คุณสมบัติของครู (บาลีวันละคำ 610)
คุณสมบัติของครู
คำว่า “ครู” บาลีเป็น “ครุ” (คะ-รุ) และ “คุรุ” (คุ-รุ) แปลตามรากศัพท์ว่า (1) “ผู้ลอยเด่น” (2) “ผู้หลั่งความรู้ไปในหมู่ศิษย์” (3) “ผู้คายความรู้ให้หมู่ศิษย์”
แปลตามความหมายที่รับรู้ได้ด้วยความรู้สึกว่า ผู้รับภาระอันหนัก, ผู้ควรแก่การเคารพนับถือ, ผู้ควรได้รับการยกย่อง, ผู้ควรให้ความสำคัญ, ผู้ควรแก่ค่าสูง
“คุณสมบัติ” อ่านว่า คุน-นะ-สม-บัด
(พจน.42 บอกคำอ่านว่า คุน-สม-บัด ด้วย แต่ไม่ควรอ่านเช่นนั้นเพราะผิดหลักที่ดีในการอ่านคำสมาส)
ประกอบด้วย คุณ + สมบัติ
“คุณ” (บาลีอ่านว่า คุ-นะ) แปลว่า (1) คุณภาพ, คุณความดี, ผลประโยชน์, ผลบุญ (quality, good quality, advantage, merit) (2) ส่วนประกอบขึ้น, ส่วนผสม, สิ่งประกอบ (constituent part, ingredient, component, element) (3) ใช้กับจำนวน หมายถึง ประการ, ส่วน, เท่า (equal, fold) เช่น “ทิคุณ” = สองเท่า ตรงกับ “ทวีคูณ” ในคำไทย
“สมบัติ” บาลีเป็น “สมฺปตฺติ” (สำ-ปัด-ติ) แปลว่า (1) ความสำเร็จ, การบรรลุ; ความสุข, ความสำราญ, สมบัติ (success, attainment; happiness, bliss, fortune) (2) ความเลิศลอย, ความดีเด่นหรือสง่างาม (excellency, magnificence) (3) เกียรติ (honour) (4) ความรุ่งเรือง, ความสวยสดงดงาม (prosperity, splendor)
“สมบัติ” ในภาษาไทยมักเข้าใจกันว่า ทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้ เป็นต้นที่มีอยู่
คุณ + สมฺปตฺติ = คุณสมฺปตฺติ (คุ-นะ-สำ-ปัด-ติ) ในภาษาบาลีมีความหมาย 2 อย่าง คือ (1) ความถึงพร้อมด้วยคุณธรรม (2) ความสามารถที่จะบรรลุธรรมได้
คำว่า “คุณสมบัติ” ในภาษาไทย พจน.42 บอกความหมายว่า “คุณงามความดี, คุณลักษณะประจําตัวของบุคคล เช่น คุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง”
พระพุทธศาสนาแสดง “คุณสมบัติของครู” ไว้ดังนี้ –
1. ปิโย (น่ารัก ในฐานเป็นที่สบายใจและสนิทสนม ชวนให้อยากเข้าไปปรึกษา ไต่ถาม — lovable; endearing)
2. ครุ (น่าเคารพ ในฐานประพฤติสมควรแก่ฐานะ ให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นใจ เป็นที่พึ่งใจ และปลอดภัย — estimable; respectable; venerable)
3. ภาวนีโย (น่าเจริญใจ หรือน่ายกย่อง ในฐานทรงคุณคือความรู้และภูมิปัญญาแท้จริง ทั้งเป็นผู้ฝึกอบรมและปรับปรุงตนอยู่เสมอ ควรเอาอย่าง ทำให้ระลึกและเอ่ยอ้างด้วยซาบซึ้งภูมิใจ — adorable; cultured; emulable)
4. วตฺตา จ (รู้จักพูดให้ได้ผล รู้จักชี้แจงให้เข้าใจ รู้ว่าเมื่อไรควรพูดอะไรอย่างไร คอยให้คำแนะนำว่ากล่าวตักเตือน เป็นที่ปรึกษาที่ดี — being a counsellor)
5. วจนกฺขโม (อดทนต่อถ้อยคำ คือ พร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษาซักถามคำเสนอแนะวิพากษ์วิจารณ์ อดทน ฟังได้ไม่เบื่อ ไม่ฉุนเฉียว — being a patient listener)
6. คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา (แถลงเรื่องล้ำลึกได้ สามารถอธิบายเรื่องยุ่งยากซับซ้อน ให้เข้าใจ และให้เรียนรู้เรื่องราวที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป — able to deliver deep discourses or to treat profound subjects)
7. โน จฏฺฐาเน นิโยชเย (ไม่ชักนำในอฐาน คือ ไม่แนะนำในเรื่องเหลวไหล หรือชักจูงไปในทางเสื่อมเสีย — never exhorting groundlessly; not leading or spurring on to a useless end)
(อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม 23 ข้อ 34
ถ้อยความจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต)
ค ครู กับ ค ควาย :
ถ้าเห็นว่า “ไหว้ครู” เป็นความงมงาย
ก็ควรเป็นควายดีกว่าเป็นคน
16-1-57