บาลีวันละคำ

ภักษาหาร (บาลีวันละคำ 3,717)

ภักษาหาร

หญ้าปากคอกอีกคำหนึ่ง

อ่านว่า พัก-สา-หาน

แยกศัพท์เป็น ภักษ + อาหาร

(๑) “ภักษ”

บาลีเป็น “ภกฺข” อ่านว่า พัก-ขะ รากศัพท์มาจาก ภกฺขฺ (ธาตุ = กิน) + อ (อะ) ปัจจัย

: ภกฺขฺ + อ = ภกฺข (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การกิน” “สิ่งที่กิน”

“ภกฺข” ในบาลี:

– เป็นคำนาม หมายถึง อาหาร, เหยื่อ, ภักษา (food, prey)

– เป็นคุณศัพท์ หมายถึง –

(1) รับประทาน, กินเป็นอาหาร (eating, feeding)

(2) กินได้, สำหรับกิน (eatable, to be eaten)

บาลี “ภกฺข” สันสกฤตเป็น “ภกฺษ” หมายถึง การเลี้ยงอาหาร, การรับประทานอาหาร, การดื่มน้ำโสม (feeding, partaking of food, drink of Soma)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้ทั้ง “ภักขะ” “ภักษ” และ “ภักษา” บอกไว้ดังนี้ –

(1) ภักขะ : (คำนาม) เหยื่อ, อาหาร. (ป. ภกฺข; ส. ภกฺษ).

(2) ภักษ-, ภักษ์ : (คำนาม) เหยื่อ, อาหาร. (คำกริยา) กิน. (ส. ภกฺษ; ป. ภกฺข).

(3) ภักษา : (คำนาม) เหยื่อ, อาหาร. (ส. ภกฺษ; ป. ภตฺต).

โปรดสังเกตที่คำว่า “ภักขะ” และ “ภักษ” พจนานุกรมฯ บอกว่า สันสกฤตเป็น “ภกฺษ” บาลีเป็น “ภกฺข”

แต่ที่คำว่า “ภักษา” พจนานุกรมฯ บอกว่า สันสกฤตเป็น “ภกฺษ” แต่บอกว่าบาลีเป็น “ภตฺต” ไม่ใช่ “ภกฺข” นับว่าชอบกลอยู่

(๒) “อาหาร”

บาลีอ่านว่า อา-หา-ระ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง, กลับความ, ในที่นี้ใช้ในความหมาย “กลับความ”) + หร (ธาตุ = นำไป, มี “อา” นำหน้า กลับความเป็น นำมา) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะต้นธาต คือ อะ ที่ ห-(รฺ) เป็น อา (หรฺ > หาร)

: อา + หรฺ = อาหร + ณ = อาหรณ > อาหร > อาหาร (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่นำมาซึ่งผล” ตามที่เข้าใจกันทั่วไปคือ เมื่อกินอาหารแล้วก็นำมาซึ่งผลคือมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ ดังที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“อาหาร : (คำนาม) ของกิน, เครื่องคํ้าจุนชีวิต, เครื่องหล่อเลี้ยงชีวิต, เช่น อาหารเช้า อาหารปลา อาหารนก; โดยปริยายหมายถึงสิ่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น อาหารตา อาหารใจ. (ป., ส.).”

พระพุทธศาสนาจำแนกอาหารออกเป็น 4 หมู่ คือ –

1 ของกินทั่วไป คืออาหารกาย (ศัพท์วิชาการว่า = กพฬิงการาหาร)

2 ตาดูหูฟัง อย่างเช่นดูหนังฟังเพลง หรือที่พูดว่า อาหารหูอาหารตา เป็นต้น ( = ผัสสาหาร)

3 ความหวังตั้งใจ เช่นมีความหวังว่าจะได้ จะมี จะเป็น เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงหัวใจอยู่ได้ ( = มโนสัญเจตนาหาร)

4 การได้รับรู้รับทราบ เช่นอยากรู้อะไรก็ได้รู้สิ่งนั้น (อาการที่ตรงกันข้าม คือ “หิวกระหายใคร่รู้”) เป็นอาหารอีกชนิดหนึ่ง ( = วิญญาณาหาร)

ภักษ + อาหาร = ภักษาหาร อ่านว่า พัก-สา-หาน เขียนกลับเป็นบาลีเป็น “ภกฺขาหาร” อ่านว่า พัก-ขา-หา-ระ แปลตามสำนวนนักเรียนบาลีว่า “อาหารคือของอันบุคคลพึงกิน”

หมายความว่า อาหารอาจจะมีหลายอย่าง แต่ในที่นี้อะไรที่กินได้ กินแล้วไม่เป็นพิษ กินแล้วต่อชีวิตต่อไปได้ หรือที่คนกินกันอยู่ตามปกติทั่วไป สิ่งนั้นคือ “ภักษ” = สิ่งที่กินได้ ดังนั้น “ภักษาหาร” จึงหมายถึง “อาหารคือของกินได้”

ถ้ามาเป็นชุดรวมกับคำอื่น เช่น “ธัญญาหาร” “ผลาหาร” “ภักษาหาร” “มังสาหาร” อะไรที่ไม่ใช่ “ธัญญ” ไม่ใช่ “ผล” และไม่ใช่ “มังส” นั่นแหละคือ “ภักษาหาร” กำหนดแยกไว้อย่างนี้ก็เข้าใจง่ายดี

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“ภักษาหาร : (คำนาม) เหยื่อ, อาหาร, อาหารที่กินประจํา, เช่น เนื้อเป็นภักษาหารของเสือ หญ้าเป็นภักษาหารของวัว.”

ขยายความ :

พระราชพิธีพืชมงคล จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปีพุทธศักราช 2565 ซึ่งมีขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2565 มีคำทำนายตอนหนึ่ง ดังนี้ –

…………..

… พระยาแรกนาได้เสี่ยงทายหยิบผ้าได้ 4 คืบ น้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่ และพระโคกินน้ำ หญ้า ถั่ว และเหล้า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี การคมนาคมสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง …

…………..

คำว่า “ธัญญาหาร” “ผลาหาร” “ภักษาหาร” “มังสาหาร” เป็นคำธรรมดาๆ ฟังหรืออ่านแล้วก็ผ่านไป เป็นอย่างที่เรียกว่า “หญ้าปากคอก”

“หญ้าปากคอก” หากปล่อยให้ผ่านเฉยเลยไปนานเข้า ถึงเวลาจำเป็นจะต้องรู้ความหมายเข้าจริงๆ บางทีอาจทำให้งงงวยไปได้เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น ทบทวนไว้ก็ไม่เสียหายอะไร

…………..

ดูก่อนภราดา!

: กินเพื่ออยู่ ก็สำคัญ

: แต่อยู่เพื่ออะไร สำคัญกว่า

#บาลีวันละคำ (3,717)

16-8-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *