อิจฺฉา-อิสฺสา (บาลีวันละคำ 520)
อิจฺฉา-อิสฺสา
อ่านว่า อิด-ฉา/อิด-สา
(ดู อิจฉา–ริษยา บาลีวันละคำ (385) 3-6-56 ประกอบด้วย)
“อิจฺฉา” (ถ้าเขียนเป็นภาษาไทย ไม่มีจุดใต้ จ) คำแปลตามรากศัพท์ว่า “กิริยาที่อยากได้” หมายถึง ความปรารถนา, ความประสงค์, ความอยากได้ ฝรั่งแปลว่า wish, longing, desire
“อิสฺสา” (ถ้าเขียนเป็นภาษาไทย ไม่มีจุดใต้ ส) คำแปลตามรากศัพท์ว่า “กิริยาที่ไม่พอใจในความดีทั้งที่มีอยู่ของผู้อื่น คือทำการยกความผิด (ข้อบกพร่อง ข้อเสียหายของผู้อื่น) ด้วยการพูด หรือด้วยการคิด” หมายถึง ความโกรธเคือง, ความไม่อยากให้คนอื่นได้ดี, เจตนาร้าย ฝรั่งแปลว่า jealousy, anger, envy, ill-will
“อิจฉา” เราคุ้นกันในภาษาไทย แต่ “อิสสา” ไม่คุ้น คำนี้สันสกฤตเป็น “อีรฺษา” และ “อีรฺษฺยา” เราเอามาเขียนเป็น “ริษยา” (ริด-สะ-หฺยา) และมักพูดควบกันเป็น “อิจฉาริษยา” (ถ้าพูดว่า “อิจฉาอิสสา” อาจฟังดูสับสนได้)
“อิจฉาริษยา” มักเข้าใจกันในความหมายว่า อาการที่ไม่อยากให้คนอื่นได้ดี, เห็นเขาได้ดีแล้วทนนิ่งอยู่ไม่ได้, เห็นคนอื่นได้ดีแล้วไม่สบายใจ ซึ่งเป็นความเข้าใจด้านเดียว
ในใจปุถุชนจะมีความอยากได้ นี่คือ “อิจฉา”
และพร้อมกันนั้นก็ไม่อยากให้คนอื่นได้เหมือนตน นี่คือ “ริษยา” (อิสสา)
ที่เราพูดกันว่า “อย่าอิจฉาริษยากันเลย” จึงเป็นการเตือนสติ 2 ด้าน คือ
– อย่า “อิจฉา” อยากได้จนเกินพอดี (ให้มี “สันโดษ”) ด้านหนึ่ง
– และอย่า “ริษยา” ขุ่นแค้นขัดเคืองเมื่อคนอื่นได้ดี (ให้มี “มุทิตา”) อีกด้านหนึ่ง
: เป็นความดีที่ไม่ “ริษยา” เขา
: แต่ “อิจฉา” ของเราก็ควรเอาแต่พอดีๆ
17-10-56