เอกาหํ (บาลีวันละคำ 3,751)
เอกาหํ
คำบาลีที่น่าจำติดปาก
“เอกาหํ” ประกอบด้วยคำว่า เอก + อหํ
(๑) “เอก”
บาลีอ่านว่า เอ-กะ รากศัพท์มาจาก อิ (ธาตุ = ไป, เป็นไป, ตั้งอยู่) + ณฺวุ ปัจจัย, แผลง อิ เป็น เอ, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ)
: อิ + ณฺวุ = อิณฺวุ > เอณฺวุ > เอก แปลตามศัพท์ว่า (1) “ไปตามลำพัง” (คือไม่มีเพื่อนไปด้วย) (2) “ดำรงอยู่ในความเป็นหนึ่งเดียวเพราะไร้ผู้เหมือนกัน”
“เอก” ในบาลีใช้ใน 2 สถานะ คือ –
(1) เป็นสังขยา (คำบอกจำนวน) เช่น “ชายหนึ่งคน” เน้นที่จำนวน 1 คน = มุ่งจะกล่าวว่าชายที่เอ่ยถึงนี้มีเพียง “หนึ่งคน”
(2) เป็นคุณศัพท์ เช่น “ชายคนหนึ่ง” ไม่เน้นที่จำนวน = มุ่งจะกล่าวถึงชายคนใดคนหนึ่งเท่านั้น
“เอก” หมายถึง หนึ่ง, หนึ่งเดียว, ดีที่สุด
(๒) “อหํ”
อ่านว่า อะ-หัง รูปคำเดิมเป็น “อห” อ่านว่า อะ-หะ รากศัพท์มาจาก น (คำนิบาต = ไม่, ไม่ใช่) + หา (ธาตุ = ละ, ทิ้ง) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลง น เป็น อ, ลบสระหน้า คือ อา ที่ หา (หา > ห)
: น + หา = นหา > อหา > อห + อ = อห (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “เวลาที่ไม่ละการย้อนกลับมา” หมายถึง วัน (a day)
“วัน” คือที่เราเข้าใจกันในความหมายว่า วันเวลาหรือวันคืน ในที่นี้ควรถือโอกาสศึกษากันดูว่าพจนานุกรมให้คำนิยามหรือคำจำกัดความอย่างไร
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
วัน ๑ : (คำนาม)
(1) ระยะเวลา ๒๔ ชั่วโมง ตั้งแต่ยํ่ารุ่งถึงยํ่ารุ่ง หรือตั้งแต่เที่ยงคืนถึงเที่ยงคืน เช่น วันเฉลิมพระชนมพรรษาหยุดราชการ ๑ วัน,
(2) ระยะเวลา ๑๒ ชั่วโมง ตั้งแต่ย่ำรุ่งถึงย่ำค่ำ เรียกว่า กลางวัน, มักเรียกสั้น ๆ ว่า วัน, ระยะเวลา ๑๒ ชั่วโมง ตั้งแต่ย่ำค่ำถึงย่ำรุ่ง เรียกว่า กลางคืน, มักเรียกสั้น ๆ ว่า คืน, เช่น เขาไปสัมมนาที่พัทยา ๒ วัน ๑ คืน,
(3) ช่วงเวลากลางวัน เช่น เช้าขึ้นมาก็รีบไปทำงานทุกวัน;
(4) (คำที่ใช้ในกฎหมาย) ในทางคดีความ ในทางราชการ หรือทางธุรกิจการค้าและการอุตสาหกรรม วัน หมายความว่า เวลาทำการตามที่ได้กำหนดขึ้นโดยกฎหมาย คำสั่งศาล หรือระเบียบข้อบังคับ หรือเวลาทำการตามปรกติของกิจการนั้น แล้วแต่กรณี.
เอก + อห = เอกาห (เอ-กา-หะ) แปลว่า “หนึ่งวัน”
“เอกาห” แจกด้วยวิภัตตินามที่สอง (ทุติยาวิภัตติ) เอกวจนะ นปุงสกลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “เอกาหํ” (เอ-กา-หัง) แปลว่า “สิ้นหนึ่งวัน” “ตลอดหนึ่งวัน”
ขยายความ :
ภาษาบาลีที่มีคำว่า “เอกาหํ” อยู่ในประโยคและมีความหมายที่น่าสนใจ คือคาถาในคัมภีร์ธรรมบท โครงสร้างของประโยคที่น่าสังเกตเป็นดังนี้ –
…………..
คาถาบาทที่ 1: โย จ วสฺสสตํ ชีเว
คาถาบาทที่ 2: …………………….
คาถาบาทที่ 3: เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย
คาถาบาทที่ 4: …………………….
…………..
เค้าความในคาถามักจะเป็นดังนี้ –
คาถาบาทที่ 1: โย จ วสฺสสตํ ชีเว (โย จะ วัสสะสะตัง ชีเว) = ผู้ใดมีชีวิตอยู่ร้อยปี
คาถาบาทที่ 2: = แต่ไม่มีคุณธรรมเช่นนี้ๆ
คาถาบาทที่ 4: = ผู้ที่มีคุณธรรมเช่นนี้ๆ
คาถาบาทที่ 3: เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย (เอกาหัง ชีวิตัง เสยโย) = มีชีวิตอยู่วันเดียวประเสริฐกว่า
…………..
ขออัญเชิญพระพุทธพจน์ในพระธรรมบทมาแสดงในที่นี้ เป็นการศึกษาบาลีและศึกษาหลักธรรมคำสอนไปพร้อมๆ กัน
ในที่นี้ไม่ได้เขียนคำอ่านไว้ให้ ทั้งนี้เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้เรียนบาลีได้ฝึกอ่านคำบาลีที่เขียนแบบบาลีไปด้วย
เวลาอ่านให้ตั้งอารมณ์ว่า เรากำลังสวดมนต์ ถ้ามั่นใจว่าสวดมนต์ได้บุญ การอ่านคำบาลีในพระธรรมบทที่อัญเชิญมานี้ก็ย่อมได้บุญเช่นกัน ได้บุญด้วย และได้ปัญญาด้วย
คัมภีร์ธรรมบทอยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 25 คาถาที่อัญเชิญมานี้อยู่ในสหัสสวรรค อันเป็นวรรคที่ 8 ในคัมภีร์ธรรมบท มีข้อความดังต่อไปนี้ (คำแปลภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จากหนังสือ “พุทธวจนะในธรรมบท” โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก)
…………..
โย จ วสฺสสตํ ชีเว
ทุสฺสีโล อสมาหิโต
เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย
สีลวนฺตสฺส ฌายิโน ฯ
ผู้มีศีล มีสมาธิ
มีชีวิตอยู่วันเดียว
ประเสริฐกว่าชีวิตตั้งร้อยปี
ของคนทุศีล ไร้สมาธิ
Though one should live a hundred years,
Without conduct and concentration,
Yet, better is a single day’s life
Of one who is moral and meditative.
โย จ วสฺสสตํ ชีเว
ทุปฺปญฺโญ อสมาหิโต
เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย
ปญฺญวนฺตสฺส ฌายิโน ฯ
ผู้มีปัญญา มีสมาธิ
มีชีวิตอยู่วันเดียว
ประเสริฐกว่าชีวิตตั้งร้อยปี
ของผู้ทรามปัญญา ไร้สมาธิ
Though one shold live an hundred years,
Without wisdom and concentration,
Yet, better is a single day’s life
Of one who is wise and meditative.
โย จ วสฺสสตํ ชีเว
กุสีโต หีนวีริโย
เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย
วิริยํ อารภโต ทฬฺหํ ฯ
ผู้มีความเพียรมั่นคง
มีชีวิตอยู่วันเดียว
ประเสริฐกว่าชีวิตตั้งร้อยปี
ของผู้เกียจคร้าน ไร้ความเพียร
Though one should live a hundred years,
Sluggish and inactive
Yet, better is a single day’s life
Of one who intensely exerts himself.
โย จ วสฺสสตํ ชีเว
อปสฺสํ อุทยพฺพยํ
เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย
ปสฺสโต อุทยพฺพยํ ฯ
ผู้พิจารณาเห็นความเกิด-ดับแห่งสังขาร
มีชีวิตอยู่วันเดียว
ประเสริฐกว่าชีวิตตั้งร้อยปี
ของผู้ไม่พิจารณาเห็น
Better is a single day’s life of one
Who discerns the rise and fall of things
Than a hundred years’life of one
Who is not comprehending.
โย จ วสฺสสตํ ชีเว
อปสฺสํ อมตํ ปทํ
เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย
ปสฺสโต อมตํ ปทํ ฯ
ผู้พบทางอมตะ
มีชีวิตอยู่วันเดียว
ประเสริฐกว่าชีวิตตั้งร้อยปี
ของผู้ไม่พบ
Better is a single day’s life of one
Who sees the Deathless
Than a hundred years’s life of one
Who sees not that state.
โย จ วสฺสสตํ ชีเว
อปสฺสํ ธมฺมมุตฺตมํ
เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย
ปสฺสโต ธมฺมมุตฺตมํ ฯ
ผู้เห็นพระธรรมอันประเสริฐ
มีชีวิตอยู่วันเดียว
ประเสริฐกว่าชีวิตตั้งร้อยปี
ของผู้ไม่เห็น
Better is a single day’s life of one
Who understands the truth sublime
Than a hundred years’s life of one
Who knows not that truth, so high.
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ผู้เรียนธรรมเพียงบทเดียวแล้วนำไปปฏิบัติได้หมดจด
: ประเสริฐกว่าผู้เรียนธรรมจำได้ตั้งร้อยบท แต่ไม่ปฏิบัติ
#บาลีวันละคำ (3,751)
19-9-65
…………………………….
…………………………….