สังฆภัต (บาลีวันละคำ 3,990)
สังฆภัต
1 ในบิณฑบาตที่เป็นอดิเรกลาภ
…………..
ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิตในพระพุทธศาสนา เมื่อแรกที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติ มี 4 อย่าง ที่เราเรียกรู้กันว่า “จตุปัจจัย” หรือ “ปัจจัยสี่” คือ:-
(1) อาหาร: ปิณฑิยาโลปโภชนะ = โภชนะที่ได้มาด้วยกำลังปลีแข้ง คือเที่ยวบิณฑบาต
(2) เครื่องนุ่งห่ม: บังสุกุลจีวร = ผ้านุ่งห่มทำจากผ้าที่เขาทิ้งแล้ว
(3) ที่อยู่อาศัย: รุกขมูลเสนาสนะ = ที่อยู่อาศัยคือโคนไม้
(4) ยารักษาโรค: ปูติมุตตเภสัช = ยารักษาโรคคือน้ำมูตรดอง
ต่อมา ทรงอนุญาตปัจจัยพิเศษในแต่ละอย่างเพิ่มขึ้นจากเดิม เรียกว่า “อดิเรกลาภ” กล่าวเฉพาะหมวดอาหารมี 7 อย่าง คือ:-
(1) สังฆภัต = ภัตถวายสงฆ์
(2) อุทเทสภัต = ภัตถวายภิกษุที่สงฆ์คัดเลือกให้
(3) นิมันตนภัต = ภัตในกิจนิมนต์
(4) สลากภัต = ภัตถวายตามสลาก
(5) ปักขิกภัต = ภัตถวายในปักษ์
(6) อุโปสถิกภัต = ภัตถวายในวันอุโบสถ์
(7) ปาฏิปทิกภัต = ภัตถวายในวันปาฏิบท
ถ้ามีภัตเหล่านี้เกิดขึ้น จะไม่ต้องออกบิณฑบาตก็ได้
…………..
“สังฆภัต” อ่านว่า สัง-คะ-พัด ประกอบด้วยคำว่า สังฆ + ภัต
(๑) “สังฆ”
เขียนแบบบาลีเป็น “สงฺฆ” อ่านว่า สัง-คะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + หนฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น ง (สํ > สงฺ), แปลง หนฺ เป็น ฆ
: สํ > สงฺ + หนฺ > ฆ + อ = สงฺฆ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “หมู่เป็นที่ไปรวมกันแห่งส่วนย่อยโดยไม่แปลกกัน” หมายความว่า ส่วนย่อยที่มีคุณสมบัติหลักๆ “ไม่แปลกกัน” คือมีคุณสมบัติตรงกัน เหมือนกัน ส่วนย่อยดังกล่าวนี้ไปอยู่รวมกัน คือเกาะกลุ่มกัน ดังนี้เรียกว่า “สงฺฆ”
(2) “หมู่ที่รวมกันโดยมีความเห็นและศีลเสมอกัน” ความหมายนี้เล็งที่บรรพชิตหรือสาวกที่เป็นนักบวชในลัทธิศาสนาต่างๆ เช่นภิกษุในพระพุทธศาสนาเป็นต้น ต้องมีความคิดเห็นและความประพฤติลงรอยกันจึงจะรวมเป็น “สงฺฆ” อยู่ได้
“สงฺฆ” จึงหมายถึง หมู่, กอง, กลุ่ม, คณะ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สงฺฆ” เป็นอังกฤษว่า –
(1) multitude, assemblage (ฝูงชน, ชุมนุมชน, หมู่, ฝูง)
(2) the Order, the priesthood, the clergy, the Buddhist church (คณะสงฆ์, พระ, นักบวช, พุทธจักร)
(3) a larger assemblage, a community (กลุ่มใหญ่, ประชาคม)
“สงฺฆ” ปกติในภาษาไทยใช้ว่า “สงฆ์” ถ้าอยู่หน้าคำสมาสมักใช้เป็น “สังฆ-”
“สงฆ์” ในพระพุทธศาสนามีความหมาย 2 อย่าง คือ –
(1) “สาวกสงฆ์” หมายถึงหมู่สาวกของพระพุทธเจ้า ที่ได้บรรลุธรรมในภูมิอริยบุคคลคือเป็นพระโสดาบันขึ้นไป ดังคำสวดในสังฆคุณที่ว่า สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ
(2) “ภิกขุสงฆ์” หมายถึงชุมนุมภิกษุหมู่หนึ่งตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป ซึ่งสามารถประกอบสังฆกรรมได้ตามกำหนดทางพระวินัย
บางทีเรียกอย่างแรกว่า “อริยสงฆ์” อย่างหลังว่า “สมมติสงฆ์”
(๒) “ภัต”
บาลีเป็น “ภตฺต” อ่านว่า พัด-ตะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ภชฺ (ธาตุ = เสพ, คบหา) + ต ปัจจัย, แปลง ชฺ เป็น ตฺ
