เวร (บาลีวันละคำ 143)
เวร
อ่านว่า เว-ระ
ภาษาไทยใช้รูปเดียวกัน อ่านว่า เวน
คำว่า “เวร” แปลตามศัพท์ว่า
1. “กรรมที่เป็นไปโดยอาการผิดรูป” (เจตนาปองร้ายอันน่ารังเกียจ)
2. “อารมณ์ที่มีอยู่ในผู้กล้าโดยมาก” (ผู้จองเวร คือผู้กล้าที่จะเสีย)
“เวร” แปลตามความหมายว่า ความเกลียด, ความพยาบาท, การเป็นปรปักษ์, ความโกรธ, ความปองร้าย, ความยินร้าย, ความแค้นเคือง, ความคิดร้ายตอบแก่ผู้ทำร้าย, บาป, อกุศล
ในภาษาไทยมักใช้คำว่า “เวร” ในความหมายที่คลาดเคลื่อนไป คือ
– หมายถึงคราว, รอบ, การผลัดกันเป็นคราวๆ หรือรอบผลัดในหน้าที่การงาน ความหมายนี้ภาษาบาลีว่า “วาร” หรือ “วาระ” แต่เราใช้กันว่า “เวร” เช่น อยู่เวร, เข้าเวร, ออกเวร, เวรทำความสะอาดห้อง
– หมายถึงวิบากกรรม หรือผลของการทำไม่ดี เช่น ไม่รู้เป็นเวรเป็นกรรมอะไรจึงมาต้องลำบากเมื่อแก่, เวรละสิ ทำโทรศัพท์หาย
– หมายถึงชั่วช้าเลวทราม (มักเป็นคำบริภาษ) เช่น ไอ้ลูกเวรเอ้ย ทำให้พ่อแม่เดือดร้อนอยู่เรื่อย, ไอ้เด็กเวรพวกนี้
“เวร” ปรุงรูปเป็น “เวรี” (ที่แปลงเป็น “ไพรี”) แปลว่า “ผู้มีความยินร้ายต่อกัน” หมายถึงข้าศึก, ศัตรู, ผู้จองเวรกัน
“เวร” ถ้ามี “อ” ประกอบเข้าข้างหน้า เป็น “อเวร” ความหมายจะตรงกันข้าม กลายเป็น – ความไม่มีศัตรู, ความเป็นเพื่อนกัน, เป็นเพื่อน, ไม่มีเวร, มีความกรุณา
ระลึกไว้เสมอ : สพฺเพ สตฺตา อเวรา โหนฺตุ
บาลีวันละคำ (143)
28-9-55
เช่นเวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร; คําแสดงความรู้สึกเดือดร้อนเพราะกรรมหรือชะตากรรมของตนในอดีต เช่นเวรของฉันแท้ ๆ ทำเงินเดือนหายไปทั้งเดือน, กรรมเวร หรือ เวรกรรม ก็ว่า.
เวร = บาป อกุศล
วิรูเปน อรติ คจฺฉตีติ เวรํ กรรมที่เป็นไปโดยอาการผิดรูป คือน่ารังเกียจ
วิ บทหน้า อร ธาตุ ในความหมายว่าไป, เป็นไป อ ปัจจัย
เวร = ความโกรธ, ความปองร้าย, ความยินร้าย
ปาเยน วีเรสุ ภวํ เวรํ อารมณ์ที่มีอยู่ในผู้กล้าโดยมาก
วีร + ณ ปัจจัย
(ศัพท์วิเคราะห์)
เวร
ความเกลียด, ความพยาบาท, การเป็นปรปักษ์
อเวร ความไม่มีศัตรู, ความเป็นเพื่อนกัน, เป็นเพื่อน, ไม่มีเวร, มีความกรุณา (บาลี-อังกฤษ)
เวร
ความแค้นเคือง, ความปองร้ายกัน, ความคิดร้ายตอบแก่ผู้ทำร้าย; ในภาษาไทยใช้อีกความหมายหนึ่งด้วยว่าคราว, รอบ, การผลัดกันเป็นคราวๆ, ตรงกับ วาร หรือ วาระ ในภาษาบาลี (ประมวลศัพท์)
เวร ๑
น. ความพยาบาท, ความปองร้าย, บาป, เช่นเวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร; คําแสดงความรู้สึกเดือดร้อนเพราะกรรมหรือชะตากรรมของตนในอดีต เช่นเวรของฉันแท้ ๆ ทำเงินเดือนหายไปทั้งเดือน, กรรมเวร หรือ เวรกรรม ก็ว่า. (ป.; ส. ไวร).
เวร ๒
น. รอบผลัดในหน้าที่การงาน เช่น วันนี้เวรฉันทำความสะอาดห้อง.
เวรี ไพรี ข้าศึก, ศัตรู, ผู้จองเวรกัน
เวรํ วิโรโธ, โส อสฺสตฺถีติ เวรี ผู้มีความยินร้ายต่อกัน
(ศัพท์วิเคราะห์)
เวรี
น. คนจองเวรกัน, ศัตรู. (ป.; ส. ไวรี).
ไพรี
น. ผู้มีเวร; ข้าศึก. (ส. ไวรินฺ; ป. เวรี).