สมัครใจ (บาลีวันละคำ 1,440)
สมัครใจ
บาลีสันสกฤตผสมไทยที่ไม่ผิดกติกา
อ่านว่า สะ-หฺมัก-ใจ
“สมัคร” บาลีเป็น “สมคฺค” อ่านว่า สะ-มัก-คะ รากศัพท์มาจาก –
(1) สม + คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) ซ้อน ค ระหว่าง สม + คมฺ (สม + คฺ + คมฺ), ลบ มฺ ที่สุดธาตุ (คมฺ > ค)
: สม + คฺ + คมฺ = สมคฺคม > สมคฺค แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ดำเนินไปในสมะ”
“สม” (สะมะ) ในคำแปลมีความหมายว่า เท่ากัน, เสมอกัน, อย่างเดียวกัน, เที่ยงธรรม, ซื่อตรง, มีจิตใจไม่วอกแวก, ยุติธรรม, รวมเข้าด้วยกัน, ครบถ้วน
(2) สํ (คำอุปรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + อคฺค (ยอด, เป้าหมาย) แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น ม (สํ > สม)
: สํ > สม + อคฺค = สมคฺค แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่มาพร้อมกันโดยยอดรวม” “ดำเนินไปพร้อมกันโดยมีเป้าหมายร่วมกัน” หมายถึง เป็นอันหนึ่งอันเดียว, มีความสามัคคี, ประสานกัน (being in unity, harmonious)
“สมคฺค” สันสกฤตเป็น “สมคฺร” สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“สมคฺร : (คุณศัพท์) ‘สมัคร,’ สรรพ, สกล; all, entire.”
ในภาษาไทยใช้ตามสันสกฤตเป็น “สมัคร”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สมัคร : (คำกริยา) ยื่นความจำนงขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกหรือร่วมในกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นต้น เช่น สมัครเป็นสมาชิกสมาคม สมัครเข้าทำงาน, บางทีก็มีคํา ใจ ประกอบอยู่ด้วย ซึ่งเป็นคําผสมชนิดที่ต้องการเน้น เช่น ใจสมัคร ว่า ใจที่สมัคร, สมัครใจ ว่า สมัครด้วยความเต็มใจ. (ต. สมัค ว่า เต็มใจ; ป. สมคฺค; ส. สมคฺร ว่า พร้อม).”
หมายเหตุ :
“ต. สมัค ว่า เต็มใจ” อักษรย่อ “ต.” ย่อมาจาก “ตะเลง” หมายถึง ในภาษาตะเลงมีคำว่า “สมัค” แปลว่า เต็มใจ
สมัคร + ใจ : สมัคร > ใจ = สมัครใจ เอาคำว่า “สมัคร” ซึ่งเป็นคำคุณศัพท์ในบาลีสันสกฤตมาใช้เป็นคำกริยาผสมกับคำว่า “ใจ” ซึ่งเป็นคำไทย
พจน.54 บอกว่า “สมัครใจ” เป็น “คําผสมชนิดที่ต้องการเน้น”
“สมัครใจ” ถือว่าเป็นรูปประโยคที่ละ “ประธาน” ไว้ในฐานเข้าใจ อาจพูดเต็มๆ ได้ว่า –
เขาสมัครใจ
เธอสมัครใจ
พวกเราสมัครใจ
“เขา เธอ พวกเรา” เป็นประธาน
“สมัคร” เป็นกริยา
“ใจ” เป็นกรรม
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สมัครใจ : (คำกริยา) สมัครด้วยความเต็มใจ เช่น งานนี้เขาสมัครใจเป็นแม่ครัว ชาวเขาสมัครใจย้ายถิ่นฐาน. (คำนาม) ความเต็มใจ เช่น ทำโดยสมัครใจ.”
: ถ้าเต็มใจ ใจก็เต็ม
11-5-59