: ภชฺ + ต = ภชต > ภตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ของเป็นเครื่องเสพ”
(2) ภุชฺ (ธาตุ = กลืนกิน, ใช้สอย) + ต ปัจจัย, แปลง อุ ที่ ภุ-(ชฺ) เป็น อ (ภุ > ภ), แปลง ชฺ เป็น ตฺ
: ภุชฺ + ต = ภุชต > ภชต > ภตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ของที่จะพึงกลืนกิน”
ข้อความบางแห่งในคัมภีร์ คำว่า “ภตฺต” หมายถึง “ข้าวสุก” โดยเฉพาะ แต่โดยทั่วไป “ภตฺต” หมายถึง อาหาร (ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นข้าว)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ภตฺต” (นปุงสกลิงค์) ว่า food, nourishment, meal, feeding (อาหาร, ของบำรุงเลี้ยงร่างกาย, อาหารที่เป็นมื้อ, การเลี้ยง)
บาลี “ภตฺต” สันสกฤตเป็น “ภกฺต”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
“ภกฺต : (คำวิเศษณ์) อันมีความภักดีต่อ; อันเอาใจใส่; อันหุงหรือต้มแล้ว; attached to; attentive to; cooked or boiled; – (คำนาม) อาหาร; ข้าวอันหุงหรือต้มแล้ว; food; cooked or boiled rice.”
บาลี “ภตฺต” ภาษาไทยใช้เป็น “ภัต” และ “ภัตร”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ภัต, ภัต-, ภัตร : (คำนาม) อาหาร, ข้าว. (ป. ภตฺต).”
สงฺฆ + ภตฺต = สงฺฆภตฺต (สัง-คะ-พัด-ตะ) แปลว่า “ภัตเพื่อสงฆ์” หมายถึง อาหารที่ถวายแก่สงฆ์ ในที่นี้หมายถึงภิกษุทั้งหมดที่อยู่ในอารามเดียวกัน
“สงฺฆภตฺต” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สังฆภัต” อ่านว่า สัง-คะ-พัด
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “สังฆภัต” ไว้ด้วย บอกไว้ดังนี้ –
“สังฆภัต : (คำนาม) ข้าวที่ทายกถวายแก่สงฆ์ มักเรียกว่า ข้าวสงฆ์ โดยปรกติทายกนําอาหารไปถวายแก่สงฆ์ที่วัด และพระทําอปโลกนกรรมแบ่งกัน. (ป.).”
ขยายความ :
คำว่า “สังฆภัต” คำบาลีท่านใช้ว่า “สงฺฆภตฺตํ” (สังฆะภัตตัง) คำแปลเดิมท่านแปลว่า “ภัตถวายสงฆ์”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “สังฆภัต” ไว้ว่า –
………………….
สังฆภัต: อาหารถวายสงฆ์ หมายถึงอาหารที่เจ้าของนำมา หรือส่งมาถวายสงฆ์ในอารามพอแจกทั่วกัน.
………………….
ตามหลักที่เรารู้กัน “สงฆ์” คือภิกษุตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป ถ้าว่าตามนี้ อาหารที่ถวายแก่ภิกษุตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป คือที่เราเรียกกันว่า “สังฆทาน” ก็ควรเป็น “สังฆภัต” ได้
แต่ตามคำอธิบาย “สงฆ์” ในคำว่า “สังฆภัต” ท่านหมายถึงภิกษุทั้งหมดที่อยู่รวมกันในอาราม ถวายอาหารแก่ภิกษุทั้งหมดที่อยู่รวมกันในอารามเดียวกัน จึงจะเป็น “สังฆภัต” ถ้าพูดตามที่เราคุ้นกันก็ตรงกับคำว่า “เลี้ยงพระหมดวัด” นั่นเอง
ถวายอาหารแก่ภิกษุตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป เรียกว่า “สังฆทาน” แต่อาจไม่ใช่ “สังฆภัต”
ถวายอาหารแก่ภิกษุหมดทั้งวัด จึงจะเป็น “สังฆภัต” และเป็น “สังฆทาน” ด้วย
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เลี้ยงพระหมดวัด
: คือสังฆภัตตัวจริง
#บาลีวันละคำ (3,990)
16-5-66
…………………………….
…………………………….