บาลีวันละคำ

มาตรฐาน (บาลีวันละคำ 998)

มาตรฐาน

อ่านว่า มาด-ตฺระ-ถาน

ประกอบด้วย มาตร + ฐาน

(๑) “มาตร” คำเดียวอ่านว่า มาด, มีคำอื่นมาสมาสท้าย อ่านว่า มาด-ตฺระ-

มาตร” เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “มตฺต” (มัด-ตะ, เป็น “มตฺตา” ก็มี) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขากำหนด” มีความหมายว่า –

(1) ประกอบด้วย, วัดหรือนับได้, ประมาณ (consisting of, measured, measuring)

(2) มากถึง, มากเท่านั้น, เพียงพอ (as much as, so much, some, enough of)

(3) เหมือน, เหมือนเช่น, สิ่งที่เรียกว่า, อาจพูดได้ว่า (like, just as what is called, one may say)

(๒) “ฐาน” (บาลีอ่านว่า ถา-นะ) แปลตามศัพท์ว่า “เป็นที่ตั้งแห่งผล” มีความหมายว่า ฐานะ, การตั้งอยู่, การดำรงอยู่, การหยุดอยู่, ที่ตั้ง, หลักแหล่ง, ตำแหน่ง, เหตุ, โอกาส

มาตร + ฐาน = มาตรฐาน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มาตรฐาน : (คำนาม) สิ่งที่ถือเอาเป็นเกณฑ์ที่รับรองกันทั่วไป เช่น เวลามาตรฐานกรีนิช, สิ่งที่ถือเอาเป็นเกณฑ์สำหรับเทียบกำหนด ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ เช่น มาตรฐานอุตสาหกรรม หนังสือนี้ยังไม่เข้ามาตรฐาน.”

มาตรฐาน” เทียบบาลีเป็น “มตฺตฏฺฐาน” (มัด-ตัด-ถา-นะ) แต่ไม่พบคำที่ใช้ในความหมายเช่นนี้

มาตรฐาน” จึงเป็นบาลีแบบไทยอีกคำหนึ่ง

โปรดสังเกต :

(๑) “มาตร-” ไม่ใช่ “มาตรา” ในภาษาไทยเป็นคนละความหมายกัน

(๒) มาตรฐาน จึงไม่ใช่ “มาตราฐาน” ระวัง อย่าเขียนผิด

: มีสติตลอดกาล เป็นมาตรฐานของชาวพุทธ

#บาลีวันละคำ (998)

10-2-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *