อัณฑชะ (บาลีวันละคำ 3,748)
อัณฑชะ
เกิดในไข่ – 1 ในกำเนิดทั้ง 4
“อัณฑชะ” เขียนแบบบาลีเป็น “อณฺฑช” รากศัพท์มาจาก อณฺฑ + ช
(๑) “อณฺฑ”
อ่านตามหลักบาลีว่า อัน-ดะ รากศัพท์มาจาก –
(1) อมฺ (ธาตุ = ไป) + ฑ ปัจจัย, แปลง มฺ เป็น ณฺ
: อมฺ + ฑ = อมฺฑ > อณฺฑ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นที่ไป” คือเป็นที่เกิดขึ้นแห่งสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย
(2) อฑิ (ธาตุ = ออกไข่, วางไข่) + อ (อะ) ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ อ ต้นธาตุแล้วแปลงเป็น ณฺ (อฑิ > อํฑิ > อณฺฑิ), ลบสระที่สุดธาตุ (อฑิ > อฑ)
: อฑิ > อํฑิ > อณฺฑิ > อณฺฑ + อ = อณฺฑ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ถูกไข่ออกมา”
“อณฺฑ” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง –
(1) ไข่ (an egg)
(2) ลูกอัณฑะ (the testicles)
(3) ถุงน้ำ (a water-bag)
บาลี “อณฺฑ” ในภาษาไทยใช้เป็น “อัณฑ-” (มีคำอื่นมาสาสมาสข้างท้าย) และ “อัณฑะ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อัณฑ-, อัณฑะ : (คำนาม) ส่วนหนึ่งของอวัยวะลับชาย, กระโปก; ไข่. (ป., ส.).”
ข้อสังเกต :
(1) คำว่า “อัณฑะ” ภาษาไทยอ่านว่า อัน-ทะ แต่ในภาษาบาลีอ่านตามหลักว่า อัน-ดะ เทียบได้กับคำว่า มณฑป อ่านว่า มน-ดบ ไม่ใช่ มน-ทบ
(2) ในภาษาไทย ฑ มณโฑ บางคำออกเสียง ด บางคำออกเสียง ท ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์บางอย่าง แต่ในภาษาบาลีออกเสียง ด ทุกคำ
(3) อักษร ณฺฑ ในภาษาบาลี เมื่อเขียนด้วยอักษรโรมัน ใช้อักษร ṇḍ (มีจุดใต้ n ทำให้เป็น ณ และจุดใต้ d ทำให้เป็น ฑ) เช่นคำว่า อณฺฑ เขียนว่า aṇḍa นี่คือเหตุผลที่บาลีออกเสียง ฑ เป็น ด
(4) ความหมายเด่นของ “อณฺฑ” คือ egg ศัพท์ว่า “อณฺฑ” ที่นักเรียนบาลีในเมืองไทยพบส่วนมากจะหมายถึง egg ไม่ใช่ the testicles ดังนั้“อณฺฑ” ในห้วงนึกของคนเรียนบาลีจึงไม่มีเป็นอย่างอื่นนอกจาก egg
(5) นักบาลีรุ่นเก่าแปล “อณฺฑ” ว่า “ฟอง” ไม่ได้แปลว่า “ไข่” คนปัจจุบันมักเข้าใจว่า “ฟอง” เป็นลักษณนามเรียกไข่อย่างเดียว ความจริงแล้ว “ฟอง” หมายถึง “ไข่” โดยตรง
(6) “อณฺฑ” หมายถึง “กระโปก” (the testicles) ก็ได้ (กระโปก : ส่วนควบของอวัยวะเพศชายหรือสัตว์ตัวผู้) ภาษาสุภาพเรียกอวัยวะนี้ว่า “ลูกอัณฑะ” ซึ่งเท่ากับใช้คำทับศัพท์นั่นเอง
(7) “ไข่” เป็นภาษาปากเรียก “กระโปก” ด้วย ซึ่งคำสุภาพใช้ว่า “ลูกอัณฑะ” ดังกล่าวแล้ว
(8 ) วงจรของคำแปล “อณฺฑ-อัณฑะ” จึงน่าจะเป็น ฟอง > ไข่ > กระโปก > อัณฑะ > ฟอง > ….
หมายความว่า แรกเริ่มแปลอัณฑะว่า ฟอง จากฟองหมายถึงไข่ จากไข่นึกถึงกระโปก จากกระโปกนึกถึงคำสุภาพว่า ลูกอัณฑะ คือวนกลับมาที่ “อัณฑะ” อีก
(9) จาก “อัณฑะ” จึงควรจะนึกถึง “ฟอง” คือ egg แต่คนส่วนมากเมื่อเห็นคำว่า “อัณฑะ” จิตจะประหวัดไปถึง the testicles ที่ใช้เรียกด้วยคำสุภาพว่า “ลูกอัณฑะ” ดังนั้น ความหมายเด่นของ “อัณฑะ” ในภาษาไทยกลายเป็น the testicles ในขณะที่นักเรียนบาลีมักจะนึกถึง “อัณฑะ” ในความหมายว่า egg
(๒) “ช”
อ่านว่า ชะ รากศัพท์มาจาก ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ นฺ ที่สุดธาตุและ กวิ
: ชนฺ + กฺวิ = ชนกฺวิ > ชน > ช แปลตามศัพท์ว่า “(สิ่งที่) เกิด–”
ขยายความแทรก :
“ช” คำเดียวแปลว่า “เกิด” โดยปกติแล้วจะไม่ใช้เดี่ยวๆ คือจะมีแต่คำว่า “ช” ตัวเดียวไม่ได้ จะต้องมีคำอื่นอยู่ข้างหน้า หรือเป็นคำที่ใช้ต่อท้ายคำอื่น จึงจะแปลว่า “เกิด” ได้
เช่น “วาริช” “วาริ” แปลว่า “น้ำ” “วาริช” จึงแปลว่า “สิ่งที่เกิดในน้ำ” “สิ่งที่เกิดจากน้ำ” หรือ “สิ่งที่เกิดเพราะน้ำ” แล้วแต่ว่าคำไหนจะมีความกลมกลืนดีกว่ากัน
อณฺฑ + ช = อณฺฑช (บาลีอ่านว่า อัน-ดะ-ชะ) ท่านแสดงรูปวิเคราะห์ไว้ว่า –
อณฺฑโต ชายตีติ อณฺฑโช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เกิดจากไข่”
บาลี “อณฺฑช” ในภาษาไทย ใช้เป็น “อัณฑชะ” (อัน-ทะ-ชะ) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อัณฑชะ : (คำนาม) “เกิดแต่ไข่” หมายถึง สัตว์ที่เกิดจากไข่ เช่น ไก่ นก เต่า. (ป., ส.).”
“อัณฑชะ” เป็น 1 ในกำเนิดทั้ง 4 ของสัตว์ คือ ชลาพุชะ อัณฑชะ สังเสทชะ และ โอปปาติกะ
ขยายความ :
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แสดงความหมายแต่ละอย่างของกำเนิดทั้ง 4 ของสัตว์ไว้ดังนี้ –
…………..
(1) ชลาพุชะ, ชลามพุชะ: สัตว์เกิดในครรภ์ ได้แก่มนุษย์ และสัตว์เดียรัจฉานที่ออกลูกเป็นตัว
(2) อัณฑชะ: สัตว์เกิดในไข่ คือออกไข่เป็นฟองแล้วจึงฟักออกเป็นตัว เช่น ไก่ นก จิ้งจก เป็นต้น
(3) สังเสทชะ: สัตว์เกิดในของชื้นแฉะโสโครก เช่น หมู่หนอน
(4) โอปปาติกะ: สัตว์เกิดผุดขึ้น คือ เกิดผุดขึ้นมาและโตเต็มตัวในทันใด ตายก็ไม่ต้องมีเชื้อหรือซากปรากฏ เช่นเทวดาและสัตว์นรก เป็นต้น; บาลีว่า รวมทั้งมนุษย์บางพวก
…………..
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [171] แสดงความหมายแต่ละอย่างของกำเนิดทั้ง 4 ของสัตว์อีกนัยหนึ่งไว้ดังนี้ –
…………..
โยนิ 4 กำเนิด, แบบหรือชนิดของการเกิด (ways or kinds of birth; modes of generation)
1. ชลาพุชะ สัตว์เกิดในครรภ์ คือ คลอดออกมาเป็นตัว เช่น คน โค สุนัข แมว เป็นต้น (the viviparous; womb-born creatures)
2. อัณฑชะ สัตว์เกิดในไข่ คือ ออกไข่เป็นฟองก่อนแล้วจึงฟักเป็นตัว เช่น นก เป็ด ไก่ เป็นต้น (the oviparous; egg-born creatures)
3. สังเสทชะ สัตว์เกิดในไคล คือ เกิดในของชื้นแฉะหมักหมมเน่าเปื่อย ขยายแพร่ออกไปเอง เช่น กิมิชาติบางชนิด (putrescence-born creatures; moisture-born creatures)
4. โอปปาติกะ สัตว์เกิดผุดขึ้น คือ เกิดผุดเต็มตัวในทันใด ได้แก่ เทวดา สัตว์นรก มนุษย์บางพวก และเปรตบางพวก ท่านว่า เกิดและตาย ไม่ต้องมีเชื้อหรือซากปรากฏ (spontaneously born creatures; the apparitional)
…………..
ดูก่อนภราดา!
แด่ผู้ที่ชอบถกเถียงกัน:
ไก่เกิดก่อนไข่ หรือไข่เกิดก่อนไก่
: เกิดหลังหรือเกิดก่อน
ล้วนม้วยมรณ์ด้วยมัจจุมาร
: เถียงกันก็ป่วยการ
หาทางไม่เกิดกันเถิดเกลอ
#บาลีวันละคำ (3,748)
16-9-65
…………………………….
…………………………….