บริจาริกา (บาลีวันละคำ 518)
บริจาริกา
อ่านว่า บอ-ริ-จา-ริ-กา
บาลีเป็น “ปริจาริกา” อ่านว่า ปะ-ริ-จา-ริ-กา
“ปริจาริกา” รากศัพท์มาจาก ปริ (= รอบ) + จร (ธาตุ = ประพฤติ, ไป, เที่ยวไป. ยืดเสียงเป็น จาร) + ณฺวุ (ปัจจัย แปลงเป็น อก [อะ-กะ])
: ปริ + จร > จาร + ณฺวุ > อก = ปริจารก แปลงรูปเป็นอิตถีลิงค์ = ปริจาริกา
“จร” ธาตุ ในภาษาไทยมักแปลกันว่า “ประพฤติ” และหมายถึง “ปฏิบัติ” ด้วย คำเก่าใช้ว่า “ปรนนิบัติ” ก็มี เช่น “ปรนนิบัติพระธรรม” หมายถึงปฏิบัติธรรม
คำทางทหาร เรียกการดูแลรักษายุทโธปกรณ์ว่า “ปรนนิบัติบำรุง”
แต่เวลานี้คำว่า “ปรนนิบัติ” มักเข้าใจในความหมายว่า “เอาใจใส่คอยปฏิบัติรับใช้”
อีกคำหนึ่งที่เก่าเหมือนกันคือ แปล ปริ + จร ว่า “บำเรอ” เช่นในคำว่า “บำเรอบาท” ซึ่งแปลตรงตัวมาจากคำว่า “ปาทปริจาริกา” (ปา-ทะ-ปะ-ริ-จา-ริ-กา) ภาษาไทยทับศัพท์เป็น “บาทบริจาริกา” และตัดเป็น “บาทบริจา” ก็มี
“ปริจารก – ปริจาริกา – บริจาริกา” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ปฏิบัติทั่วไป” หมายถึงผู้ทำหน้าที่รับใช้
พจน.42 บอกไว้ว่า “บริจาริกา : หญิงรับใช้, ประกอบกับคํา บาท เป็น บาทบริจาริกา แปลว่า เมีย”
“ปริจาริกา” เมื่อใช้เป็นคุณศัพท์ของสตรี และแปลว่า “ปรนนิบัติ” หรือ “บำเรอ” ในภาษาไทยจึงมักเข้าใจกันในความหมายว่า หญิงที่ทำหน้าที่อำนวยความสุข (มีแนวโน้มไปในทางเพศ) ให้แก่ชาย
: หมั่นทำบุญไว้บำรุงใจ
: ดีกว่ารอให้มีใครมาคอยปรนนิบัติบำรุง
——————–
(ตามคำขอของ Chakkris Uthayophas)
15-10-56