บาลีวันละคำ

ปวารณากรรม (บาลีวันละคำ 522)

ปวารณากรรม

อ่านว่า ปะ-วา-ระ-นา-กำ

บาลีเป็น “ปวารณากมฺม” อ่านว่า ปะ-วา-ระ-นา-กำ-มะ

ประกอบด้วย ปวารณา + กมฺม

ปวารณา” มาจาก (= ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + วร (ธาตุ = ขอ, ต้องการ, ห้าม)+ ยุ (ปัจจัย แปลงเป็น อน [อะ-นะ] ประกอบท้ายธาตุที่ลงท้ายด้วย ให้แปลง เป็น ) : + วร >= วาร + ยุ > อน > อณ = ปวารณา แปลว่า การยอมให้ขอ, การยอมให้ว่ากล่าวตักเตือน, การห้าม (ดูรายเอียดที่คำว่า “ปวารณา” บาลีวันละคำ (175) 30-10-55)

กมฺม” แปลว่า การกระทำ, กิจที่พึงทำ ในที่นี้หมายถึง การกระทำพิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งของสงฆ์

ปวารณากรรม” มีความหมายว่า “พิธีการยอมให้ว่ากล่าวตักเตือน” มีพุทธานุญาตให้สงฆ์ทำในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 แทนอุโบสถสังฆกรรม (การประชุมฟังพระปาติโมกข์) วันนี้มีชื่อเรียกตามบาลีว่า “วันมหาปวารณา” ด้วยเหตุที่เป็นวันทำ “ปวารณากรรม” แต่คนทั่วไปมักเรียกกันว่า “วันออกพรรษา

เนื้อหาของ “ปวารณากรรม” คือภิกษุแต่ละรูปเปล่งวาจา (เป็นภาษาบาลี) มีใจความว่า –

ข้าพเจ้าขอปวารณาต่อสงฆ์ ถ้าข้าพเจ้ามีข้อบกพร่องเสียหาย โดยท่านได้เห็นเองก็ตาม มีผู้บอกเล่าก็ตาม หรือนึกระแวงสงสัยก็ตาม, ขอจงว่ากล่าวตักเตือนด้วยความหวังดี เมื่อข้าพเจ้าเข้าใจเรื่องนั้นแล้วจะได้แก้ไขให้ถูกต้อง

ปวารณากรรม” เป็นกิจของสงฆ์ แต่บัณฑิตทั้งหลายแนะนำให้ชาวบ้านนำไปใช้ได้ด้วยโดยอนุโลม

อยู่ด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป ควรทำปวารณากรรมต่อกันเป็นนิตย์

: คำตักเตือนเหมือนชี้ขุมคลัง

: ต่อให้แสนเก่งก็พัง-ถ้าไม่ฟังคำเตือน

———————

(กราบขอบพระคุณ พระคุณท่าน Sunant Pramaha, อธิพัชร์ จันดาชัยอนันต์ และ สามเณรคริสเบิร์นลีย์ ฟอเรสต์กรีน ที่กรุณาเตือนให้เขียนคำที่เกี่ยวกับออกพรรษา)

19-10-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย