดทราบไว้เป็นความรู้

……………………………….

๑ ธัมมปทัฏฐกถา ๘ ภาค

๒ มังคลัตถทีปนี ๒ ภาค

๓ สมันตปาสาทิกา ๓ ภาค

๔ วิสุทธิมรรค ๓ ภาค

๕ อภิธัมมัตถวิภาวินี ๑ เล่ม

……………………………….

เปิดช่องให้นักเรียนบาลีเข้ามาช่วยบูรณาการ โปรดแนะนำท่านผู้อ่านว่าคัมภีร์ทั้ง ๕ นี้ คัมภีร์ไหนว่าด้วยเรื่องอะไร

……………………………….

ตอนเรียนชั้น ป.ธ.๓ ผมวาดหวังไว้ว่าจะทำ “นามานุกรมธรรมบท” 

วิธีการคือ เอาธัมมปทัฏฐกถาทั้ง ๘ ภาค มาคลี่ดูให้ทั่วถ้วน เจอ “อสาธารณนาม” ที่ไหน ก็คัดออกมา จัดทำคำอธิบายเกี่ยวกับชื่อนั้นๆ ตามที่ปรากฏในธัมมปทัฏฐกถาแบบย่อเรื่อง (ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร ผลเป็นอย่างไร ฯลฯ) คนอ่านคำนั้นจบแล้วรู้เรื่องเกี่ยวกับชื่อนั้นๆ ครบถ้วน ไม่ต้องไปควานหาเองในคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถาทั้ง ๘ ภาค แต่ใครอยากอ่านรายละเอียดก็ปักป้ายบอกทางให้ตามไปอ่านไว้ให้ด้วย

ใครรู้จัก Dictionary of Pāli Proper Names ของ G.P. Malalasekera ก็จะนึกออก ทำแบบเดียวกันนั่นเลย (ตอนที่ฝันทำเรื่องนี้ ผมยังไม่เคยรู้มาก่อนว่ามี Pāli Proper Names อยู่ในโลก!!)

เชื่อหรือไม่ว่า จนถึงวันนี้ผมก็ยังทำ “นามานุกรมธรรมบท” ไม่สำเร็จ เนื่องจากบริหารจัดการเวลาทำงานในชีวิตตัวเองไม่เก่ง

นักเรียนบาลีท่านใดฟังแล้ว หากมีแรงบันดาลใจ ลองหยิบเอาความคิดนี้ไปสานต่อสิขอรับ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ แต่ยินดีสนับสนุน

นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า เรียนบาลีมีงานให้ทำเป็นอเนกอนันต์

งานรอนักเรียนบาลีอยู่

แล้วนักเรียนบาลีรออะไรอยู่?

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๔

๑๗:๕๑

……………………………………………

นักเรียนบาลีรออะไรอยู่

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *