โลกีย์ (บาลีวันละคำ 516)
โลกีย์
อ่านว่า โล-กี
บาลีเป็น “โลกิย” อ่านว่า โล-กิ-ยะ
ประกอบด้วย โลก + อิย (ปัจจัย = เกี่ยวกับ, ตั้งอยู่, เป็นของ ฯลฯ)
คำว่า “โลก” (บาลีอ่านว่า โล-กะ) แปลตามรากศัพท์นัยหนึ่งว่า “สิ่งที่จะพินาศย่อยยับไป”
มุมมองของพระพุทธศาสนา แบ่ง “โลก” เป็น 3 ประเภท คือ –
1. สังขารโลก “โลกคือสังขาร” = สรรพสิ่งที่ถูกปรุงประสมขึ้น
2. สัตวโลก “โลกคือหมู่สัตว์” = สรรพสิ่งที่มีชีวิตจิตวิญญาณ
3. โอกาสโลก “โลกคือแผ่นดิน” = พื้นที่ ดินแดน ที่มีอยู่จริง
“โลก” ในคำว่า “โลกิย” นี้ หมายถึงวิสัยหรือธรรมดาของโลก เช่น เกิด แก่ เจ็บ ตาย พบ พราก ได้ เสีย อิ่ม อด สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์ ซึ่งอาจเรียกรวมว่า “วิถีชีวิต” หรือ “ความเป็นไปของชีวิต”
“โลกิย–โลกิยะ” ในบาลีมีความหมายว่า –
1. สามัญ, ปกติ, เป็นธรรมดา, เป็นปกติวิสัย
2. ทั่วไป, ทั่วโลก, ครอบคลุมทั่วโลก, มีชื่อเสียง, มีกิตติศัพท์
แต่ในกรณีที่ใช้เทียบหรือตรงกันข้ามกับ “โลกุตฺตร–โลกุตระ” (พ้นโลก, เหนือโลก, สูงสุด, มรรคผลนิพพาน) โลกิยะ จะมีความหมายว่า ยังเป็นธรรมดาสามัญ, ยังเลวหรือยังต่ำอยู่, ยังเสื่อมหรือยังกลับเสียหายได้อีก
ในภาษาไทย “โลกิย” มักใช้ว่า “โลกีย์” เข้าใจกันในความหมายว่า การเสพสุขทางเนื้อหนังหรือทางเพศ (กิน ดื่ม เล่น ร่วมเพศ)
พจน.42 บอกไว้ว่า
“โลกีย์ : เกี่ยวกับโลก, ทางโลก, ธรรมดาโลก, ของโลก, ตรงข้ามกับ โลกุตระ, เช่น โลกิยธรรม เรื่องโลกิยะ, โดยปริยายหมายถึงที่เกี่ยวกับกามารมณ์”
: ยังอยู่ในโลกีย์ สุขทุกข์ก็มีไม่สิ้นสุด
: เมื่อใดถึงโลกุตร์ เมื่อนั้นก็หลุดจากโลกีย์
13-10-56