สังคหวัตถุ (บาลีวันละคำ 514)
สังคหวัตถุ
อ่านว่า สัง-คะ-หะ-วัด-ถุ
บาลีเขียนว่า “สงฺคหวตฺถุ” อ่านเหมือนกัน
ประกอบด้วย สงฺคห + วตฺถุ
“สงฺคห” แปลตามศัพท์ว่า “จับรวมกัน” คือยึดไว้ด้วยกัน หมายถึง การรวบรวม, การจับเอาแต่ใจความหรือสาระ = ย่อความ, การช่วยเหลือ, การค้ำจุน, การอนุเคราะห์
“สงฺคห” ภาษาไทยใช้ว่า “สงเคราะห์” พจน.42 บอกความหมายว่า “การช่วยเหลือ, การอุดหนุน, เช่น ฌาปนกิจสงเคราะห์; การรวบรวม เช่น หนังสือนามสงเคราะห์; อุดหนุน เช่น สงเคราะห์เด็กกำพร้า”
“วตฺถุ” แปลว่า ที่ดิน, พื้นที่, เรื่อง, ข้อความ, พัสดุ, สิ่งของ ในที่นี้หมายถึง “ที่ตั้ง” หรือ “วิธีการ” (ดูความหมายของคำว่า วตฺถุ ที่บาลีวันละคำ (297) 4-3-56)
สงฺคห + วตฺถุ = สงฺคหวตฺถุ – สังคหวัตถุ มีความหมายเฉพาะว่า “เครื่องยึดเหนี่ยวใจของผู้อื่นไว้ได้” หมายถึงวิธีการที่จะช่วยเหลือกัน ยึดเหนี่ยวใจกันไว้
ท่านแสดงสังคหวัตถุไว้ 4 วิธี คือ –
1. ทาน การแบ่งปันเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน (กินน้อย ใช้น้อย เหลือเจือจานสังคม)
2. ปิยวาจา พูดจาน่ารัก น่านิยมนับถือ (จากน้ำใสใจจริง มิใช่เสแสร้ง)
3. อัตถจริยา บำเพ็ญประโยชน์ (ทำตัวให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นในกิจที่ถูกที่ควร)
4. สมานัตตตา (สะ-มา-นัด-ตะ-ตา) ความมีตนเสมอ คือ ทำตัวให้เข้ากันได้ เช่น ไม่ถือตัว ร่วมสุขร่วมทุกข์กัน (สุขร่วมเสพ ทุกข์ร่วมทน) เป็นต้น
หัวใจมหาเสน่ห์ :
“ทาปิอัตสะ” ท่องได้ ทำได้
เข้าที่ไหน ได้หัวใจที่นั่น
—————–
(เพื่อให้ชีวิตมีความหมายตามคำหารือของ ชีวิตวันๆ แบบมีความหมาย)
11-10-56