บาลีวันละคำ

ตรีปิฎกบัณฑิต (บาลีวันละคำ 3,577)

ตรีปิฎกบัณฑิต

เนมิตกนามของผู้จบประโยค 9

อ่านว่า ตฺรี-ปิ-ดก-บัน-ดิด

ประกอบด้วยคำว่า ตรีปิฎก + บัณฑิต

(๑) “ตรีปิฎก”

อ่านว่า ตฺรี-ปิ-ดก ประกอบด้วยคำว่า ตรี + ปิฎก

(ก) “ตรี” ศัพท์เดิมในบาลีเป็น “ติ” เป็นศัพท์จำพวกที่เรียกว่า “สังขยา” คือคำนับจำนวน แปลว่า “สาม” (จำนวน 3)

ในกรณีมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย“ติ” คงรูปเป็น “ติ” ก็มี แผลงเป็น “เต” ก็มี เช่น –

ติรตน (ติ-ระ-ตะ-นะ) = รัตนะสาม

เตมาส (เต-มา-สะ) = สามเดือน

คำที่มี “ติ” หรือ “เต” (ที่เป็นศัพท์สังขยา) นำหน้าเช่นนี้ ในภาษาไทยมักแปลงรูปเป็น “ตรี” หรือ “ไตร” เช่น ตรีรัตน์ ไตรรัตน์ ตรีมาส ไตรมาส

อาจจับหลักไว้ง่ายๆ ว่า –

: ติ > ตรี

: เต > ไตร

“ตรี” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“ตรี ๓ : (คำวิเศษณ์) สาม เช่น ตรีเนตร, ชั้นที่ ๓ (ใช้เกี่ยวกับลําดับชั้นหรือขั้นของยศ ตําแหน่ง คุณภาพ หรือ วิทยฐานะ ตํ่ากว่า โท สูงกว่า จัตวา) เช่น ร้อยตรี ข้าราชการชั้นตรี ปริญญาตรี; เรียกเครื่องหมายวรรณยุกต์รูปดังนี้ ๊ ว่า ไม้ตรี. (ส. ตฺริ).”

(ข) “ปิฎก” บาลีเป็น “ปิฏก” (-ฏก ฏ ปฏัก) อ่านว่า ปิ-ตะ-กะ รากศัพท์มาจาก ปิฏฺ (ธาตุ = รวบรวม; เบียดเบียน; ส่งเสียง) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ)

: ปิฏฺ + ณฺวุ > อก = ปิฏก แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “ภาชนะที่รวมข้าวสารเป็นต้นไว้”

(2) “ภาชนะอันเขาเบียดเบียน”

(3) “หมู่ธรรมเป็นที่อันเขารวบรวมเนื้อความนั้นๆ ไว้”

(4) “หมู่ธรรมอันเขาส่งเสียง” (คือถูกนำออกมาท่องบ่น)

“ปิฏก” มีความหมาย 2 อย่าง คือ –

(1) (ปุงลิงค์) (นปุงสกลิงค์) ตะกร้า, กระจาด, กระบุง (a basket)

(2) (นปุงสกลิงค์) ตำรา, หมวดคำสอนในพระพุทธศาสนา (a scripture, any of the three main divisions of the Pāli Canon)

“ปิฏก” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ปิฎก” (-ฎก ฎ ชฎา)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“ปิฎก : (คำนาม) ตะกร้า; หมวดแห่งคำสอนในพระพุทธศาสนา. (ป., ส. ปิฏก).”

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ดังนี้ –

ปิฎก (Piṭaka) : a basket; any of the three main divisions of the Pāli Canon.

ในที่นี้ “ปิฏก” หมายถึง “หมวดแห่งคำสอนในพระพุทธศาสนา”

…………

ติ + ปิฏก = ติปิฏก ใช้ในภาษาไทยเป็น “ตรีปิฎก”

หรือ เต + ปิฏก = เตปิฏก ใช้ในภาษาไทยเป็น “ไตรปิฎก”

คำว่า “ตรีปิฎก” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“ตรีปิฎก : (คำนาม) ไตรปิฎก, พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามี ๓ ปิฎก คือ พระวินัย เรียก วินัยปิฎก พระสูตร เรียก สุตตันตปิฎก พระอภิธรรม เรียก อภิธรรมปิฎก. (ส. ตฺริปิฏก; ป. ติปิฏก ว่า ตะกร้า ๓).”

คำว่า “ไตรปิฎก” พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ดังนี้ –

ไตรปิฎก (Tepiṭaka) : the Three Baskets; the Tipiṭaka; the three divisions of the Buddhist Canon, viz., Vinaya, Sutta and Abhidhamma, generally known as the Pali Canon.

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

“ไตรปิฎก : (คำนาม) พระธรรมคําสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามี ๓ ปิฎก คือ พระวินัย เรียก วินัยปิฎก พระสูตร เรียก สุตตันตปิฎก พระอภิธรรม เรียก อภิธรรมปิฎก, ตรีปิฎก ก็ว่า.”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามใหม่เป็น –

“ไตรปิฎก : (คำนาม) พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มี ๓ ปิฎก คือ พระวินัย เรียก วินัยปิฎก พระสูตร เรียก สุตตันตปิฎก พระอภิธรรม เรียก อภิธรรมปิฎก, ใช้ว่า ตรีปิฎก ก็ได้.”

(๒) “บัณฑิต”

บาลีเป็น “ปณฺฑิต” อ่านว่า ปัน-ดิ-ตะ มีรากศัพท์มาได้หลายทาง เช่น :

(1) ปณฺฑา ( = ปัญญา) + อิต ( = ไป, ดำเนินไป, เกิดขึ้นพร้อม) ลบสระที่ ปณฺฑา (ปณฺฑา > ปณฺฑ)

: ปณฺฑา > ปณฺฑ + อิต = ปณฺฑิต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา” “ผู้มีปัญญาเกิดพร้อมแล้ว”

(2) ปฑิ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ต ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุ (ปฑิ > ปํฑิ) แล้วแปลงเป็น ณ (ปํฑิ > ปณฺฑิ)

: ปฑิ > ปํฑิ > ปณฺฑิ + ต = ปณฺฑิต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดำเนินไปสู่ความเป็นผู้ฉลาด”

(3) ปณฺฑฺ (ธาตุ = รู้) + ต ปัจจัย, ลง อิ อาคมระหว่างธาตุกับปัจจัย (ปณฺฑฺ + อิ + ต)

: ปณฺฑฺ + อิ = ปณฺฑิ + ต = ปณฺฑิต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้จักประโยชน์และมิใช่ประโยชน์”

ความหมายของ “ปณฺฑิต” ในบาลีคือ สุขุม, ไตร่ตรอง, รอบรู้, ฉลาด, รู้ทัน, จัดเจน, หลักแหลม, รอบคอบ, ระมัดระวัง, ถี่ถ้วน, ชำนิชำนาญ, ช่ำชอง, ว่องไว, คล่องแคล่ว, มีความสามารถ, มีไหวพริบ, รู้จักคิด, รู้จักเหตุผล = รู้จักผิดชอบชั่วดีควรไม่ควร

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปณฺฑิต” เป็นอังกฤษว่า wise, clever, skilled, circumspect, intelligent.

“ปณฺฑิต” ในภาษาไทยใช้ว่า “บัณฑิต” (บัน-ดิด)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“บัณฑิต : ผู้ทรงความรู้, ผู้มีปัญญา, นักปราชญ์, ผู้สําเร็จการศึกษาขั้นปริญญาซึ่งมี ๓ ขั้น คือ ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก เรียกว่า บัณฑิต มหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิต, ผู้มีความสามารถเป็นพิเศษโดยกําเนิด เช่น คนนี้เป็นบัณฑิตในทางเล่นดนตรี. (ป., ส. ปณฺฑิต).”

