บาลีวันละคำ

มังสาหาร (บาลีวันละคำ 3,716)

มังสาหาร

หญ้าปากคอกอีกคำหนึ่ง

อ่านว่า มัง-สา-หาน

แยกศัพท์เป็น มังส + อาหาร

(๑) “มังส”

เขียนแบบบาลีเป็น “มํส” อ่านว่า มัง-สะ รากศัพท์มาจาก มนฺ (ธาตุ = รู้) + ส ปัจจัย, แปลง นฺ ที่สุดธาตุเป็นนิคหิต (มนฺ > มํ)

: มนฺ + ส = มนส > มํส (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันคนรู้จัก” หมายถึง เนื้อคน, เนื้อสัตว์ (flesh, meat)

“มํส” ในภาษาไทยใช้เป็น “มังส” และอิงสันสกฤตเป็น “มางสะ”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

“มังส-, มังสะ, มางสะ : (คำนาม) เนื้อของคนและสัตว์. (ป.).”

คำที่เราคุ้นกันดีคือ “มังสวิรัติ” (มัง-สะ-วิ-รัด) ก็มาจาก “มํส” คำนี้

(๒) “อาหาร”

บาลีอ่านว่า อา-หา-ระ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง, กลับความ, ในที่นี้ใช้ในความหมาย “กลับความ”) + หร (ธาตุ = นำไป, มี “อา” นำหน้า กลับความเป็น นำมา) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะต้นธาต คือ อะ ที่ ห-(รฺ) เป็น อา (หรฺ > หาร)

: อา + หรฺ = อาหร + ณ = อาหรณ > อาหร > อาหาร (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่นำมาซึ่งผล” ตามที่เข้าใจกันทั่วไปคือ เมื่อกินอาหารแล้วก็นำมาซึ่งผลคือมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ ดังที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“อาหาร : (คำนาม) ของกิน, เครื่องคํ้าจุนชีวิต, เครื่องหล่อเลี้ยงชีวิต, เช่น อาหารเช้า อาหารปลา อาหารนก; โดยปริยายหมายถึงสิ่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น อาหารตา อาหารใจ. (ป., ส.).”

พระพุทธศาสนาจำแนกอาหารออกเป็น 4 หมู่ คือ –

1 ของกินทั่วไป คืออาหารกาย (ศัพท์วิชาการว่า = กพฬิงการาหาร)

2 ตาดูหูฟัง อย่างเช่นดูหนังฟังเพลง หรือที่พูดว่า อาหารหูอาหารตา เป็นต้น ( = ผัสสาหาร)

3 ความหวังตั้งใจ เช่นมีความหวังว่าจะได้ จะมี จะเป็น เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงหัวใจอยู่ได้ ( = มโนสัญเจตนาหาร)

4 การได้รับรู้รับทราบ เช่นอยากรู้อะไรก็ได้รู้สิ่งนั้น (อาการที่ตรงกันข้าม คือ “หิวกระหายใคร่รู้”) เป็นอาหารอีกชนิดหนึ่ง ( = วิญญาณาหาร)

มังส + อาหาร = มังสาหาร อ่านว่า มัง-สา-หาน เขียนกลับเป็นบาลีเป็น “มํสาหาร” อ่านว่า มัง-สา-หา-ระ แปลตามสำนวนนักเรียนบาลีว่า “อาหารคือเนื้อ”

หมายความว่า อาหารอาจจะมีหลายอย่าง แต่ในที่นี้หมายถึง “เนื้อ” คือเนื้อนั่นแหละเป็นอาหารชนิดหนึ่ง จึงเรียกว่า “อาหารคือเนื้อ”

คนที่ไม่คุ้นกับสำนวนแปลบาลีฟังแล้วอาจจะรู้สึกว่ารุ่มร่าม พูดไปตรงๆ ว่า “เนื้อ” ก็ได้ ทำไมจะต้องเยิ่นเย้อเป็น “อาหารคือเนื้อ”

คำอธิบายของนักเรียนบาลีก็คือ บางกรณี “เนื้อ” อาจอยู่ในฐานะอื่นๆ ที่ไม่ใช่ “อาหาร” ก็เป็นได้ เช่นกำลังใช้เป็นอุปกรณ์ประกอบการศึกษาวิชาบางอย่างของนักเรียนเป็นต้น แต่เนื้อที่กำลังพูดถึงนี้อยู่ในฐานะเป็น “อาหาร” และอาหารที่กำลังพูดถึงอยู่นี้คือ “เนื้อ” ไม่ใช่อาหารชนิดอื่น เมื่อความจริงยันกันอยู่อย่างนี้จึงใช้คำว่า “อาหารคือเนื้อ” มีความหมายที่ชัดเจน ดิ้นไม่ได้

นี่คือความละเอียดของภาษาบาลี ถ้าไม่คิดก็ไม่เห็น

อนึ่ง คำว่า “เนื้อ” ในคำว่า “มังสาหาร” นี้ ไม่ได้จำกัดเฉพาะเนื้อวัวชนิดเดียว เนื้อสัตว์อื่นๆ แม้แต่ปลา ก็รวมอยู่ในคำว่า “เนื้อ” ด้วย คำแปลหรือคำจำกัดความที่น่าจะครอบคลุมได้หมดคือแปลว่า “เนื้อสัตว์”

ขยายความ :

พระราชพิธีพืชมงคล จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปีพุทธศักราช 2565 ซึ่งมีขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2565 มีคำทำนายตอนหนึ่ง ดังนี้ –

…………..

… พระยาแรกนาได้เสี่ยงทายหยิบผ้าได้ 4 คืบ น้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่ และพระโคกินน้ำ หญ้า ถั่ว และเหล้า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี การคมนาคมสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง …

…………..

คำว่า “ธัญญาหาร” “ผลาหาร” “ภักษาหาร” “มังสาหาร” เป็นคำธรรมดาๆ ฟังหรืออ่านแล้วก็ผ่านไป เป็นอย่างที่เรียกว่า “หญ้าปากคอก”

“หญ้าปากคอก” หากปล่อยให้ผ่านเฉยเลยไปนานเข้า ถึงเวลาจำเป็นจะต้องรู้ความหมายเข้าจริงๆ บางทีอาจทำให้งงงวยไปได้เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น ทบทวนไว้ก็ไม่เสียหายอะไร

…………..

ดูก่อนภราดา!

: กินอะไร ก็เป็นเรื่องสำคัญ

: แต่กินแล้วเอากำลังเรี่ยวแรงไปทำอะไร สำคัญกว่า

#บาลีวันละคำ (3,716)

15-8-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *