โคตรภู (บาลีวันละคำ 1,170)
โคตรภู
อ่านว่า โคด-ตฺระ-พู
“โคตรภู” บาลีเขียน “โคตฺรภู” (มีจุดใต้ ต)
ประกอบด้วย โคตฺร + ภู
(๑) “โคตฺร” (โคด-ตฺระ) คำเดิมคือ “โคตฺต” (โคด-ตะ) มาจากรากศัพท์ดังนี้ –
(1) โค (ชื่อ, ความรู้, ชื่อเสียง) + ตา (ธาตุ = รักษา) + อ ปัจจัย, ซ้อน ต, ลบสระที่สุดธาตุ (ตา > ต)
: โค + ตา = โคตา > โคต + อ + ต = โคตฺต แปลตามศัพท์ว่า “เชื้อสายที่รักษาชื่อและความรู้ไว้” “เชื้อสายที่รักษาชื่อเสียงไว้”
(2) คุปฺ (ธาตุ = รักษา, คุ้มครอง) + ต ปัจจัย, ลบสระที่สุดธาตุ, แผลง อุ ที่ คุ-(ปฺ) เป็น โอ (คุปฺ > โคปฺ), แปลง ป เป็น ต
: คุปฺ + ต = คุปฺต > โคปฺต > โคตฺต แปลตามศัพท์ว่า “เชื้อสายอันเขาคุ้มครองไว้”
“โคตฺต” หมายถึง เชื้อสาย, วงศ์, ตระกูล, เทือกเถาเหล่ากอ, เผ่าพันธุ์ (ancestry, lineage)
“โคตฺต” ในบาลี เป็น “โคตฺร” ในสันสกฤต ภาษาไทยใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “โคตร”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“โคตร, โคตร– : (คำนาม) วงศ์สกุล, เผ่าพันธุ์, ต้นสกุล, เช่น โคตมโคตร; คํานี้บางทีก็นําไปใช้ในความหมายไม่สุภาพหรือเป็นคําด่า เช่น ก่นโคตร. (ส. โคตฺร; ป. โคตฺต ว่า โรงวัว, คอกวัว, วงศ์, ตระกูล)”
เนื่องจาก “โคตร” มักมีการสืบสาวไปจนถึงรากเหง้าหรือเทือกเถาเหล่ากอ คำนี้จึงมีนัยหมายถึงการเข้าถึงจุดใจกลางหรือที่สุดของสิ่งนั้นๆ ในภาษาปากจึงนิยมใช้ในความหมายว่า ลึกซึ้งที่สุด มากที่สุด หนักหนาสาหัสที่สุดของสิ่งนั้นๆ
(๒) โคตฺต + ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + อ ปัจจัย, แปลง ตฺต ที่ (โค)-ตฺต เป็น ตฺร
: โคตฺต + ภู + อ = โคตฺตภู > โคตฺรภู แปลตามศัพท์ว่า “ญาณที่ครอบงำโคตรที่เป็นปุถุชน และยังโคตรที่เป็นอริยะให้เกิด” “ปัญญาที่ยังเชื้อสายแห่งมหัคคตะหรือโลกุตระให้เกิดให้เจริญ”
โคตฺรภู ภาษาไทยใช้เป็น “โคตรภู” (ไม่มีจุดใต้ ต)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“โคตรภู : (แบบ = คำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป) (คำนาม) บุคคลผู้ตั้งอยู่ในญาณซึ่งเป็นลําดับอริยมรรค, พระสงฆ์ที่ไม่เคร่งครัดในศาสนา มีขนบธรรมเนียมห่างจากธรรมวินัย แต่ยังถือตนว่าเป็นภิกษุสงฆ์อยู่ เรียกว่า โคตรภูสงฆ์. (ส. โคตฺรภู ว่า อ้างแต่เพศ ไม่มีคุณความดีของเพศ).”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
“โคตรภูสงฆ์ : พระสงฆ์ที่ไม่เคร่งครัดปฏิบัติเหินห่างธรรมวินัย แต่ยังมีเครื่องหมายเพศ เช่น ผ้าเหลืองเป็นต้น และถือตนว่ายังเป็นภิกษุสงฆ์อยู่, สงฆ์ในระยะหัวต่อจะสิ้นศาสนา
สรุปความหมายของ “โคตรภู” คือ “หัวเลี้ยวหัวต่อ” กล่าวคือ –
๑ ญาณปัญญาหรือระดับจิตของบุคคลที่อยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะเปลี่ยนสภาพจากปุถุชนเป็นอริยบุคคล
๒ บุคคลที่เป็นบรรพชิตแต่เพียงเพศ แต่ประพฤติปฏิบัติตนอย่างคฤหัสถ์ ซึ่งตามคัมภีร์ท่านว่าจะปรากฏตัวในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะสิ้นศาสนา
คน :
เปลี่ยนจากดีเป็นชั่วก็มี
เปลี่ยนจากชั่วเป็นดีก็ได้
อยากจะเปลี่ยนเป็นอะไร
ถามหัวใจตัวเอง
———–
(จากคำขอให้พิจารณาของพระเดชพระคุณ Sornchai Phosriwong)
12-8-58