บาลีวันละคำ

เหรียญ (บาลีวันละคำ 1,136)

เหรียญ

มาจากคำอะไร

อ่านว่า เหฺรียน (หฺร ควบ หรือ เรียน มี ห- นำ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เหรียญ : (คำนาม) โลหะที่มีลักษณะกลมแบนหรือรูปเหลี่ยมเป็นต้น มีภาพนูนหรือตัวอักษรอยู่บนพื้น เช่น เหรียญกระษาปณ์ เหรียญความดีความชอบ เหรียญที่ระลึก.”

พจน.54 ไม่ได้บอกคำอ่าน และไม่ได้บอกที่มาของคำว่ามาจากภาษาอะไร

มีผู้แสดงความเห็นไว้ว่า –

(1) คำว่า “เหรียญ” ไม่ใช่คำไทย ถ้าเป็นคำไทยต้องสะกดตามแม่กนเป็น “เหรียน”

(2) “เหรียญ” เป็นคำที่เรายืมมาจากภาษาโปรตุเกส

(3) “เหรียญ” มาจากคำว่า rial

ที่มา : http://topicstock.pantip.com/klaibann/topicstock/2008/06/H6684996/H6684996.html

—–

พจนานุกรม สอ เสถบุตร บอกไว้ว่า –

“rial (ริออล-) n. เงินริออล- หน่วยเงินตราของอิหร่าน”

โปรดสังเกตว่า พจนานุกรม สอ เสถบุตร บอกคำอ่าน rial ว่า ริ-ออล- ไม่ได้อ่านว่า “เรียล” อย่างที่นิยมออกเสียงกันทั่วไป และคำแปลก็บอกว่า “เงินริออล…” ไม่ได้บอกว่า เงินเรียล

ฟังเสียงจากเจ้าของภาษา ออกเสียง rial ว่า ไร-เยียว (-ว เป็นเสียงแบบคำที่สะกดด้วย L) ไม่ได้ยินเสียงเป็น- เรียล

อย่างไรก็ตาม รูปคำ rial คนไทยมักออกเสียงว่า-เรียล ซึ่งย่อมกลายเป็น “เหรียญ” ได้ง่าย

แต่มีข้อสงสัยว่า ถ้า “เหรียญ” มาจาก “rial-เรียล” ทำไมจึงใช้ หญิง เป็นตัวสะกด ?

ผู้เขียนบาลีวันละคำขอเสนอความเห็นว่า คำว่า “เหรียญ” น่าจะกลายรูปมาจากคำว่า “หิรญฺญ” ในบาลี

หิรญฺญ” ออกเสียงเรียงพยางค์ว่า หิ-รัน-ยะ

เวลาออกเสียงจริง เสียง หิ– จะไม่เน้นแหลมออกมา (หิ– แผ่วๆ แล้วผ่านไปที่ –รญฺ– ทันที) และ – (ยะ) พยางค์ท้ายจะแผ่วหายไป พยางค์ที่ชัดที่สุดคือ “-รญฺ-” (-รัน-) โดยมีเสียง หิ– นำ แผ่วๆ

ลองออกเสียงซ้ำๆ ดู จะได้ยินเป็น (หิ)-เรียน (มีเสียง หิ– นำมาก่อนแผ่วๆ) ชัดเจน

หิรญฺญ” รากศัพท์มาจาก –

(1) หรฺ (ธาตุ = แสวงหา, นำไป) + ปัจจัย, แปลง ะ ที่ -(รฺ) เป็น อิ, ซ้อน

: หรฺ > หิร + + = หิรญฺญ แปลตามศัพท์ว่า (1) “วัตถุอันคนแสวงหากันเพราะเป็นของล้ำค่า” (2) “วัตถุที่ดึงดูดใจสัตว์โลก

(2) หา (ธาตุ = ละ, ทิ้ง, ถึง) + ญฺญ ปัจจัย, แปลง หา เป็น หิร

: หา > หิร + ญฺญ = หิรญฺญ แปลตามศัพท์ว่า (1) “วัตถุที่สละประโยชน์เพื่อสัตว์โลก” (เสมือนวัตถุชนิดนั้นสละตัวเองเพื่อประโยชน์ของผู้คน) (2) “วัตถุที่ถึงความล้ำค่า

หิรญฺญ” หมายถึง เงิน, ทอง, ชิ้นเงิน (gold, gold-piece)

หิรญฺญ” เมื่อนำไปแปรรูปเป็นวัตถุสำหรับซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า ก็ประดิษฐ์ให้มีลักษณะกลมแบนหรือรูปเหลี่ยมเป็นต้น เป็นสิ่งมีค่าอยู่ในตัวเอง และเป็นสัญลักษณ์แห่งสิทธิ อำนาจ และเกียรติยศ ตามค่านิยมที่เกิดขึ้นตามมาในภายหลัง

และเพราะคำเดิมสะกดเป็น “หิรญฺญ” จึงเป็นคำตอบว่า ทำไมคำว่า “เหรียญ” จึงสะกดด้วย หญิง : หิรญฺญ > เหรียญ

: ทำความดีโดยสุจริต

เป็นเหรียญประจำชีวิตอยู่แล้วในตัว

(ไม่ต้องรอให้ใครมอบ)

5-7-58

ต้นฉบับ