สมาทานวิรัติ (บาลีวันละคำ 3,639)
สมาทานวิรัติ
ตั้งใจไว้ก่อนว่าจะไม่ทำ
แยกศัพท์เป็น สมาทาน + วิรัติ
(๑) “สมาทาน”
บาลีอ่านว่า สะ-มา-ทา-นะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง, กลับความ, ในที่นี้ใช้ในความหมาย “กลับความ”) + ทา (ธาตุ = ให้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น ม (สํ > สม)
: สํ > สม + อา + ทา = สมาทา + ยุ > อน = สมาทาน (สะ-มา-ทา-นะ) แปลตามศัพท์ว่า “การถือเอาด้วยดี”
“สมาทาน” (นปุงสกลิงค์) ใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ถือเอา, นำไป (taking, bringing)
(2) สมาทาน, กระทำ, ได้มา (taking upon oneself, undertaking, acquiring)
(3) ความตั้งใจ, การอธิษฐาน (resolution, vow)
ในภาษาไทย “สมาทาน” อ่านว่า สะ-มา-ทาน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สมาทาน : (คำกริยา) รับเอาถือเอาเป็นข้อปฏิบัติ เช่น สมาทานศีล. (ป., ส.).”
(๒) “วิรัติ”
บาลีเป็น “วิรติ” อ่านว่า วิ-ระ-ติ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + รมฺ (ธาตุ = เว้น) + ติ ปัจจัย, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ
: วิ + รมฺ = วิรมฺ + ติ = วิรมติ > วิรติ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “การเว้นพิเศษ” (คือปกติไม่ได้เว้น การงดเว้นนี้จึงพิเศษกว่าปกติ) (2) “การเว้นต่าง” (คือคนทั่วไปไม่เว้นการกระทำเช่นนั้น การงดเว้นนี้จึงต่างจากคนทั่วไป)
“วิรติ” หมายถึง การเลิกละ, การงดเว้น (leaving off, abstinence); การงดจากสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เคยทำ (abstaining from)
“วิรติ” (วิ-ระ-ติ) ใช้ในภาษาไทยเป็น “วิรัติ” (วิ-รัด)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิรัติ : (คำกริยา) งดเว้น, เลิก. (คำนาม) การงดเว้น, การเลิก, เช่น มังสวิรัติ สุราวิรัติ. (ป., ส. วิรติ).”
สมาทาน + วิรติ = สมาทานวิรติ (สะ-มา-ทา-นะ-วิ-ระ-ติ) แปลว่า “การงดเว้นด้วยการสมาทาน”
“สมาทานวิรติ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สมาทานวิรัติ” อ่านว่า สะ-มา-ทา-นะ-วิ-รัด
“สมาทานวิรัติ” เป็นหนึ่งในเจตนางดเว้นที่จะไม่ทำบาปอกุศล
ในหลักวิชาทางธรรม ท่านแบ่ง “วิรัติ” เป็น 3 อย่าง คือ –
(1) สัมปัตตวิรัติ (สำ-ปัด-ตะ-วิ-รัด) เว้นได้ซึ่งสิ่งที่ประจวบเข้า (สัมปัตต : “ถึงพร้อม” – reached, arrived, come to, present) = งดเว้นเมื่อมีเหตุมาประจวบเข้าเฉพาะหน้า (ไม่ได้ตั้งเจตนามาก่อน)
(2) สมาทานวิรัติ (สะ-มา-ทาน-นะ-วิ-รัด) เว้นด้วยการสมาทาน (สมาทาน : “ยึดถือไว้พร้อม” – resolution, vow) = ตั้งใจงดเว้นไว้ก่อนแล้ว
(3) สมุจเฉทวิรัติ (สะ-หฺมุด-เฉด-ทะ-วิ-รัด) เว้นได้โดยเด็ดขาด (สมุจเฉท : “ตัดขึ้นพร้อม” – cutting off, abolishing, giving up) = ปฏิบัติถึงขึ้นที่ตัดได้ขาดจริง ไม่เล็งถึงงดเว้นเฉพาะหน้าหรือตั้งเจตนาไว้ก่อน แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นอย่างไรหรือเป็นอย่างไร ก็ไม่ทำ ไม่ล่วงละเมิดเด็ดขาด
สมุจเฉทวิรัติ ในข้อ (3) เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เสตุฆาตวิรัติ” (เส-ตุ-คา-ตะ-วิ-รัด) = เว้นได้เหมือนรื้อสะพาน
ขยายความ :
“สมาทานวิรัติ” ถ้าเทียบกับ “สัมปัตตวิรัติ” จะเห็นความแตกต่างกันชัดเจน
“สัมปัตตวิรัติ” คือไม่ได้ตั้งใจมาก่อนว่าจะไม่ทำเรื่องนี้เรื่องนั้น เช่นไม่ได้ตั้งใจมาก่อนว่าจะไม่ฆ่าสัตว์ ครั้นเห็นสัตว์ที่จะฆ่าได้มาอยู่ตรงหน้า จะฆ่าเสียก็ฆ่าได้ แต่เกิดกุศลจิตคิดไม่ฆ่าขึ้นมาฉับพลันในขณะนั้นเอง อย่างนี้คือ “สัมปัตตวิรัติ”
ส่วน “สมาทานวิรัติ” นั้นตรงกันข้าม คือตั้งจิตเจตนาไว้ก่อนแล้วว่าจะไม่ทำเรื่องนี้เรื่องนั้น เช่นตั้งใจมาก่อนแล้วว่าจะไม่ฆ่าสัตว์ เห็นสัตว์ที่จะฆ่าได้มาอยู่ตรงหน้า ก็ไม่ฆ่า เพราะตั้งใจมาก่อนแล้วว่าจะไม่ฆ่า อย่างนี้คือ “สมาทานวิรัติ”
วิธี “สมาทาน” อาจทำได้ด้วยการเปล่งวาจา เช่นกล่าวคำสมาทานศีล หรือทำได้ด้วยการตั้งจิตเจตนา แม้ไม่ได้เปล่งวาจาก็นับว่าการ “สมาทาน” นั้นสำเร็จแล้วเช่นกัน
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ตั้งใจว่าจะทำความดี สำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง
: แต่ถ้าไม่ได้ลงมือทำ ไม่ใช่ล้มเหลวครึ่งหนึ่ง แต่ล้มเหลวทั้งหมด
………….
#บาลีวันละคำ (3,639)
30-5-65
…………………………….
…………………………….