บาลีวันละคำ

ไวยากรณ์ (บาลีวันละคำ 521)

ไวยากรณ์

อ่านว่า ไว-ยา-กอน

บาลีเป็น “วฺยากรณ” อ่านว่า วยา-กะ-ระ-นะ และ “เวยฺยากรณ” อ่านว่า เว็ย-ยา-กะ-ระ-นะ

วฺยากรณ” รากศัพท์มาจาก วิ (= พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + อา (= ทั่ว, ยิ่ง) + กร (ธาตุ = ทำ) + ยุ (ปัจจัย แปลงเป็น อน [อะ-นะ] ประกอบท้ายธาตุที่ลงท้ายด้วย ให้แปลง เป็น ) : วิ + อา = วฺยา + กร = วฺยากร + ยุ > อน > อณ = วฺยากรณ

วฺยากรณ แปลตามศัพท์ว่า “ทำให้แจ้ง” มีความหมาย 4 อย่าง คือ

1. คำตอบ, การตอบปัญหา, การอธิบาย, การไขความ (answer, explanation, exposition)

2. การทำนาย, คำยืนยันหรือคำรับรองว่าเป็นความจริงหรือจะเป็นไปดังที่ตั้งใจหรือคาดหวัง (prediction)

3. พระพุทธพจน์ที่เป็นข้อความร้อยแก้วล้วน เช่นพระอภิธรรมปิฎกทั้งหมด และพระสูตรที่ไม่มีคาถา (prose-expositions เป็นข้อหนึ่งในลักษณะคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่า “นวังคสัตถุศาสน์” คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ – ความหมายนี้บาลีมักใช้ในรูป “เวยฺยากรณ”)

4. ระเบียบของภาษา, วิชาว่าด้วยระเบียบแห่งภาษา (grammar); นักไวยากรณ์ (grammarian ความหมายนี้บาลีมักใช้ในรูป “เวยฺยากรณ”)

วฺยากรณ ภาษาไทยใช้ว่า “ไวยากรณ์” และหมายถึงเฉพาะวิชาภาษาว่าด้วยรูปคําและระเบียบในการประกอบรูปคําให้เป็นประโยค (พจน.42-ตรงกับความหมายตามข้อ 4)

ถ้าเปลี่ยนรูปเป็น “พยากรณ์” ก็จะหมายถึงทํานายหรือคาดการณ์โดยอาศัยหลักวิชา (ตรงกับความหมายตามข้อ 2)

: รู้แจ้งพิภพจบสากล

หัวใจตนกลับไม่รู้อดสูใจ

——————-

(Worawan Wanwil อยากทราบว่า “ไวยากรณ์” กับ “ไวยาวัจกร” เขียนต่างกันไม่มาก รากของคำเป็นอย่างไร)

18-10-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย