สังเสทชะ (บาลีวันละคำ 3,749)
สังเสทชะ
เกิดในเถ้าไคล – 1 ในกำเนิดทั้ง 4
“สังเสทชะ” เขียนแบบบาลีเป็น “สํเสทช” รากศัพท์มาจาก สํเสท + ช
(๑) “สํเสท”
อ่านว่า สัง-เส-ทะ รากศัพท์มาจาก –
(1) สํ (คำอุปสรรค = ร่วมกัน, พร้อมกัน) + สิทฺ (ธาตุ = ปล่อย, พ้น; ชุ่มชื่น) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อิ ที่ สิ-(ทฺ) เป็น เอ (สิทฺ > เสท)
: สํ + สิทฺ = สํสิทฺ + ณ = สํสิทณ > สํสิท > สํเสท แปลตามศัพท์ว่า (1) “น้ำที่ไหลออกพร้อมกัน” (2) “น้ำที่เปียกชุ่มอยู่ด้วยกัน”
(2) สํ (คำอุปสรรค = ร่วมกัน, พร้อมกัน) + เส (ธาตุ = สุก, ต้ม, หุง) + ต แผลง ต เป็น ท
: สํ + เส = สํเส + ต = สํเสต > สํเสท แปลตามศัพท์ว่า “น้ำที่สุกพร้อมกัน”
“สํเสท” (ปุงลิงค์) นักเรียนบาลีรุ่นเก่าแปลกันว่า “เถ้าไคล” และเข้าใจกันว่าหมายถึงสิ่งที่บูดเน่าหมักหมม
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สํเสท” ว่า sweat, moisture (เหงื่อ, ความชื้น)
(๒) “ช”
อ่านว่า ชะ รากศัพท์มาจาก ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ นฺ ที่สุดธาตุและ กวิ
: ชนฺ + กฺวิ = ชนกฺวิ > ชน > ช แปลตามศัพท์ว่า “(สิ่งที่) เกิด–”
ขยายความแทรก :
“ช” คำเดียวแปลว่า “เกิด” โดยปกติแล้วจะไม่ใช้เดี่ยวๆ คือจะมีแต่คำว่า “ช” ตัวเดียวไม่ได้ จะต้องมีคำอื่นอยู่ข้างหน้า หรือเป็นคำที่ใช้ต่อท้ายคำอื่น จึงจะแปลว่า “เกิด” ได้
เช่น “วาริช” “วาริ” แปลว่า “น้ำ” “วาริช” จึงแปลว่า “สิ่งที่เกิดในน้ำ” “สิ่งที่เกิดจากน้ำ” หรือ “สิ่งที่เกิดเพราะน้ำ” แล้วแต่ว่าคำไหนจะมีความกลมกลืนดีกว่ากัน
สํเสท + ช = สํเสทช (สัง-เส-ทะ-ชะ) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เกิดจากของหมักหมม”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สํเสทช” ว่า born or arisen from moisture (กำเนิดหรือเกิดขึ้นจากความชื้น)
บาลี “สํเสทช” ในภาษาไทย ใช้เป็น “สังเสทชะ” (สัง-เส-ทะ-ชะ) คำนี้ยังไม่ได้เก็บไว้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
“สังเสทชะ” เป็น 1 ในกำเนิดทั้ง 4 ของสัตว์ คือ ชลาพุชะ อัณฑชะ สังเสทชะ และ โอปปาติกะ
ข้อสังเกต :
หนังสือ ธรรมวิภาค ปริเฉที่ 2 หลักสูตรนักธรรมชั้นโท พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ตอนอธิบาย โยนิ 4 มีข้อที่ควรสังเกตในการแยกความแตกต่างระหว่างอัณฑทชะกับสังเสทชะ ดังนี้ –
…………..
กำเนิดอัณฑชะนั้นได้แก่กำเนิดดิรัจฉานที่เกิดในไข่ก่อนแล้วจึงฟักออกเป็นตัว เช่น ไก่ เป็ด นก เป็นต้น. กำเนิดสังเสทชะท่านหมายเอากำเนิดดิรัจฉานที่เกิดในของโสมม เช่นหมู่หนอน. ถ้าแยกให้ชัดจากกำเนิดอัณฑชะควรแบ่งดังนี้ จำพวกเกิดในไข่ฟักแล้วเป็นตัวเติบขึ้น นับเข้าในจำพวกสัตว์ จัดเป็นอัณฑชะ. จำพวกเกิดในไข่หรือไม่ปรากฏว่าเกิดจากอะไร เป็นชนิดหนอนและแมลงต่างๆ จัดเป็นสังเสทชะ. อีกอย่างหนึ่ง น่ากำหนดว่า จำพวกมีเลือดแดงจัดเป็นอัณฑชะ จำพวกมีเลือดเหลืองจัดเป็นสังเสทชะ โดยเค้าเงื่อนก็สมกัน.
ที่มา: ธรรมวิภาค ปริเฉที่ 2 หน้า 56
…………..
ขยายความ :
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แสดงความหมายแต่ละอย่างของกำเนิดทั้ง 4 ของสัตว์ไว้ดังนี้ –
…………..
(1) ชลาพุชะ, ชลามพุชะ: สัตว์เกิดในครรภ์ ได้แก่มนุษย์ และสัตว์เดียรัจฉานที่ออกลูกเป็นตัว
(2) อัณฑชะ: สัตว์เกิดในไข่ คือออกไข่เป็นฟองแล้วจึงฟักออกเป็นตัว เช่น ไก่ นก จิ้งจก เป็นต้น
(3) สังเสทชะ: สัตว์เกิดในของชื้นแฉะโสโครก เช่น หมู่หนอน
(4) โอปปาติกะ: สัตว์เกิดผุดขึ้น คือ เกิดผุดขึ้นมาและโตเต็มตัวในทันใด ตายก็ไม่ต้องมีเชื้อหรือซากปรากฏ เช่นเทวดาและสัตว์นรก เป็นต้น; บาลีว่า รวมทั้งมนุษย์บางพวก
…………..
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [171] แสดงความหมายแต่ละอย่างของกำเนิดทั้ง 4 ของสัตว์อีกนัยหนึ่งไว้ดังนี้ –
…………..
โยนิ 4 กำเนิด, แบบหรือชนิดของการเกิด (ways or kinds of birth; modes of generation)
1. ชลาพุชะ สัตว์เกิดในครรภ์ คือ คลอดออกมาเป็นตัว เช่น คน โค สุนัข แมว เป็นต้น (the viviparous; womb-born creatures)
2. อัณฑชะ สัตว์เกิดในไข่ คือ ออกไข่เป็นฟองก่อนแล้วจึงฟักเป็นตัว เช่น นก เป็ด ไก่ เป็นต้น (the oviparous; egg-born creatures)
3. สังเสทชะ สัตว์เกิดในไคล คือ เกิดในของชื้นแฉะหมักหมมเน่าเปื่อย ขยายแพร่ออกไปเอง เช่น กิมิชาติบางชนิด (putrescence-born creatures; moisture-born creatures)
4. โอปปาติกะ สัตว์เกิดผุดขึ้น คือ เกิดผุดเต็มตัวในทันใด ได้แก่ เทวดา สัตว์นรก มนุษย์บางพวก และเปรตบางพวก ท่านว่า เกิดและตาย ไม่ต้องมีเชื้อหรือซากปรากฏ (spontaneously born creatures; the apparitional)
…………..
ดูก่อนภราดา!
: หนอนที่อิ่ม
: มีความสุขมากกว่าคนที่หิว
#บาลีวันละคำ (3,749)
17-9-65
…………………………….
…………………………….