ฐานานุศักดิ์ (บาลีวันละคำ 2,788)
ฐานานุศักดิ์
อ่านว่า ถา-นา-นุ-สัก
แยกศัพท์เป็น ฐาน + อนุศักดิ์
(๑) “ฐาน”
บาลีอ่านว่า ถา-นะ รากศัพท์มาจาก ฐา (ธาตุ = ตั้งอยู่) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: ฐา + ยุ > อน : ฐา + อน = ฐาน (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “เป็นที่ตั้งแห่งผล”
“ฐาน” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) สถานที่, เขตแคว้น, ตำบล, แหล่ง, ที่อาศัย, ส่วน [ของสิ่งใดๆ] (place, region, locality, abode, part)
(2) ภาวะ, สถานะ, สภาวะ (state, condition)
(3) ที่ตั้ง (location)
(4) อิริยาบถยืน (standing position)
(5) คุณลักษณะ, คุณภาพ, ตำแหน่ง (attribute, quality, degree)
(6) สิ่ง, ข้อ, จุด; ฐานะ, หนทาง, ประการ, เหตุผล [สำหรับการถือเช่นนั้น] (thing; item, point; grounds, ways, respects, [assumption] reason)
(7) ความคาดคิด, ข้อสมมุติ, หลักการ (supposition, principle)
(8) ทันทีทันใด (at once, immediately) (เช่นในคำว่า “ฐานโส” ซึ่งมักแปลกันว่า “โดยฐานะ” แต่ความหมายจริงๆ ในที่นี้ต้องแปลว่า “โดยพลัน” : “ฐานโส อุปกปฺปติ” = ย่อมสำเร็จโดยพลัน)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –
“ฐาน ๒, ฐาน-, ฐานะ : (คำนาม) ตำแหน่งหน้าที่ เช่น เธอต้องรับผิดชอบในฐานที่เป็นหัวหน้าห้อง; หลักฐาน, ลำดับความเป็นอยู่ในสังคม เช่น ทุกคนยอมรับรู้ฐานะในสังคมของเขา. (ป.).”
(๒) “อนุศักดิ์”
แยกคำเป็น อนุ + ศักดิ์
(ก) “อนุ” เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า –
(1) ภายหลัง, ข้างหลัง (after, behind) (คือมีสิ่งหนึ่งไปข้างหน้า และสิ่งนี้ตามไปข้างหลัง)
(2) ไปยัง, ตรงไปยังเป้าหมาย, ดำเนินต่อไป, ข้ามไปยัง, ข้างหน้า (for, towards an aim, on to, over to, forward)
(ข) “ศักดิ์” บาลีเป็น “สตฺติ” (สัด-ติ) รากศัพท์มาจาก –
(1) สกฺ (ธาตุ = สามารถ) + ติ ปัจจัย, แปลง กฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ (นัยหนึ่งว่า ลบ กฺ ซ้อน ตฺ)
: สกฺ + ติ = สกฺติ > สตฺติ แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่สามารถ” หมายถึง ความสามารถ, กำลัง, อำนาจ (ability, power)
(2) สสฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ติ ปัจจัย, แปลง สฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ
: สสฺ + ติ = สสฺติ > สตฺติ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เบียดเบียน” หมายถึง หอก, หลาว; มีด, กริช, ดาบ (a spear, javelin; knife, dagger, sword)
บาลี “สตฺติ” สันสกฤตเป็น “ศกฺติ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ศกฺติ : (คำนาม) ‘ศักติ,’ กำลัง, แรง, ความกล้า; หอกหรือศรเหล็ก; เตชัส (หรือเดช) ของเทพดา, อันโรปยติเปนชายาของเธอ; นัยหรือความหมายของศัพท์; power, strength, prowess; an iron spear or dart; the energy of a deity, personified as his wife; signification or meaning of words.”
ภาษาไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ศักดิ” และนิยมออกเสียงว่า “สัก” จึงสะกดเป็น “ศักดิ์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –
“ศักดิ์ : (คำนาม) อํานาจ, ความสามารถ, เช่น มีศักดิ์สูง ถือศักดิ์; กำลัง; ฐานะ เช่นมีศักดิ์และสิทธิแห่งปริญญานี้ทุกประการ; หอก, หลาว. (ส. ศกฺติ; ป. สตฺติ).”
สรุปว่า สตฺติ > ศกฺติ > ศักดิ์ มีความหมาย 2 อย่าง คือ (1) ความสามารถ, กำลัง, อำนาจ (2) หอก, หลาว; มีด, กริช, ดาบ
ในที่นี้ “ศักดิ์” หมายถึง อำนาจ, ความสามารถ
อนุ + ศักดิ์ = อนุศักดิ์ แปลว่า “อำนาจที่มีตาม (ฐานะ)” หมายถึง อำนาจใหญ่น้อยที่จะพึงมีตามฐานะ
คำว่า “อนุศักดิ์” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
ฐาน + อนุศักดิ์ = ฐานานุศักดิ์
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ฐานานุศักดิ์ : (คำวิเศษณ์) ตามควรแก่เกียรติศักดิ์. (คำโบราณ) (คำนาม) ศักดิ์ใหญ่และศักดิ์น้อย, ถ้าศักดิ์นาสูงกว่า ๔๐๐ ขึ้นไป เรียกว่า สูงนา หรือ ศักดิ์ใหญ่ ถ้าศักดิ์นาต่ำกว่า ๔๐๐ เรียกว่า ต่ำนา หรือ ศักดิ์น้อย; ศักดิ์ที่พระราชาคณะมีอำนาจตั้งฐานานุกรมได้.”
ขยายความ :
คำว่า “ฐานานุศักดิ์” เป็นคำที่ใช้ในข้อความในสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์
ตัวอย่างข้อความในสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์
…………..
ด้วยทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ ในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๙๙ คือให้
พระเทพเมธี เป็น พระธรรมโกศาจารย์ สุนทรญาณดิลก ตรีปิฎกธรรมภูสิต ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี สถิต ณ วัดราษฎร์บำรุง จังหวัดชลบุรี มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ ๖ รูป คือ พระครูปลัดศีลวัฒน์ ๑ พระครูวินัยธร ๑ พระครูธรรมธร ๑ พระครูสังฆพินัย ๑ พระครูสมุห์ ๑ พระครูใบฎีกา ๑
ที่มา: ราชกิจจานุเบกษา หน้า 1 เล่ม 74 ตอนที่ 6 12 มกราคม 2500
…………..
เป็นอันได้ความว่า พระ 6 รูป ตามรายชื่อมีพระครูปลัดศีลวัฒน์เป็นต้น เป็นพระฐานานุกรมซึ่งตั้งตาม “ฐานานุศักดิ์” ของพระธรรมโกศาจารย์ นั่นคือ พระธรรมโกศาจารย์ “มีอำนาจตั้งฐานานุกรมได้” ตามคำนิยามความหมายของ “ฐานานุศักดิ์” ในพจนานุกรมฯ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: คนมีตำแหน่ง จำเป็นต้องทำความดี
: แต่คนทำความดีไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่ง
#บาลีวันละคำ (2,788) 30-1-63