ความหมายเดิมแท้ของ “บัณฑิต” ก็คือ ผู้มีสติปัญญา รู้จักผิดชอบชั่วดี เว้นชั่ว ประพฤติดีได้ด้วยตนเองและสามารถแนะนำสั่งสอนผู้อื่นให้ทำเช่นนั้นได้ด้วย

ปัจจุบัน ความหมายของ “บัณฑิต” ในภาษาไทยมักหมายถึงผู้สำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาเท่านั้น จะมีความรู้จักผิดชอบชั่วดีหรือไม่แทบจะไม่คำนึงถึง นับว่าเป็นการทำให้ความหมายของคำบาลีทรามลงอย่างน่าเสียดาย

ในที่นี้ “บัณฑิต” หมายถึง ผู้มีความรู้ ความฉลาด หรือเชี่ยวชาญในทางธรรม

ตรีปิฎก + บัณฑิต = ตรีปิฎกบัณฑิต แปลว่า “ผู้มีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก”

ขยายความ :

คำว่า “ตรีปิฎกบัณฑิต” เป็นสร้อยราชทินนามสมณศักดิ์ของพระราชาคณะ นิยมใช้เป็นสร้อยตั้งแต่พระราชาคณะ “ชั้นราช” ขึ้นไป และมีหลักนิยมอยู่ว่า จะใช้เป็นสร้อยนามสมณศักดิ์เฉพาะพระราชาคณะที่สำเร็จการศึกษาระดับเปรียญธรรม 9 ประโยคเป็นพื้น

ตัวอย่างนามสมณศักดิ์ที่มีคำว่า “ตรีปิฎกบัณฑิต” เป็นสร้อยนาม เช่น –

…………..

พระธรรมปัญญาภรณ์ สุนทรธรรมปฏิบัติ ปริยัติวิธานวิศิษฐ์ ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

พระธรรมคุณาภรณ์ บวรศีลสมาจาร สุวิธานศาสนกิจจานุกิจ ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

พระเทพวิสุทธิกวี ศรีธรรมสาธก ตรีปิฎกบัณฑิต ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

พระราชรัตนมุนี ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

…………..

เมื่อเห็นสร้อยนาม “ตรีปิฎกบัณฑิต” ก็พึงสันนิษฐานได้ว่า พระราชาคณะรูปนั้นสำเร็จการศึกษาระดับเปรียญธรรม 9 ประโยค

อภิปราย :

หลักนิยมที่ใช้คำว่า “ตรีปิฎกบัณฑิต” เป็นสร้อยนามสมณศักดิ์พระราชาคณะที่สำเร็จการศึกษาระดับเปรียญธรรม 9 ประโยค นำให้สันนิษฐาน (“สันนิษฐาน” แปลว่า “ตกลงใจแน่นอน”) ได้ว่า ภิกษุที่สำเร็จการศึกษาระดับเปรียญธรรม 9 ประโยคนั้นมีหน้าที่จะต้องศึกษาพระไตรปิฎกต่อไป และศึกษาจนแตกฉานเชี่ยวชาญ จึงเป็นเหตุให้ผู้คิดสร้อยนามสมณศักดิ์นำเอาคุณสมบัติเช่นนั้นมาตั้งเป็นสร้อยนาม

กล่าวสั้น พระเณรที่จบประโยค 9 ล้วนแต่ก้าวขึ้นไปศึกษาพระไตรปิฎกกันทั้งนั้น และทำเช่นนั้นมาจนเป็นที่รู้ทั่วกัน

การที่พระภิกษุสามเณรที่สอบผ่านระดับเปรียญธรรม 9 ประโยคแล้วหยุดเฉยอยู่แค่นั้น ไม่ก้าวขึ้นไปศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกสืบต่อไปดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จึงเป็นการทำให้สร้อยนามสมณศักดิ์ “ตรีปิฎกบัณฑิต” หมดความหมายลงไปอย่างน่าเสียดาย ต่อไป คำว่า “ตรีปิฎกบัณฑิต” ก็จะเป็นแต่เพียงคำที่ยกย่องกันแต่ในนาม แต่ไม่มีความเป็นจริง

ผู้ที่สอบผ่านระดับเปรียญธรรม 9 ประโยค ล้วนมีพื้นฐานความรู้ที่สามารถทำงานศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกให้แตกฉานเป็นอย่างดีได้จริงๆ สร้อยนามสมณศักดิ์ “ตรีปิฎกบัณฑิต” เป็นพยานยืนยันอยู่ชัดๆ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: การรักษาคนป่วย เป็นเกียรติของผู้ที่เรียบจบแพทย์มาแล้ว ฉันใด

: การศึกษาพระปิฎกไตร ก็เป็นเกียรติของผู้ที่สอบเปรียญธรรม 9 ประโยคได้แล้ว ฉันนั้น

29-03-65

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *