เนมิตกนาม (บาลีวันละคำ 3,578)
เนมิตกนาม
อ่านว่า เน-มิด-ตะ-กะ-นาม
(๑) “เนมิตก”
เขียนแบบบาลีเป็น “เนมิตฺตก” (ต 2 ตัว มีจุดใต้ ต ตัวหน้า) อ่านว่า เน-มิด-ตะ-กะ รากศัพท์มาจาก นิมิตฺต + ก
(ก) “นิมิตฺต” บาลีอ่านว่า นิ-มิด-ตะ รากศัพท์มาจาก –
(1) นิ (คำอุปสรรค = เข้า,ลง) + มา (ธาตุ = กะ, กำหนด, นับ) + ต ปัจจัย, แปลง อา ที่ มา เป็น อิ (มา > มิ), ซ้อน ตฺ ระหว่างธาตุกับปัจจัย (มา + ตฺ + ต)
: นิ + มา = นิมา + ตฺ + ต = นิมาตฺต > นิมิตฺต แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่กำหนดผลของตนไว้” (2) “สิ่งเป็นเครื่องอันเขากำหนด” (คือใช้เป็นเครื่องหมาย)
(2) นิ (คำอุปสรรค = เข้า,ลง) + มิ (ธาตุ = ใส่) + ต ปัจจัย, ซ้อน ตฺ ระหว่างธาตุกับปัจจัย (มิ + ตฺ + ต)
: นิ + มิ = นิมิ + ตฺ + ต = นิมิตฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นที่อันเขาใส่ผลไว้แล้ว”
(3) นิ (คำอุปสรรค = ออก) + มิหฺ (ธาตุ = ไหล, หลั่ง) + ต ปัจจัย, แปลง ห เป็น ต (มิหฺ > มิตฺ)
: นิ + มิหฺ = นิมิหฺ + ต = นิมิหฺต > นิมิตฺต แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะที่หลั่งน้ำออกมา”
“นิมิตฺต” (ปุงลิงค์; นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) เครื่องหมาย, นิมิต, สิ่งบอกเหตุ, การทำนาย (sign, omen, portent, prognostication)
(2) รูปร่างภายนอก, ตำหนิ [ของร่างกาย], ลักษณะ, คุณสมบัติ, ปรากฏการณ์ (outward appearance, mark, characteristic, attribute, phenomenon)
(3) เครื่องหมาย, จุดมุ่งหมาย (mark, aim)
(4) องคชาต (sexual organ)
(5) หลักฐาน, เหตุผล, เงื่อนไข (ground, reason, condition)
บาลี “นิมิตฺต” สันสกฤตก็เป็น “นิมิตฺต” เหมือนบาลี
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“นิมิตฺต : (คำนาม) ‘นิมิตต์,’ มูล, การณ์, นิมิตตการณ์, ต้นเหตุหรือตัวการหรือผู้บันดาน; ลักษณะ, จิห์น, องก์; เครื่องหมาย; ลาง; ลักษณะดีหรือร้าย; cause, motive, efficient or instrumental cause; mark, sign, trace; omen, a good omen or an ill one.”
“นิมิตฺต” ใช้ในภาษาไทยเป็น “นิมิต” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“นิมิต ๒ : (คำนาม) เครื่องหมาย, ลาง, เหตุ, เค้ามูล; (แบบ) น. อวัยวะสืบพันธุ์ เช่น อิตถีนิมิต ปุริสนิมิต. (ป., ส. นิมิตฺต).”
(ข) นิมิตฺต + ก ปัจจัย หรือ ก สกรรถ (กะ-สะ-กัด) แผลง อิ ที่ นิ- เป็น เอ
: นิมิตฺต + ก = นิมิตฺตก > เนมิตฺตก (เน-มิด-ตะ-กะ) แปลว่า “ผู้บอกนิมิต” หรือ “สิ่งที่บอกนิมิต”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เนมิตฺตก” ว่า an astrologer, fortune-teller, soothsayer (โหรผู้ทำนายนิมิต, หมอดู)
“เนมิตฺตก” ใช้ในภาษาไทยเป็น “เนมิตก-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย และ “เนมิตกะ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“เนมิตก-, เนมิตกะ : (คำแบบ) (คำนาม) หมอดูทายลักษณะหรือโชคลาง. (ป. เนมิตฺตก).”
(๒) “นาม”
บาลีอ่านว่า นา-มะ รากศัพท์มาจาก นมฺ (ธาตุ = น้อม) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ น-(มฺ) เป็น อา (นมฺ > นาม)
: นมฺ + ณ = นมณ > นม > นาม (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “คำเป็นที่น้อมวัตถุเข้ามา” “คำที่น้อมไปหาวัตถุ” “คำที่ชาวโลกใช้เป็นเครื่องน้อมไปสู่ความหมายนั้นๆ” หมายถึง นาม, ชื่อ (name)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นาม, นาม- : (คำนาม) ชื่อ, ราชาศัพท์ใช้ว่า พระนาม; คําชนิดหนึ่งในไวยากรณ์ สําหรับเรียกคน สัตว์ และสิ่งของต่าง ๆ; สิ่งที่ไม่ใช่รูป คือ จิตใจ, คู่กับ รูป. (ป.).”
เนมิตฺตก + นาม = เนมิตฺตกนาม (เน-มิด-ตะ-กะ-นา-มะ) แปลว่า “ชื่อที่ตั้งตามนิมิต”
อนึ่ง พึงทราบว่า คำนี้บาลีเป็น “เนมิตฺติกนาม” คือ “เนมิตฺตก” นั้น ลง อิ อาคมหน้า ก เป็น “เนมิตฺติก” (เน-มิด-ติ-กะ) ก็มีใช้ ดังนั้น คำนี้ในบาลีจึงมีทั้ง “เนมิตฺตกนาม” และ “เนมิตฺติกนาม”
ในภาษาไทย คำนี้มีเก็บไว้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ด้วย สะกดเป็น “เนมิตกนาม” (เน-มิด-ตะ-กะ-นาม) พจนานุกรมฯ บอกความหมายไว้ดังนี้ –
“เนมิตกนาม : (คำนาม) ชื่อที่เกิดขึ้นตามเหตุ คือลักษณะและคุณสมบัติ เช่น พระสุคต แปลว่า ผู้ดําเนินดีแล้ว.”
ขยายความ :
ในคัมภีร์บาลี ท่านอธิบายถึง “ชื่อ” ที่มนุษย์ตั้งเพื่อเรียกกันว่ามีอยู่ 4 แบบ ขอยกข้อความจากคัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 1 หน้า 268 ตอนฉอนุสสตินิทเทส มาเสนอไว้ในที่นี้ ทั้งคำบาลีและคำที่ท่านแปลไว้ (คำแปลปรับแต่งบ้างเล็กน้อย) เพื่อประกอบการศึกษา ดังนี้
…………..
จตุพฺพิธํ วา นามํ อาวตฺถิกํ ลิงฺคิกํ เนมิตฺติกํ อธิจฺจสมุปฺปนฺนนฺติ ฯ
ชื่อมี 4 อย่าง คือ อาวัตถิกนาม (ชื่อที่เรียกตามรุ่น) ลิงคิกนาม (ชื่อที่เรียกตามเพศ คือเครื่องหมายประจำตัว) เนมิตติกนาม (ชื่อที่มาตามคุณอันเป็นนิมิต) อธิจฺจสมุบันนาม (ชื่อที่ตั้งขึ้นลอยๆ)
ตตฺถ วจฺโฉ ทมฺโม พลิพทฺโทติ เอวมาทิ อาวตฺถิกํ ฯ
ชื่อเช่นว่า วจฺโฉ (ลูกโค-ลูกแหง่) ทมฺโม (โคฝึก-รุ่นกระทง) พลิพทฺโท (โคถึก-โคงาน) ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่าอาวัตถิกนาม
ทณฺฑี ฉตฺตี สิขี กรีติ เอวมาทิ ลิงฺคิกํ ฯ
ชื่อเช่นว่า ทณฺฑี (คนถือไม้เท้า = คนแก่) ฉตฺตี (ผู้มีฉัตร = พระราชา) สิขี (สัตว์มีหงอน = นกยูง) กรี (สัตว์มีงวง = ช้าง) ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่าลิงคิกนาม
เตวิชฺโช ฉฬภิญฺโญติ เอวมาทิ เนมิตฺติกํ ฯ
ชื่อเช่นว่า เตวิชฺโช (ผู้ได้วิชชา ๓) ฉฬภิญฺโญ (ผู้ได้อภิญญา ๖) ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่าเนมิตติกนาม
สิริวฑฺฒโก ธนวฑฺฒโกติ เอวมาทิ วจนตฺถํ อนเปกฺขิตฺวา ปวตฺตํ อธิจฺจสมุปฺปนฺนํ ฯ
ชื่อตั้งลอยๆ ไม่คำนึงถึงความหมายของคำ (ว่าจะสมจริงตามชื่อหรือไม่) เช่นว่า สิริวฑฺฒโก (ผู้เจริญด้วยสิริ) ธนวฑฺฒโก (ผู้เจริญด้วยทรัพย์) ดังนี้เป็นต้น ชื่ออธิจจสมุบันนาม
…………..
แถม :
ชื่อที่เป็นตัวอย่างของ “เนมิตกนาม” ได้ดีที่สุดคือ “อนาถบิณฑิกเศรษฐี” ท่านผู้นี้มีชื่อที่พ่อแม่ตั้งมาแต่เดิมว่า “สุทัตตะ” แต่เพราะท่านเป็นคนใจบุญ นอกจากจะอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาอย่างถึงขนาด แล้วยังได้สงเคราะห์คนยากไร้อนาถาอย่างมากมายเป็นประจำ จึงไม่มีใครเรียกชื่อเดิม หากแต่พากันเรียกว่า “อนาถบิณฑิก” ซึ่งแปลว่า “ผู้มีก้อนข้าวเพื่อคนอนาถา”
“อนาถบิณฑิก” จึงเป็น “เนมิตกนาม” อย่างแท้จริง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ตั้งชื่อดี ดีไปแล้วครึ่งตัว
: แต่ถ้าทำชั่ว เสียชื่อหมดทั้งตัว
30-03-65
…………………………….
…………………………….