บาลีวันละคำ

ฑ มณโฑ (บาลีวันละคำ 3,733)

ฑ มณโฑ

อย่าใช้ผิดในที่ไม่ควรใช้

อ่านว่า ทอ มน-โท

ในแบบท่องจำอักษรไทย เด็กไทยท่องจำกันมาว่า “ฑ ฑณโฑหน้าขาว” บางทีก็ว่า “ฑ นางฑณโฑหน้าขาว” คือหมายถึง นางมณโฑในเรื่องรามเกียรติ์ เพราะชื่อนางนั้น -โฑ ในคำว่า “มณโฑ” ใช้ ฑ

ฑ มณโฑ หรือ ฑ นางมณโฑ มีคำเรียกรู้กันอีกคำหนึ่งว่า ฑ หัวหยัก ซึ่งต่างจาก ท ทหาร ที่เป็น ท หัวกลมธรรมดา

ฑ มณโฑ กับ ท ทหาร เค้าโครงรูปอักษรเหมือนกัน ต่างกันที่หัว

ฑ มณโฑ หัวหยัก

ท ทหาร หัวกลม

“มณฺโฑ” ในภาษาบาลี รูปคำเดิมเป็น “มณฺฑ” อ่านตามเสียงบาลีว่า มัน-ดะ รากศัพท์มาจาก –

(1) มณฺฑฺ (ธาตุ = ประดับ) + อ (อะ) ปัจจัย)

: มณฺฑฺ + อ = มณฺฑ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่เป็นเครื่องประดับ”

มีรูปวิเคราะห์ (กระบวนการกระจายคำเพื่อหาความหมาย) ดังนี้

– มณุฑติ อเนนาติ มณุโฑ = เขาย่อมประดับด้วยส่วนนี้ เหตุนั้น ส่วนนี้จึงชื่อว่า “มณฺโฑ” (ส่วนที่เป็นเครื่องประดับ)

(2) มนฺ (ธาตุ = รู้) + ฑ ปัจจัย, แปลง นฺ เป็น ณ

: มนฺ + ฑ = มนฺฑ > มณฺฑ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนเป็นเหตุให้รู้”

มีรูปวิเคราะห์ ดังนี้

– มนติ เอเตนาติ มณุโฑ = เขาย่อมรู้ด้วยส่วนนี้ เหตุนั้น ส่วนนี้จึงชื่อว่า “มณฺโฑ” (ส่วนเป็นเหตุให้รู้)

“มณฺฑ” ตามรากศัพท์นี้หมายถึง ส่วนยอด, สาระสำคัญ, หัวกะทิ, ส่วนบนของนมหรือเนย

(3) มํ (แทนศัพท์ว่า “รตุตนฺธการ” = ความมืดในราตรี) + ฑิ (ธาตุ = กำจัด) อ (อะ) ปัจจัย, แปลงนิคหิตเป็น ณ (มํ > มณฺ), ลบสระที่สุดธาตุ (ฑิ > ฑ)

: มํ + ฑิ = มํฑิ > มณฺฑิ > มณฺฑ + อ = มณฺฑ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กำจัดความมืด”

มีรูปวิเคราะห์ ดังนี้

– มํ รตุตนฺธการํ เฑติ วินาเสตีติ มณุโฑ = เขาย่อมกำจัด คือทำความมืดให้หายไป เหตุนั้น จึงชื่อว่า “มณฺโฑ” (ผู้กำจัดความมืด)

“มณฺฑ” ตามรากศัพท์นี้หมายถึง แสงแดด, สิ่งที่ผ่องใส

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกความหมายของ “มณฺฑ” ในบาลีไว้ดังนี้ –

(1) ความหมายปกติ: the top part, best part of milk or butter, etc. i. e. cream, scum (ส่วนบน, ส่วนที่ดีที่สุดของนมหรือเนย, ฯลฯ คือ หัวนม, นมที่ลอยอยู่เป็นฝา)

(2) ความหมายเชิงอุปมา: essence of, the pick of, finest part of anything (หัวกะทิ, ส่วนที่เลือกไว้ (ล้วนแต่ดีๆ), ส่วนที่ดีที่สุด)

หลักภาษา :

ในพยัญชนะบาลี ฑ ฑณโฑ เป็น “พยัญชนะวรรค ฏ”

“พยัญชนะ” ในบาลีมี 2 กลุ่ม คือ พยัญชนะวรรค (พะ-ยัน-ชะ-นะ-วัก) และ พยัญชนะอวรรค (พะ-ยัน-ชะ-นะ-อะ-วัก)

ขอนำมาทบทวนสำหรับผู้ไม่คุ้นกับภาษาบาลี ในที่นี้เทียบกับอักษรโรมันไว้ให้ด้วย

…………..

(1) พยัญชนะวรรค

วรรค ก (อ่านว่า วรรค กะ ไม่ใช่วรรค กอ พยัญชนะทุกตัวออกเสียง อะ ไม่ใช่ ออ)

ก = K/k

ข = Kh/kh

ค = G/g

ฆ = Gh/gh

ง = ng (มีเฉพาะตัวตามหรือตัวสะกด)

วรรค จ

จ = C/c

ฉ = Ch/ch

ช = J/j

ฌ = Jh/jh

ญ = Ñ/ñ

วรรค ฏ (ฏ ปฏัก ไม่ใช่ ฎ ชฎา)

ฏ = Ṭ/ṭ

ฐ = Ṭh/ṭh

ฑ = Ḍ/ḍ

ฒ = Ḍh/ḍh

ณ = ṇ (มีเฉพาะตัวตามหรือตัวสะกด)

วรรค ต

ต = T/t

ถ = Th/th

ท = D/d

ธ = Dh/dh

น = N/n

วรรค ป

ป = P/p

ผ = Ph/ph

พ = B/b

ภ = Bh/bh

ม = M/m

(2) พยัญชนะอวรรค (อะ-วัก) คือไม่มีวรรคหรือไม่จัดเป็นวรรค มี 8 ตัว โปรดสังเกตว่า อํ (อ่านว่า อัง) ท่านจัดเป็นพยัญชนะด้วย

ย = Y/y

ร = R/r

ล = L/l

ว = V/v

ส = S/s

ห = H/h

ฬ = Ḷ/ḷ

อํ = Aŋ/aŋ

(3) สระ มี 8 ตัว

อะ = A/a

อา = Ā/ā

อิ = I/i

อี = Ī/ī

อุ = U/u

อู = Ū/ū

เอ = E/e

โอ = O/o

พยัญชนะวรรค ฏ มี 5 ตัว คือ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ (ฏะ ฐะ ฑะ ฒะ ณะ)

…………..

แถม :

มุทิตา

ทีฆายุโก

ทูต

3 คำนี้มักมีผู้เขียนเป็น –

มุฑิตา

ฑีฆายุโก

ฑูต

โปรดทราบว่านั่นเป็นคำที่เขียนผิด

โปรดช่วยกันจำไว้ว่า 3 คำนี้ใช้ ท ทหาร ไม่ใช่ ฑ มณโฑ

…………..

มุทิตา

ทีฆายุโก

ทูต

3 คำนี้ ใช้ ท ทหาร

มุทิตา ท ทหาร

ทีฆายุโก ท ทหาร

ทูต ท ทหาร

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เขียนผิดก็ไม่ตกนรก

: แต่ทำให้ภาษาสกปรก ไม่ควรทำ

#บาลีวันละคำ (3,733)

01-9-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *